กุมภ

ก่อนหน้า

กุมภ วรรคที่เจ็ด

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งหม้อ เป็นไฉน?"

พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร หม้อเต็มเปี่ยมแล้วด้วยน้ำย่อมไม่ดัง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ถึงแล้วซึ่งบารมีในนิกายเป็นที่มาในธรรม อันบุคคลพึง บรรลุในปริยัติ ในสามัญคุณ ก็ไม่ทำเสียง และเพราะความถึงบารมีในคุณนั้น ก็ไม่ทำมานะ ไม่แสดงความเย่อหยิ่ง เป็นผู้มีมานะอันละแล้ว มีความเย่อหยิ่งอันละแล้ว เป็นผู้ตรง ไม่ปากกล้า ไม่อวดตัว ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ประการหนึ่งแห่งหม้อ.

แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ว่า:-
'ของใดพร่อง ของนั้นดัง, ของใดเต็ม ของนั้นเงียบ, คนพาลเปรียบด้วยหม้อเปล่า บัณฑิตดุจห้วงน้ำอันเปี่ยม' ดังนี้."

ร. ''พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งกาลักน้ำ เป็นไฉน?"

ถ. "ขอถวายพระพร กาลักน้ำบุคคลดูดดีแล้ว ย่อมดูดนํ้าออก ฉันใด, ใจของโยคาวจรผู้ประกอบความเพียร แอบแนบแล้วในโยนิโสนมสิการ ก็ย่อมนำโยคาวจรไป ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ต้นแห่งกาลักนํ้า.

อนึ่ง กาลักน้ำอันบุคคลดูดครั้งเดียว ย่อมไม่ดูดน้ำออก ฉันใด, ความเลื่อมใสอันใดได้เกิดขึ้นครั้งเดียว โดยนัยว่า 'พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบยิ่ง พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นตรัสดีแล้ว พระสงฆ์ปฏิบัติดีแล้ว' ฉะนี้ โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร. ไม่ควรยังความเลื่อมใสนั้นให้ออกไปเสียจากจิตสันดานอีก; และปรีชาญาณอันใด เกิดขึ้นแล้วครั้งเดียวโดยนัยว่า 'รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง' ฉะนี้ โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร อย่าให้ ปรีชาญาณนั้นออกไปเสียจากจิตลันดาน ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งกาลักนํ้า.

แม้'พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ว่า:-
'นรชนผู้ชำระสะอาดแล้วในญาณเครื่องเห็น เป็นผู้เที่ยงแล้วในอริยธรรม เป็นผู้ถือธรรมอันวิเศษ ย่อมไม่หวั่นไหวโดยส่วนมิใช่อันเดียว และนรชนนั้น ย่อมเป็นอย่างนั้นแหละ เพราะความเป็นหัวหน้าโดยประการทั้งปวง' ดังนี้."

ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งร่ม เป็นไฉน?"

ถ. "ขอถวายพระพร ร่มนั้นอยู่บนศีรษะ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ไปอยู่บนกระหม่อมแห่งกิเลสทั้งหลาย ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่แรกแห่งร่ม.

อนึ่ง ร่มเป็นของบำรุงศีรษะ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้บำรุงโยนิโสมนสิการ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งร่ม.

อนึ่ง ร่มย่อมบำบัดเสียซึ่งลม และแดด และฝน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องบำบัดเสียซึ่งลม คือความสำคัญ แดด คือไฟสามอย่าง และฝน คือกิเลส ของสมณพราหมณ์เป็นอันมาก ผู้มีความเห็นต่าง ๆ กัน ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งร่ม.

แม้พระธรรมเสนาบดีสารuบุตรเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
'ร่มดีไม่ทะลุประกอบมั่นคง ย่อมห้ามเสียซึ่งลม และแดด และห่าฝน ฉันใด, แม้พุทธบุตรก็ทรงร่ม คือ ศีลเป็นผู้สะอาด ห้ามเสียซึ่งฝนคือกิเลส และแดดคือไฟสามอยาง ฉันนั้น' ดังนี้."

ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งนา เป็นไฉน?"

ถ. "ขอถวายพระพร นาย่อมถึงพร้อมด้วยเหมือง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยเหมือง คือสุจริตและข้อปฏิบ้ติน้อยใหญ่ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่แรกแห่งนา.

อนึ่ง นาเป็นของถึงพร้อมแล้วด้วยคัน และรักษาน้ำไว้ด้วยคันนั้นยังธัญชาติให้สำเร็จ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคันนา คือ ศีลและความละอายบาป ถือเอาสามัญผลทั้งสี่ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งนา.

อนึ่ง นาเป็นของถึงพร้อมด้วยความเจริญงาม ยังความยินดีให้เกิดแก่ชาวนา, พืชที่เขาหว่านแม้น้อยก็มีผลมาก ที่เขาหว่านมากก็ยังมีผลมากกว่านั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ให้ผลอันไพบูลย์แก่ทายกทั้งหลาย ยังความยินดีให้เกิดแก่ทายกทั้งหลาย, ทานที่เขาให้น้อยก็มีผลมาก ที่เขาให้มากก็ยิ่งมีผลมากกว่านั้น ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งนา.

แม้พระอุบาลีเถระผู้วินัยธร ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
'ภิกษุพึงเป็นผู้เปรียบด้วยนา มีความหมั่นและให้ผลไพบูลย์; ผู้ใดให้ผลอันไพบูลย์ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นดุจนาอันเลิศ'
ดังนี้."

ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งยา เป็นไฉน?"

ถ. "ขอถวายพระพร กิมิชาติทั้งหลาย ย่อมไม่ตั้งอยู่พร้อมในยาฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่ให้กิเลสตั้งอยู่พร้อมในใจ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งยา.

อนึ่ง ยาย่อมกำจัดเสียซึ่งพิษ ที่สัตว์กัด ที่ถูกต้อง ที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ชิมทั้งปวง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องกำจัดเสียซึ่งพิษ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งยา.

แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ตรัสพุทธพจน์นี้ไว้ว่า:-
'ผู้ประกอบความเพียร ใคร่เพื่อจะเห็นซึ่งเนื้อความตามเป็นจริงแห่งสังขารทั้งหลาย พึงเป็นประหนึ่งว่ายา เพราะยังพิษคือกิเลสให้พินาศ. ดังนี้."

ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งโภชนะ เป็นไฉน?"

ถ. "ขอถวายพระพร โภชนะเป็นเครื่องอุปถัมภ์แห่งสัตว์ทั้งปวงฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้อุปถัมภ์มรรคาแห่งสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งโภชนะ.

อนึ่ง โภชนะยังกำลังของสัตว์ให้เจริญ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเจริญด้วยกำไร คือบุญ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งโภชนะ.

อนึ่ง โภชนะเป็นของที่สัตว์ทั้งปวงปรารถนา ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้อันโลกทั้งปวงปรารถนา ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งโภชนะ.

แม้พระโมฆราชเถระ ก็ได้ภาสิตคำนี้ได้ว่า:-
'ผู้ประกอบความเพียร พึงเป็นผู้อันโลกทั้งปวงปรารถนาด้วยความสำรวม ความกำหนดศีล ข้อปฏิบัติ' ดังนี้."

ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สี่ประการแห่งคนแผลงศร เป็นไฉน?"

ถ. "ขอถวายพระพร คนแผลงศรเมื่อจะแผลงศร ตั้งไว้ซึ่งเท้าทั้งสองให้มั่นที่แผ่นดิน, กระทำเข่าทั้งสองไม่ให้มีความเป็นของวิกล, ตั้งไว้ซึ่งสายแห่งศร ณ ที่ต่อ คือ สะเอว, กระทำการให้แข็งขึง ยกมือทั้งสองขึ้นยังที่แห่งที่ต่อ, ปีบเข้าซึ่งกำมือ, กระทำนิ้วทั้งหลายมิให้มีระหว่าง, ประคองคอไว้ หลิ่วตาทั้งสองและหุบปาก, เล็งให้ตรงที่หมาย, ยังความยินดีให้เกิดขึ้นว่า 'เราจักยิง' ฉะนี้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องตั้งไว้ซึ่งเท้าทั้งสอง คือ วิริยะ ณ แผ่นดิน คือ ศีล, กระทำความอดกลั้นและความเสงี่ยม ให้เป็นของไม่วิกล, ตั้งจิตไว้ในความสำรวม, นำตนเข้าไปในความระวังและความกำหนด บีบซึ่งความสยบด้วยความอิจฉาเข้า, กระทำจิตในโยนิโสมนสิการมิให้มีระหว่าง, ประคองไว้ซึ่งความเพียร, ปิดทวารทั้งหกเสีย, เข้าไปตั้งไว้ซึ่งสติ, ยังความยินดีให้เกิดขึ้นว่า 'เราจักยิงกิเลสทั้งหลายด้วยศร คือ ปรีชาญาณ' ฉะนี้ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์เป็นประถมแห่งคนแผลงศร."

อนึ่ง คนแผลงศรย่อมรักษาซึ่งไม้ตะเกียบ เพื่ออันดัดลูกศรซึ่งคดโกงไม่ตรงให้ตรง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องรักษาไว้ซึ่งตะเกียบ คือ สติเป็นที่ตั้งไว้ ทั่วกายนี้ เมื่ออันดัดจิตอันคดโกงไม่ตรงให้ตรง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งคนแผลงศร.

อนึ่ง คนแผลงศร ย่อมยิงไปเป้า ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยิงเข้าไปในกายนี้ คือ ยิงเข้าไปโดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา โดยความเป็นโรค โดยความเป็นดังหัวฝี โดยความเป็นดังลูกศร โดยความเป็นเครื่องลำบาก โดยความเป็นความป่วยเจ็บ โดยความเป็นสิ่งอื่น โดยความเป็นของทรุดโทรม โดยความเป็นเหตุร้าย โดยความเป็นอุปัททวะ โดยความเป็นภัย โดยความเป็นของขัดข้อง โดยความเป็นของหวั่นไหว โดยความเป็นของเบื่อยพัง โดยความเป็นของไม่ยั่งยืน โดยความเป็นของหาที่ป้องกันไม่ได้ โดยความเป็นของไม่มีที่หลีกเร้น โดยความเป็นของไม่มีวัตถุเป็นที่พึ่ง โดยความเป็นของไม่มีบุคคลเป็นที่พึ่ง โดยความเป็นของว่าง โดยความเป็นของสูญ โดยความเป็นโทษเป็นไปดังมนุษย์อันบุคคลพึงกรุณา โดยความเป็นของไม่มีแก่นสาร โดยความเป็นรากเง่าแห่งเครื่องลำบาก โดยความเป็นดังคนฆ่า โดยความเป็นของเป็นไปกับด้วยอาสวะ โดยความเป็นของที่ปัจจัยปรุงแต่ง โดยความเป็นของมีความเกิดเป็นธรรมดา โดยความเป็นของมีความแก่เป็นธรรมดา โดยความเป็นของมีเจ็บไข้เป็นธรรมดา โดยความเป็นของมีความตายเป็นธรรมดา โดยความเป็นของมีความแห้งใจเป็นธรรมดา โดยความเป็นของมีความรำพันเพ้อด้วยวาจาเป็นธรรมดา โดยความเป็นของมีความคับใจเป็นธรรมดา โดยความเป็นของมีเครื่องเศร้าหมองพร้อมเป็นธรรมดา, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ต้องยิงเข้าไปในกายนี้ อย่างนี้ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งคนแผลงศร.

อนึ่ง คนแผลงศร ย่อมหัดยิงทุกเวลาเย็นเช้า ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องหัดยิงเข้าไปในอารมณ์ทุกเวลาเย็นเช้า ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งคนแผลงศร.

แม้พระสารีบุตรเถระผู้ธรรมเสนาบดี ก็ได้กล่าวคำนี้ไว้ว่า:-
'ธรรมดาคนแผลงศร ย่อมหัดยิงทุกเวลาเย็นเช้า เมื่อไม่ทอดทิ้งซึ่งการหัดยิง ย่อมได้รางวัลและบำเหน็จเครื่องยินดี ฉันใด; พุทธบุตรก็กระทำซึ่งอันยิงเข้าไปในกาย เมื่อไม่ทอดทิ้งซึ่งอันเข้าไปยิงในกาย ย่อมบรรลุพระอรหัต ฉันนั้น' ดังนี้."

หมดฉบับนิทเทสแห่งบทมาติกาเพียงนี้ ไม่มีนิทเทสจนหมดบทมาติกาที่ตั้งไว้นั้น,

ต่อนี้ ดำเนินความตามเรื่องเป็นลำดับไปจนจบ

มิลินทปัญหา ซึ่งมาในคัมภีร์นี้สองร้อยหกสิบสองปัญหา เป็นไปในกัณฑ์หกกัณฑ์ ประดับด้วยวรรคยี่สิบวรรค. ก็แต่มิลินทปัญหาที่ยังไม่มาในคัมภีร์นี้อีกสี่สิบสองปัญหา รวมทั้งที่มาทั้งที่ไม่มาด้วยกันทั้งหมดเป็นสามร้อยกับสี่ปัญหา ถึงซึ่งอันนับว่ามิลินทปัญหาทั้งสิ้น ด้วยประการฉะนี้.

อ่านต่อ