การทำสมาธิ

การทำสมาธิ เป็นพื้นฐานเบื้องต้น ของการกระทำกิจกรรมการใดทั้งปวง หากทำสิ่งใดโดยขาดสมาธิ ย่อมประสบผลเสียไม่มากก็น้อย การทำสมาธิโดยปกติชีวิตประจำวัน คงไม่ต้องถึงกับต้องนั่งสมาธิก่อน ทำกิจกรรมต่างๆ แต่ควรฝึกการทำและมีสมาธิมาจากการนั่งก่อน เพื่อความคล่องแคล่วในสมาธิ จากนั้น จึงพัฒนาเป็นการเดินหรือเพ่งกสิณต่อไปเพื่อปฏิบัติที่ยิ่งกว่า เพียงนั่งสมาธิ จนสามารถควบคุมสมาธิ ได้คล่องบ้าง แม้ทำกิจกรรมใดย่อมสามารถรวบรวมสมาธิได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่เคยฝึก เป็นผลโดยตรง ของความเจริญก้าวหน้าในการงาน การดำรงชีวิต และการปฏิบัติธรรมะขั้นสูง

การฝึกสมาธิเบื้องต้น

หลังจากว่างภารกิจประจำวัน หรือหลังจากสวดมนต์ เรียบร้อยแล้วควรจะฝึกจิตให้สงบ เพื่อความผาสุก ของตัวเอง โดยการฝึกสมาธิกรรมฐานเพื่อจะได้มี ความเจริญ ความแข็งแรง อายุยืน ปราศจากโรคภัย อันตรายใดๆ ทั้งมวล การฝึกสมาธิไม่ใช่เรื่องยาก ใหม่ๆ จะรู้สึกลำบาก จิตไม่สงบ แต่เมื่อพยายามฝึกไปเรื่อยๆ วันละเล็กละน้อย ทุกๆ วัน นานๆ ไป สมาธิจะค่อยๆ เกิดขึ้นจิตก็จะสงบขึ้นเรื่อยๆ ความสงบสุขก็จะมีขึ้น กับผู้ปฎิบัติ จะได้รับ ความสุข กายสุขใจ หาทางดับทุกข์ที่เกิดกับใจได้อย่างไม่ยาก

 

เวลา - สถานที่

การเจริญสมาธิ ปฏิบัติพระกรรมฐานสามารถทำได้ ทุกโอกาสไม่ว่า จะอยู่ในอิริยาบถใดๆ จะ ยืน เดิน นั่ง นอน หรือทำการงานอย่างใดก็ตาม สถานที่ปฏิบัตินั้นก็ไม่จำกัด จะเป็นสถานที่ใดๆ ก็สามารถปฏิบัติ สมาธิกรรมฐานได้ แต่หาก เป็นสถานที่ สงบเงียบ ปราศจากการรบกวนจากสิ่งใดๆ แล้วจะทำให้จิตสงบ เป็นสมาธิได้รวดเร็วขึ้น

 

การเตรียมตัวเตรียมใจ

- จัดภารกิจหน้าที่การงานให้เสร็จเรียบร้อย เพื่อตัดความวิตกกังวล

- เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ควรจะหลวมสบาย ๆ ไม่คับหรือรัดแน่นจนอึดอัดเวลานั่ง

- สวดมนต์ตามแต่เราจะสวดได้มากน้อย ถ้าสวดไม่ได้ให้ทำสมาธิภาวนาเลย

การนั่งสมาธิ

- นั่งขัดสมาธิ โดยนั่งขาขวาทับขาซ้าย ถ้าเป็นหญิงจะพับเพียบก็ได้ ตามแต่จะถนัด หากไม่สามารถ นั่งขัดสมาธิ จะนั่งเก้าอี้แทนก็ได้

- เอามือขวาทับมือซ้าย นิ้วหัวแม่มือชนกัน หรือวางฝ่าทับฝ่ามือเฉย ๆ ก็ตามถนัด

- ตั้งกายตรง ๆ ตั้งหน้าตรง ๆ หลับตาเบา ๆ (หลับเปลือกตานอก ลืมตาใน)

 

คำกล่าวก่อนการนั่งสมาธิ

อิมาหัง ภันเต ภะคะวา อัตตะภาวัง ภะคะวะโต ปะริจจะชามิ ฯ

ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมะบูชา สังฆบูชา แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ฯ

 

คำอธิษฐานออกจากสมาธิ

ด้วยมหากุศล, ที่ข้าพเจ้าได้เจริญพระกรรมฐานมานี้, ขอจงเป็นพะละวะปัจจัย, เป็นอุปนิสัยตามส่ง, ให้ข้าพเจ้า เกิดปัญญาญาณ, ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า, ตลอดชาติอย่างยิ่ง, จะถึงความพ้นทุกข์, ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน, ในอนาคตกาลเบื้องหน้านั้นเทอญ.

เริ่มต้นทำสมาธิ

- ปล่อยวาง ความคิดนึก เรื่องราวต่างๆ ให้หมดไปจากใจ ทำสติจับความรู้สึก อยู่ที่กายอาการ สามสิบสอง ทำความรู้สึกนึกคิดเห็นตัวเราว่าขณะนี้นั่งอยู่อย่างไร

- เรานั่งขาขวาทับขาซ้าย ก็ทำความรู้ว่า เรานั่งขาขวาทับขาซ้าย

- เรานั่งหลังมือขวาทับฝ่ามือซ้าย ก็รู้ว่า เรานั่งหลังมือขวาทับฝ่ามือซ้าย

- เรานั่งตัวตรง ก็รู้ว่า เรานั่งตัวตรง เรานั่งหลับตา ก็รู้ว่า เรานั่งหลับตา

- นึกรู้ นึกเห็นตัวเราอยู่ตลอดเวลา

- น้อมนึกเห็นใบหน้าของเรา ว่ามีลักษณะอย่างไร นึกเห็นตั้งแต่ศีรษะ ตลอดลงมาปลายเท้า นึกเห็นรอบ ตัวเอง แล้วมาพิจารณาอยู่ที่ใบหน้า นึกเห็นคิ้ว เห็นตา เห็นหูทั้งสองข้าง นึกเห็นปาก เห็นคาง นึกเห็นปลายจมูก นึกเห็นรู้ ลมหายใจเข้า-ออก

- หายใจเข้า ก็นึกรู้ว่า เราหายใจเข้า หายใจออก ก็นึกรู้ว่า เราหายใจออก

- หายใจเข้าหรือออกยาว ก็รู้ว่า เราหายใจเข้าหรือออกยาว

- หายใจเข้าหรือออกสั้น ก็รู้ว่า เราหายใจเข้าหรือออกสั้น

- ทำความรู้สึก เท่าทันลมหายใจเข้า-ออก

- ทุกลมหายใจเข้า-ออก ทำความรู้สึกอยู่ที่ปลายจมูก นึกเห็นใบหน้าเรา นึกเห็นอยู่ที่ปลายจมูก ทุกขณะ ลมหายใจ เข้า-ออก กำหนดความรู้สึกอยู่ที่สองช่องจมูก หายใจเข้านึกว่า "พุท" หายใจ ออกนึกว่า "โธ" จนรู้อยู่แต่ "พุท-โธ" ทุกลมหายใจเข้า-ออก นึกเห็นแต่ปลายจมูกสว่างเสมอไป

- ระยะแรกนั้น การปฏิบัติพึงกำหนด ลมหายใจเข้า-ออกยาว ๆ เพราะสติยังอ่อนอยู่

- ขณะที่นั่งอยู่นั้น กายสงบ ก็ทำความรู้ว่า "กายสงบ" ใจสงบ ก็ทำความรู้ว่า "ใจสงบ" สงบอยู่ อย่างใด อย่างหนึ่ง ก็ทำความรู้ตลอดเวลา สุขเกิดก็รู้ ทุกข์เกิดก็รู้ ไม่สุขไม่ทุกข์เกิดก็รู้

- ทำความรู้ทั้งกายใจอยู่อย่างนี้ บางครั้งทุกข์กายแต่สุขใจก็มี

- คิดดีก็รู้ รู้แล้วเฉย คิดชั่วก็รู้ รู้แล้วเฉย อะไรทุกอย่างที่เกิดขึ้นทุกอย่าง ทำความเฉยให้เกิดขึ้น ตลอดเวลา ทำเฉยๆ ให้มากเท่าไรยิ่งดี จิตจะได้ตั้งมั่นได้เร็ว

- อยู่นานๆ เข้า จิตก็เกิดสมาธิแนบแน่น จนกายเบาจิตเบา หากพลั้งเผลอไป ก็ดึงสติกลับมา ตั้งไว้จุดเดิม ปฏิบัติ เช่นนี้จนเป็นนิสัย ลมหายใจก็จะละเอียดประณีต กายก็เบา ใจก็สบาย

- ในช่วงนี้หากคำภาวนา "พุท-โธ" ได้ละไปแล้วก็ให้พิจารณาลมหายใจ เข้า-ออกเพียงอย่างเดียว (คำ "พุท-โธ" จะหยุดรำลึกไปเอง โดยธรรมชาติอย่าหวนคำรำลึก หรือทวนความรู้สึกใดๆ ขึ้นอีก)

- เมื่อกระแสกลมกลืนกันดีแล้ว จิตจะนิ่งเป็นอิสระ เป็นสุข และเกิดปัญญา รู้เอง เห็นเอง สัมผัสได้ ด้วยจิตเอง

หมายเหตุ :

การปฏิบัตินั่งสมาธิ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเคร่งเครียด เอาจริงเอาจังจนเกินไป หรืออ่อนเกินไป ควรทำใจ ให้สบายๆ ปฏิบัติสม่ำเสมอ จะเวลา เช้า เย็น หรือค่ำ สุดแต่ความสะดวกของตนเอง ใช้ เวลาฝึก วันแรก เพียง ๑๐ - ๑๕ นาที วันต่อๆ ไปเพิ่มขึ้นเป็นวันละ ๒๐ - ๓๐ นาที จนถึงวันละ ๑ ชั่วโมง เป็นประจำทุกวัน

ขณะปฏิบัติ อย่ามุ่งจิตคิดแต่จะเห็นนิมิต เพราะอาจจะทำให้ตัวของเราสร้างจินตนาการไปเอง และ ปฏิบัติ ควรปฏิบัติทุกวัน อย่างน้อยวันละครั้งอย่าได้ขาด ครั้งละจะนานเท่าใดก็ได้ขอให้จิตสงบ แต่หากว่าในคราวใด ปฏิบัติไปแล้วจิตก็ยังไม่สงบ อย่ากังวลอย่าท้อใจ จงปฏิบัติเรื่อยๆ ทุกวันก็จะ สมเจตนาเอง

วิธีการออกจากสมาธิ

ก่อนจะเลิกนั่งสมาธิ ให้มาพิจารณากายใจของเรา ตั้งแต่เบื้องบนคือปลายผม สุดเบื้องล่างคือ ปลายเท้า จากเบื้อง ล่างคือปลายเทำให้ถึงเบื้องบนคือปลายผม พิจารณารู้รอบตัวเอง ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ด้วยการออก จากสมาธิ ให้จิตของเราพิจารณารูปตัวเองทั้งกายภายนอกภายใน

รู้ทั่วพร้อมแล้วค่อยๆ เคลื่อนมือขวามาวางที่หัวเข่าด้านขวา เคลื่อนมือซ้ายมาวางที่หัวเข่าด้านซ้าย แล้วค่อยๆ ยกมือขวาขึ้นมาระหว่างอก จากนั้นยกมือซ้ายขึ้นมาพนมมือแบบบัวตูม

แผ่เมตตาไม่มีประมาณ ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายตลอดจนเจ้ากรรมนายเวร ทั้งในอดีตชาติหรือชาติปัจจุบัน พร้อมทั้งตั้งจิตขออโหสิกรรม อย่าได้เบียดเบียนและจองเวรต่อกันเลย และตั้งสัจอธิษฐานทำจิตใจ ตั้งมั่นอยู่ ในคุณความดี ที่เราจะประพฤติปฏิบัติธรรมะให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

ตั้งอธิษฐานจิตของเราทุกครั้งเมื่อจะออกจากสมาธิ

ประโยชน์ของการฝึกสมาธิ

๑. ถ้าเป็นนักเรียน นักศึกษา ก็สามารถเรียนหนังสือได้ผลดีเพิ่มขึ้น เพราะมีจิตใจสงบ

๒. ทำกิจการงานสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น ไม่ค่อยผิดพลาดเพราะมีสติ สมบูรณ์ขึ้น

๓. สามารถทำงานได้มากขึ้น และได้ผลดีมีประสิทธิภาพ

๔. ทำให้โรคภัยไข้เจ็บบางอย่างหายไปได้

๕. ทำให้เป็นคนมีอารมณ์เยือกเย็น มีความสุขใจได้มาก ผิวพรรณผ่องใส มีจิตใจเบิกบาน

๖. ทำให้อยู่ในสังคมอย่างปกติสุข

๗. สามารถเผชิญต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างใจเย็น รวมทั้งสามารถแก้ไข ความยุ่งยาก วุ่นวาย ในชีวิตด้วยวิธีที่ถูกต้อง

๘. สามารถกำจัดนิวรณ์ที่รบกวนจิตใจลงได้ หรือทำให้เบาบางลง

๙. ถ้าทำได้ถึงขั้นสูง ก็จะได้รับความสุขอันเลิศยิ่ง และสามารถได้อำนาจจิตพิเศษ เช่นรู้ใจคนอื่นเป็นต้น

๑๐. ทำให้เป็นพื้นฐาน โดยตรงในการเจริญวิปัสสนา