1. การเริ่มต้นทำ e - Commerce

e-Commerce หรือ เรียกกันโดยทั่วไปว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือการทำธุรกิจทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในเชิงพาณิชย์ ทั้งในระดับองค์กรและส่วนบุคคล บนพื้นฐานของการประมวล และการส่งข้อมูลดิจิทัล ในรูปแบบของ ข้อความ เสียงและภาพ รวมถึงการขายสินค้าและบริการด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือการขนส่งผลิตภัณฑ์ที่เป็นเนื้อหาข้อมูลแบบดิจิทัลในระบบอินเทอร์เน็ต หรือระบบออนไลน์ เช่น การโอนเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ การซื้อขายหุ้นทางอิเล็กทรอนิกส์ การประมูลสินค้าออนไลน์ และการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ การให้บริการหลังการขาย เป็นต้น

ตารางที่ 1 ประโยชน์ของ e-Commerce

ประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ หรือผู้ขายประโยชน์ต่อผู้บริโภค หรือผู้ซื้อ
  • • เป็นการสร้างและเพิ่มช่องทางการขายและจัดจำหน่ายมากขึ้น จากตลาดภายในพื้นที่ สู่ตลาดโลกได้อย่างง่ายดาย
  • • เปิดบริการให้บริการ ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ไม่มีวันปิด
  • • ลดค่าใช้จ่ายและต้นทุน ในการบริหารและจัดการได้อย่างมหาศาล ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนราคาสินค้า เพื่อทำการแข่งขันได้ดีขึ้น
  • • สร้างโอกาสให้เกิดการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่มากมาย
  • • เป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้โดยตรง และมีประสิทธิภาพ
  • • เพิ่มความสัมพันธ์กับลูกค้าให้ดีขึ้น
  • • การให้บริการหลังการขาย ให้คำปรึกษาเรื่องผลิตภัณฑ์ หรือการแก้ไขเบื้องต้นอย่างรวดเร็ว
  • • ช่วยทำการวิจัยทางการตลาด และการพัฒนาสินค้าได้อย่างรวดเร็ว และประหยัด
  • • เลือกซื้อสินค้าได้ในราคาถูกกว่าทั่วไป
  • • เลือกซื้อสินค้าและบริการได้จากร้านค้าต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลก
  • • มีโอกาสเลือก และสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าได้มากขึ้น
  • • ประหยัดเวลา ไม่ต้องเดินทางไปซื้อสินค้าถึงที่
  • • สามารถรับสินค้าได้ทันที (หากเป็นสินค้าประเภทสื่อดิจิตอล เช่น เพลง โปรแกรม และไม่มีค่าขนส่ง)
  • • สามารถดูข้อมูลสินค้าได้ละเอียดมากขึ้น จากแหล่งข้อมูลต่างๆทั่วโลก
  • • ได้รับความสะดวกในการจัดส่ง เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่จัดส่งถึงบ้าน

ปัจจุบันนั้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ได้ขยายตัวออกไปกันอย่างแพร่หลาย จากข้อมูลสถิติจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกจากตารางที่ 2 จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันนั้นจำนวนผู้ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และยังมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลก่อให้เกิดการเติบโตของการค้า สินค้าและบริการด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างกว้างขวาง ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจจึงควรตื่นตัว มีการศึกษาและเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสังคมสารสนเทศในปัจจุบัน

ตารางที่ 2

ขั้นตอนของการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce)
โดยทั่วไปจะมีขั้นตอนทั้งสิ้น 6 ขั้นตอน คือ

1. ความรู้ - ความเข้าใจ

วัตถุประสงค์ของการใช้งานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้น มีให้เลือกมากมายหลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการ และรูปแบบในการจัดทำของแต่ละเว็บไซต์ของผู้ประกอบการ ว่าจะมีรูปแบบเป็นอย่างไร ในเบื้องต้นผู้ประกอบการจึงควรศึกษาความรู้เกี่ยวกับรูปแบบเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบต่างๆ เพื่อนำไปสู่การวางแผนการดำเนินการในขั้นต่อไป ซึ่งรูปแบบและการใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่สำคัญ ประกอบด้วย

1.1 เว็บไซต์แคตตาล็อกสินค้าออนไลน์ (Online Catalog Web Site)

เว็บไซต์แคตตาล็อกสินค้าออนไลน์ (Online Catalog Web Site) เป็นรูปแบบจัดทำเว็บไซต์ e-Commerce ในรูปแบบของแคตตาล็อกออนไลน์ ที่มีรูปภาพ และรายละเอียดสินค้า พร้อมที่อยู่เบอร์โทรติดต่อ หากแต่ไม่มีระบบการชำระเงินผ่านทางเว็บไซต์ หรือระบบตะกร้าสินค้า (Shopping Cart) โดย หากผู้สนใจสินค้าก็เพียงโทรสอบถามและสั่งซื้อสินค้าได้ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์เว็บไซต์เหมือนโบรชัวร์ หรือแคตตาล๊อกออนไลน์ (e-Brochure) เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้ามาเลือกดูรายละเอียดสินค้าและราคา ได้จากทั่วประเทศหรือทั่วโลก ผ่านทางเว็บไซต์

1.2 ร้านค้าออนไลน์ (E-Tailer Web Site)

เว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ (E-Tailer Web Site) เป็นรูปแบบเว็บไซต์ e-Commerce ที่มีทั้ง ระบบการจัดการสินค้า ระบบตะกร้าสินค้า (Shopping Cart) ระบบการชำระเงิน รวมถึงการขนส่งสินค้า ครบสมบูรณ์แบบ ทำให้ผู้ซื้อสามารถสั่งซื้อสินค้าและทำการชำระเงินผ่านเว็บไซต์ ได้ทันที

1.3 การประมูลสินค้า (Auction)

เว็บไซต์การประมูลสินค้า (Auction) รูปแบบเว็บไซต์ e-Commerce ที่มีการนำสินค้าไปประมูลขายกัน โดยจะเป็นการแข่งขันกันในการเสนอราคาสินค้า หากผู้ใดเสนอราคาสินค้าได้สูงสุดในช่วงเวลาที่กำหนด ก็จะชนะการประมูลและสามารถซื้อสินค้าชิ้นนั้นไปได้ด้วยราคาที่ได้กำหนดไว้ ส่วนใหญ่สินค้าที่นำมาประมูลหากเป็นสินค้าใหม่ ราคาจากการประมูลสินค้ามักจะมีราคาตํ่ากว่าราคาตลาดทั่วไป ยกเว้นสินค้าบางประเภท เช่น ของเก่า หรือของสะสมต่างๆ เป็นต้น

1.4 การประกาศซื้อ - ขาย (e-Classified)

เว็บไซต์การประกาศซื้อ-ขาย (e-Classified) เป็นรูปแบบเว็บไซต์ e-Commerce ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจประกาศความต้องการ ซื้อ-ขาย สินค้าของตนได้ภายในเว็บไซต์ โดยเว็บไซต์จะทำหน้าที่เหมือนกระดานข่าว และตัวกลางในการแสดงข้อมูลสินค้าต่างๆ และหากมีคนสนใจซื้อสินค้าที่ประกาศไว้ ก็จะสามารถติดต่อตรงไปยังผู้ที่ประกาศขายได้ทันทีจากข้อมูลที่ประกาศอยู่ภายในเว็บไซต์ ทั้งนี้เว็บไซต์ส่วนใหญ่จะมีการแบ่งหมวดหมู่ของประเภทสินค้าเอาไว้ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าไปเลือกซื้อ หรือขายสินค้าในเว็บไซต์

1.5 ตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Marketplace)

เว็บไซต์ตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Marketplace) เป็นรูปแบบเว็บไซต์ e-Commerce ที่เป็นเสมือนตลาดนัดขนาดใหญ่ ซึ่งภายในเว็บไซต์จะมีการรวบรวมเว็บไซต์ของร้านค้า และบริษัทต่างๆ มากมาย โดยมีการแบ่งหมวดหมู่ของสินค้าเอาไว้ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปดูสินค้าภายในร้านค้าต่างๆภายในตลาดได้อย่างง่ายดายและสะดวก โดยรูปแบบของตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์บางแห่ง มีการแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบตามลักษณะของสินค้าที่มีอยู่ภายในตลาดแห่งนั้น เช่น ตัวอย่างเว็บไซต์ตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับสินค้าทั่วไป คือ www.dbdmart.com และ www.TARAD.com ตัวอย่างเว็บไซต์ตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับสินค้าประเภทอาหาร คือ www.FoodMarketExchange.com และตัวอย่างเว็บไซต์ตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ของสินค้า OTOP คือ www.thaitambon.com เป็นต้น

2. สินค้า - บริการ ที่ขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต

เมื่อผู้ประกอบการมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากรูปแบบเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆแล้ว ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทราบถึงคุณลักษณะต่างๆของสินค้าที่จะนำมาซื้อขายผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ตด้วย โดยทั่วไปนั้น เราสามารถแบ่งสินค้าที่ทำการซื้อขายผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ตออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่

2.1 สินค้าดิจิทัล (Digital Goods)

สินค้าดิจิทัล คือ สินค้าที่มีลักษณะเป็นสื่อดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นไฟล์ และสามารถส่งผ่านช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น เพลง ภาพยนตร์ รูปภาพ เป็นต้น

2.2 สินค้าจับต้องไค้ (Physical Goods)

สินค้าจับต้องได้ (Physical Goods) คือ สินค้าที่มีลักษณะทางกายภาพ หรือตัวตนที่สามารถจับต้องได้ หรือมีน้ำหนัก เช่น หนังสือ ดอกไม้ รองเท้า เสื้อผ้า เป็นต้น สินค้าประเภทนี้ เมื่อลูกค้าทำการเลือกซื้อสินค้าแล้ว ผู้ขายจะต้องทำการส่งสินค้าผ่านช่องทางการขนส่งต่างๆ เพื่อให้สินค้านั้นๆ ไปให้ถึงมือลูกค้า

2.3 บริการ (Service)

บริการ (Service) คือ การให้บริการในรูปแบบต่างๆ โดยการให้บริการบางอย่างสามารถให้บริการผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือทางเว็บไซต์ได้ เช่น บริการลงประกาศรูปภาพ หรือบริการค้นหาข้อมูลสินค้า เป็นต้น

3. การเริ่มต้นทำเว็บไซต์

ในการเริ่มต้นทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ วิธีการค้าขายทางออนไลน์และประเภทของสินค้าแล้ว ในการดำเนินการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตนั้น หลักการดำเนินธุรกิจก็เป็นเหมือนกรณีการทำธุรกิจทั่วๆไป คือ ต้องวิเคราะห์ต้นทุนค่าใช้จ่าย และวิธีการพัฒนาเว็บไซต์ด้วย เพื่อใช้วางแผนการดำเนินการด้วย ดังนี้

3.1 ค่าใช้จ่ายในการพัฒนา e-Commerce

ในการพัฒนา e-Commerce การที่จะเลือกเทคโนโลยีมาใช้นั้น มีตั้งแต่ที่ไม่มีความซับซ้อน ไปจนถึงระบบที่มีความซับซ้อนที่มีองค์ประกอบต่างๆจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีค่าใช้จ่ายต่างกันไปด้วย ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเว็บไซต์นั้น จะประกอบด้วยค่าใช้จ่ายหลักๆ คือ

• ค่าพัฒนาเว็บไซต์ ค่าออกแบบ และจัดทำเว็บไซต์

• ค่าจดทะเบียนชื่อโดเมนเนม (Domain Name)

• ค่าเช่าพื้นที่เก็บข้อมูลเว็บไซต์ ซึ่งค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่

• ค่าเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ตผ่าน Internet Service Provider

• ค่าธรรมเนียมธนาคาร เช่น ค่าโอนเงิน ค่าตัดบัตรเครดิต เป็นต้น

• ค่าประชาสัมพันธ์ เช่น ค่าเช่าป้ายโฆษณาอิเล็กทรอนิกส์ (Banner) ค่าลงโฆษณาในนิตยสารต่างๆ เป็นต้น

3.2 การเริ่มจัดทำเว็บไซต์

ในการเริ่มต้นทำเว็บไซต์นั้น วิธีการพัฒนาเว็บไซต์มีหลายวิธี ซึ่งผู้ที่จะพัฒนาเว็บไซต์ต้องพิจารณาแนวทาง และวิธีการในการพัฒนาเว็บไซต์และซอฟต์แวร์ต่างๆในปัจจุบัน เพื่อวางแผนในการพัฒนาเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของตนขึ้นอย่างเหมาะสมได้อย่างไร คือ

การเลือกวิธีการพัฒนาเว็บไซต์ ซึ่งมีวิธีการพัฒนาหลายแนวทาง ที่สำคัญได้แก่

๐ พัฒนาด้วยตัวเอง

๐ จ้างผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนา

๐ ใช้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูป ตัวอย่างเช่น www.TARADquickweb.com และ www.DBDmart.com เป็นต้น

การเลือกซอฟต์แวร์สำหรับทำเว็บไซต์ ประเภทเครื่องมือและซอฟต์แวร์ในการทำเว็บไซต์สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทที่สำคัญ ได้แก่

๐ ซอฟต์แวร์ด้านการตกแต่งภาพ เช่น Adobe Photoshop, PaintShop เป็นต้น

๐ ซอฟต์แวร์การทำเว็บไซต์ เช่น DreamWeaver, Microsoft Frontpage เป็นต้น

3.3 วิธีการชำระเงินของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

การชำระเงินในการทำธุรกรรมทางการค้า ทั้งการซื้อและขายสินค้าผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ตนั้น มีหลายวิธีและหลายช่องทางด้วยกัน ซึ่งการที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะเลือกใช้วิธีการชำระเงิน หรือเลือกใช้ช่องทางการชำระเงินใดในการซื้อหรือขายสินค้าในแต่ละประเภท ขึ้นอยู่กับความต้องการและความเหมาะสมของผู้ขายและผู้ซื้อนั้นเอง สำหรับช่องทางต่างๆ การชำระเงินค่าสินค้าและบริการผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ตในปัจจุบันที่สำคัญ ได้แก่

• ระบบโอนเงินผ่านที่ทำการไปรษณีย์

• โอนผ่านทางธนาคาร

• บัตรเครดิต

• ชำระผ่านผู้ให้บริการรับชำระเงิน

• ระบบการชำระเงินแบบผ่านโทรศัพท์ (Mobile Payment)

3.4 การขนส่งสินค้า

เนื่องจากสินค้าที่ซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต จะประกอบด้วย สินค้าที่จับต้องได้ (Tangible Goods) และสินค้าที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Goods) ดังนั้นการขนส่งสินค้าให้กับลูกค้าที่ซื้อขายสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ต สามารถเลือกส่งได้หลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีก็จะมีความเหมาะสมกับสินค้าและบริการ รวมทั้งกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันออกไป สำหรับวิธีการขนส่งสินค้าและบริการที่ต้องมีการขนส่ง หรือสินค้าที่จับต้องได้ ให้กับลูกค้าที่นิยมใช้ในปัจจุบันที่สำคัญ ได้แก่

• การส่งโดยพนักงานส่งสินค้า

• การส่งทางไปรษณีย์ไทย (www.thailandpost.com)

• การใช้บริการของบริษัทขนส่งเอกชน

4. การตลาดออนไลน์

รูปแบบของการตลาดออนไลน์ที่นิยมใช้ในปัจจุบันนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ ซึ่งการเลือกใช้ การตลาดออนไลน์ในรูปแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการและเหมาะสมในการนำไปใช้ของผู้ประกอบการเป็นหลัก โดยรูปแบบของการตลาดออนไลน์ที่สำคัญ คือ

• การทำการตลาดผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้น (Search Engine) เป็นวิธีที่สามารถทำให้คนทั่วโลก รู้จักเว็บไซต์ของผู้ที่ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยการทำให้เว็บไซต์นั้นมีรายชื่ออยู่ใน Search Engine เมื่อมีผู้ค้นหา “คำ” หรือ Keyword ที่ตรงกับสินค้าหรือบริการภายในเว็บไซต์

• การโปรโมทเว็บไซต์ผ่านแบนเนอร์ เป็นการเลือกใช้แถบโฆษณาในการโปรโมทและโฆษณาโดยเลือกลงโฆษณาในเว็บไซต์ที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย

• การโปรโมทเว็บไซต์ของผู้ที่ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ผ่าน e-mail เป็นการส่ง e-mail หาลูกค้า เพื่อทำให้ลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายให้รู้จักโฆษณาสินค้าและเว็บไซต์ของผู้ที่ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

5. การวัดผล

การประเมินผลการดำเนินการ ถือเป็นสิ่งสำคัญในการชี้วัดผลการดำเนินงานของธุรกิจ ว่าประสบความสำเร็จในการดำเนินการอย่างไร ในการประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หลักเกณฑ์ของการประเมินผลการดำเนินการก็มีลักษณะเหมือนกับกรณีการทำธุรกิจทั่วๆไป การประเมินผลการดำเนินงานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้น สามารถประเมินได้จากตัวชี้วัดต่างๆที่สำคัญ เช่น

• จำนวนผู้เข้าเว็บไซต์ (ชั่วโมง วัน เดือน ปี)

• แหล่งที่มาของผู้ที่เข้าเว็บไซต์ ว่ามาจากแหล่งใด (ประเทศ เว็บไซต์ หรือ Search Engine)

• การเข้าเว็บไซต์ด้วยอะไร (บราวเซอร์ ขนาดหน้าจอ หรือ Operating System (OS))

• การวิเคราะห์ข้อมูลในเบื้องต้นเป็น ตาราง กราฟ และวิเคราะห์เชิงลึก

6. การลงมือทำ

การพัฒนาเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ดังที่กล่าวมาในเบื้องต้นนั้น จะเห็นได้ว่าวิธีการจัดทำและพัฒนาเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) นั้นมีหลายวิธี อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ประกอบการสามารถจัดทำและพัฒนาเว็บไซต์ได้แล้ว ในการพัฒนาและดูแลเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้นนั้นถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการเช่นกัน ในการลงมือทำ พัฒนาและดูแลเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้น ผู้ประกอบการอาจจะดำเนินงานได้หลายลักษณะ เช่น

• การพัฒนาและดูแลเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้นเอง หากผู้ประกอบการนั้นมีความรู้ ความเข้าใจ และมีความสามารถในการดูแล และพัฒนาเว็บไซต์ได้

• การจัดจ้างผู้อื่นในการพัฒนาและดูแลเว็บไซต์ ตัวอย่างเช่น การจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญ หรือบริษัทที่พัฒนาและดูแลเว็บไซต์ที่เป็นอาชีพ หรือผู้พัฒนาและดูแลเว็บไซต์อิสระต่างๆ เป็นผู้พัฒนาและดูแลเว็บไซต์

• การให้ผู้ที่ใกล้ชิด เช่น ลูก หลาน หรือญาติ เป็นผู้พัฒนาและดูแลเว็บไซต์ ตัวอย่างเช่น หากผู้ประกอบการไม่มีความสามารถในการดูแลและพัฒนาเว็บไซต์ได้ และหากไม่ได้ดำเนินการจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาและดูแลผู้ประกอบการแทนแล้ว อาจจะให้ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ประกอบการเป็นผู้ดูแลและพัฒนาเว็บไซต์แทนได้หากมีความสามารถ

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ การทำธุรกรรมทุกรูปแบบ โดยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในทุกๆช่องทาง โดยเฉพาะเครือข่ายทางอินเทอร์เน็ต ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ในการซื้อขายสินค้าและบริการ รวมถึงเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการที่มีอยู่ให้ เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ในการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องพิจารณา และคำนึงถึงรูปแบบเว็บไซต์ว่ามีความเหมาะสมกับสินค้าหรือบริการ หรือรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ และผู้ใช้บริการมากน้อยเพียงใด ซึ่งการดำเนินการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายประการประกอบเข้าด้วยกัน

2. การโฆษณาออนไลน์ (Online Advertising) next