7. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

(Laws Related to Electronic Commerce)

ในการประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้นมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ในหลายขั้นตอนของการประกอบการ เพื่อเป็นการง่ายในการสร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ จะแบ่งการอธิบายออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (Laws Related to Electronic Marketing)

2. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Laws Related to Electronic Transaction)

1. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตลาดอิเล็กทรอนิกส์

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตลาดอิเล็กทรอนิกส์นี้หมายถึง กฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวกลาง ระหว่างผู้ประกอบการกับลูกค้า หรือกลุ่มผู้บริโภคซึ่งเป็นเป้าหมาย อนึ่งการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดนี้ หมายความเฉพาะกิจกรรมการจัดจำหน่ายสินค้าหรือบริการเท่านั้น ส่วนการผลิต การกำหนดราคาขาย ตลอดจนความรับผิดชอบหลังการขาย ซึ่งจะมีกฎหมายเข้าไปเกี่ยวข้องอีกมากมายหลายฉบับ เป็นกระบวนการที่แยกต่างหากออกจากการตลาด และเนื้อหาส่วนนี้จะไม่ครอบคลุมถึงเรื่องดังกล่าว

ในการทำการตลาดทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีกฎหมายที่ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะต้องคำนึงถึง 8 แขนง ดังนี้ :

1.1 การตั้งชื่อโดเมนเนม (Domain Name)

เนื่องจากการติดต่อสื่อสารกันในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้ระบบโดเมน หรือ ดีเอ็นเอส (DNS-Domain Name System) เข้ามาเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์ การตั้งชื่อโดเมนเนมเพื่อดึงดูดใจให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซด์ของกิจการจึงเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นต้องอาศัยการใช้กลยุทธ์หลายประการ อย่างไรก็ตามการตั้งชื่อโดเมนเนมนี้มีข้อพึงระวังในทางกฎหมายว่า การตั้งชื่อโดเมนเนมของกิจการนั้นจะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ในลักษณะที่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งจะนำไปสู่การถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและเพิกถอนการใช้ชื่อได้ ตัวอย่างของการตั้งชื่อโดเมนเนมที่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น มีดังนี้

ก. การใช้ชื่อของบุคคลอื่นซึ่งมีชื่อเสียง เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา นาย Russell Boyd ได้ยื่นขอจดทะเบียนโดเมนเนมว่า “juliarobert.com” ซึ่งชื่อดังกล่าวเป็นชื่อของดาราภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงของประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากผู้ยื่นขอจดทะเบียนไมได้มีความเกี่ยวพันแต่ประการใดกับดาราภาพยนตร์ผู้นี้ การใช้ชื่อดังกล่าวจึงถือเป็นการใช้สิทธิโดยไมสุจริต และก่อให้เกิดความสับสนหลงผิดตลอดจนเสียหายแก่ บุคคลเจ้าของชื่อที่แท้จริง

ข. การใช้ชื่อทางการค้า (Tradename) หรือใช้เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลาย (Wellknown Mark) ของผู้อื่น โดยหวังประโยชน์ในทางการค้าจากชื่อเหล่านั้น

เช่น ในประเทศสหราชอาณาจักร นาย Michael Lawrie ได้ขอจดทะเบียนโดเมนเนมว่า “Harrods.com” ซึ่งเป็นการใช้ชื่อทางการค้าของห้างสรรพสินค้าแฮร์ร็อดส์ ที่มีชื่อเสียงของประเทศสหราชอาณาจักรมาใช้ประโยชน์โดยมิชอบ

เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา นาย Joshua Quittner ได้ยื่นขอจดทะเบียนชื่อโดเมนเนมว่า “Mcdonald.com” ซึ่งเป็นการอาศัยเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายของบริษัทแมคโดนัลด์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงในการขายแฮมเบอร์เกอร์จึงเป็นการอาศัยประโยชน์โดยไม่ชอบ

1.2 การจดทะเบียนพาณิชย์

การซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต บริการอินเทอร์เน็ตให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือเป็นพาณิชยกิจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ประกาศให้ผู้ที่ประกอบพาณิชยกิจจะต้องมาจดทะเบียนพาณิชย์ (พระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 มาตรา 8)

ดังนั้นผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จึงจะต้องมายื่นคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ตาม แบบ ทพ โดยมีรายละเอียดดังนี้ (มาตรา 12)


• ชื่อ อายุ เชื้อชาติ สัญชาติ และตำบลที่อยู่ของผู้ประกอบพาณิชยกิจ
• ชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจ
• ชนิดแห่งพาณิชยกิจ
• จำนวนเงินทุนที่นำมาใช้ในการประกอบพาณิชยกิจเป็นประจำ
• ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ สาขา โรงเก็บสินค้า และตัวแทนค้าต่าง
• ชื่อ อายุ เชื้อชาติ สัญชาติ ตำบลที่อยู่ และจำนวนทุนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วน และจำนวนเงินทุนของห้างหุ้นส่วน
• จำนวนเงินทุน จำนวนหุ้น และมูลค่าหุ้นของบริษัทจำกัด จำนวนและมูลค่าหุ้นที่บุคคลแต่ละสัญชาติถืออยู่
• วันที่เริ่มต้นประกอบพาณิชยกิจในประเทศไทย
• วันขอจดทะเบียนพาณิชย์
• ชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจ ชื่อสัญชาติ และตำบลที่อยู่ของผู้โอนพาณิชยกิจให้ วันที่และเหตุที่ได้รับโอน
• เอกสารประกอบ คือ รายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์ (เว็บไซต์ละ 1 แผ่น)

ทั้งนี้ผู้ประกอบการจะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เริ่มประกอบพาณิชยกิจนั้น (มาตรา 11) พร้อมชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนพาณิชย์เป็นเงิน 50 บาท ส่วนสถานที่จดทะเบียนนั้น หากผู้ประกอบการมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อสำนักงานเขต ส่วนผู้ประกอบการที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในต่างจังหวัด ให้ยื่นคำขอต่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นๆ หรือเมืองพัทยา แล้วแต่กรณี (มาตรา 10)

หลังจากที่ได้จดทะเบียนพาณิชย์แล้ว กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (REGISTERED) ให้แค่ผู้ประกอบการ เพื่อให้นำไปแสดงไว้บนเว็บไซต์ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แค่ผู้บริโภคในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่จดทะเบียนแล้วสามารถยื่นขอใช้เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ (Trustmark) จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ โดยเครื่องหมายนี้จะออกให้แก่เว็บไซต์ที่มีคุณภาพ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมกำหนดเท่านั้น (สำหรับรายละเอียดโปรดดูจาก www.trustmarkthai.com)

เนื่องจากการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภค ซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทาง และมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับมาเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจนั้น จึงอยู่ภายใต้นิยามคำว่า “ตลาดแบบตรง” ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายฉบับนี้ ดังต่อไปนี้ด้วย

ก. ผู้ประกอบการจะต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง (มาตรา 27)

ตามมาตรา 38 นั้น ผู้ประสงค์จะประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงจะต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียน คือเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ณ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก่อน จึงจะทำการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงได้ โดยให้ยื่นคำขอ ขต 2 พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบ

คำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง จะต้องมีรายการดังนี้ คือ (มาตรา 32)


• ชื่อของผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง
• ภูมิสำเนาของผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง
• ประเภทหรือชนิดของสินค้าหรือบริการ
• วิธีการขายสินค้าหรือบริการ

ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต้องรายงานผลการประกอบธุรกิจตามแบบ ขต 2/2 ให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับทราบ ภายในเดือนมกราคมและกรกฎาคมของทุกปี โดยจะต้องรายงานข้อมูลการประกอบธุรกิจ เช่น จำนวนสินค้าหรือบริการทั้งหมด รายงานผลการประกอบธุรกิจในรอบบัญชีปัจจุบัน เป็นต้น (ประกาศคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2550 ลงวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2550)

• เอกสารการซื้อขายนั้นจะต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ (มาตรา 31)
• ระบุชื่อผู้ซื้อและผู้ขาย วันที่ซื้อขาย และวันที่ส่งมอบสินค้าหรือบริการ ตลอดจนสิทธิของผู้บริโภคในการบอกเลิกสัญญา (Cooling-Off Term) ซึ่งจะต้องกำหนดด้วยตัวอักษรที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป
• กำหนดเวลา สถานที่ และวิธีการในการชำระหนี้
• สถานที่ และวิธีการในการส่งมอบสินค้าหรือบริการ

วิธีการบอกเลิกสัญญาในการซื้อสินค้าหรือบริการจากการขายผ่านตลาดแบบตรงนี้ ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาโดยการส่งหนังสือแสดงเจตนาภายในเวลา 7 วันนับแต่วันที่ ได้รับสินค้าหรือบริการไปยังผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง (มาตรา 33)
• วิธีการคืนสินค้า เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้บริโภคจะต้องส่งคืนสินค้าไปยังผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง หรือจะเก็บสินค้าไว้เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงมารับคืน ณ ภูมิลำเนาของผู้บริโภคภายในระยะเวลา 21 วัน นับแต่วันที่ใช้สิทธิเลิกสัญญาก็ได้ ( มาตรา 34 ) ส่วนผู้ประกอบธุรกิจแบบตรงมีหน้าที่จะต้องคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคจ่ายไปเพื่อการซื้อสินค้า หรือบริการนั้นภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา (มาตรา 36) ทั้งนี้ผู้บริโภคมีสิทธิยึดหน่วงสินค้าไว้ได้จนกว่าจะได้รับคืนเงินที่ผู้บริโภคจ่ายไปในการซื้อสินค้านั้น (มาตรา 34 วรรคท้าย)
• การรับประกันสินค้า คำรับประกันสินค้าหรือบริการให้จัดทำเป็นภาษาไทย และรวมถึงสิทธิของผู้บริโภคในการเรียกร้องสิทธิตามคำรับประกันที่ชัดเจน และสามารถเข้าใจได้ถึงเงื่อนไขที่ระบุไว้ (มาตรา 37)
• การเปลี่ยนสินค้าในกรณีมีความชำรุดบกพร่อง

1.3 การโฆษณาข้อความ

ในการใช้ข้อความเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการนั้น ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ด้วย กล่าวคือ การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าข้อความนั้นจะเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการก็ตาม

ตัวอย่างของข้อความที่ถือเป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม เช่น

ก. ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง (มาตรา 22 (1))

เช่น การโฆษณาน้ำมันพืชว่า “น้ำมันพืช A ทำจากถั่วลิสง 100%” ข้อความนี้เป็นการโฆษณาที่เกินความจริง เพราะน้ำมันพืชจะผลิตจากถั่วลิสงอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องประกอบด้วยอย่างอื่นๆ อีก

เช่น การโฆษณาโทรทัศน์สีว่า “โทรทัศน์สีซึ่งให้ภาพสีคมชัด สีไมเสื่อม 100%” เป็นการโฆษณาที่เกินความจริง

ผู้ประกอบการพึงทราบว่า คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา ได้ให้คำแนะนำว่าในการโฆษณาสินค้าหรือบริการ ควรหลีกเลี่ยงการนำถ้อยคำว่า “ที่สุด” “แห่งแรก” “ครั้งแรก” “รายแรก” “100%” หรือถ้อยคำอื่น ที่มีความหมายทำนองเดียวกันมาใช้ประกอบข้อความโฆษณา เว้นแต่ผู้โฆษณาจะมีหลักฐานพร้อมที่จะพิสูจน์ได้ ว่าสินค้าหรือบริการที่โฆษณานั้นมีคุณสมบัติดังที่กล่าวอ้าง (ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยโฆษณา เรื่องการโฆษณาสินค้าหรือบริการโดยใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง อันยากแก่การพิสูจน์ ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2526) อย่างไรก็ตาม ข้อความโฆษณาที่บุคคลทั่วไปสามารถรู้ได้ว่าเป็นข้อความที่ไม่อาจเป็นความจริงได้โดยแน่แท้ (Surreal) เป็นข้อความที่ไม่ต้องห้าม สามารถทำได้ เช่น โฆษณาว่าสัตว์สามารถพูดได้ เป็นต้น

ข. ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการสถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริง หรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม (มาตรา 22 (2))

เช่น การอ้างสถิติว่า “ขนมปังกรอบ A ได้รับรางวัลเหรียญทองโอลิมปิก 5 ปีซ้อน” แต่ในความเป็นจริง ขนมปังดังกล่าวไม่ได้รับรางวัล 5 ปีซ้อนกันดังโฆษณา แต่ได้รับรางวัลเว้นปีกัน คือ ได้รับรางวัลในปี ค.ศ. 1966, 1967, 1968, 1974 และ 1976 จึงเป็นข้อความที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้

เช่น การอ้างอิงว่า “หลอดไฟฟ้า A ได้ผ่านการทดสอบจากสถาบันทางการไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ” แต่ในความเป็นจริงไม่ได้ผ่านการทดสอบเช่นนั้น จึงเป็นการอ้างอิงที่ไม่เป็นความจริง

ค. ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมาย หรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ (มาตรา 22 (3))

เช่น การโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมทรวงอกว่า “ทรงนิ่ม ทำให้แข็ง บีบแรงก็ไม่หย่อน” เป็นข้อความที่เป็นการสนับสนุนให้มีการกระทำผิดกฎหมายได้

เช่น การโฆษณาว่า “นางสาว ก. เปิดอกเปิดสะโพกให้สัมภาษณ์” ถือเป็นข้อความที่นำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ

ง. ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยก หรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน (มาตรา 22 (4))

ตัวอย่างของการโฆษณาที่เข้าข่ายอนุมาตรานี้ยังไม่เคยปรากฏในประเทศไทย

จ. ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 22 (5))

ตัวอย่างของกฎกระทรวงที่ออกตามความของอนุมาตรานี้ เช่น การห้ามโฆษณาสินค้า หรือบริการที่ใช้ หรืออ้างอิงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งได้กระทำไปโดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต พระราชานุญาต หรืออนุญาต แล้วแต่กรณี เป็นต้น

1.5 การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ในการทำการตลาดอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึง ดังนี้

ก. กฎหมายที่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการ

ตามพระราชบัญญัติเรื่องหมายการค้า (ฉบับที่3) พ.ศ. 2542 นั้น เครื่องหมายการค้า (Trademark) คือ เครื่องหมายที่เป็นสัญลักษณ์ หรือตราที่ใช้เป็นที่หมายเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นมีความแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น

เช่น เครื่องหมายการค้า สินค้าเครื่องดื่มโค้ก ซึ่งใช้เพื่อแสดงว่าสินค้าน้ำดื่มนี้มีความแตกต่างกับสินค้าน้ำดื่มที่ใช้เครื่องหมายเป๊ปซี่ เป็นต้น

ส่วนเครื่องหมายบริการ (Service Mark) คือ เครื่องหมายที่เป็นสัญลักษณ์ หรือตราที่ใช้เป็น เครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นมีความแตกต่างกับบริการ ที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น

เช่น เครื่องหมายบริการของสายการบินไทย ซึ่งใช้หรือแสดงว่าบริการรับขนสินค้า หรือผู้โดยสารของตนมีความแตกต่างกับบริการรับขนสินค้าหรือผู้โดยสารของสายการบินอื่น เป็นต้น

การคุ้มครองเครื่องหมายการค้าและบริการนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายจะต้องนำเครื่องหมายนั้นไปจดทะเบียนเสียก่อน จึงจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โดยหากผู้ประกอบการประสงค์จะได้รับการคุ้มครองภายในประเทศไทยก็ต้องไปจดทะเบียนพร้อมชำระค่าธรรมเนียม ณ สำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ณ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ที่ผู้ขอจดทะเบียนมีภูมิสำเนาอยู่

ลักษณะของเครื่องหมายที่จะจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการได้นั้น จะต้องประกอบด้วยลักษณะ 3 ประการคือ (มาตรา 6)

• มีลักษณะบ่งเฉพาะ คือ มีลักษณะที่ทำให้ผู้บริโภคทราบ และเข้าใจได้ว่าสินค้า หรือบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างจากสินค้าหรือบริการของผู้อื่น เช่น เป็นรูป หรือคำ ที่ได้ประดิษฐ์ขึ้นอันมีลักษณะบ่งเฉพาะ (มาตรา 7)
• ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย เช่น เป็นธงชาติ ตราแผ่นดิน เครื่องหมายราชการ พระปรมาภิไธย หรือพระบรมฉายาลักษณ์ เป็นต้น (มาตรา 8)
• ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว

เมื่อผู้ประกอบการได้จดทะเบียนเครื่องหมายแล้วก็จะเป็นเจ้าของ และมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการนั้นกับสินค้าและบริการที่จดทะเบียนไว้แต่เพียงผู้เดียว (มาตรา 44) และในกรณีที่มีผู้อื่นละเมิด คือปลอม หรือเลียนเครื่องหมายของตน ก็มีสิทธิจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ เครื่องหมายที่ได้จดทะเบียนไว้จะได้รับความคุ้มครองคราวละ 10 ปี (มาตรา 53)

ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการของตนไว้ เพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นมาปลอมหรือเลียนเครื่องหมายของตน ขณะเดียวกันก็ต้องพึงระมัดระวังไม่ใช้เครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของผู้อื่นด้วย

ข. กฎหมายสิทธิบัตร

ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 ในกรณีที่ผู้ประกอบการเสนอขายสินค้า ซึ่งมีลักษณะเป็นการประดิษฐ์ใหม่ อันได้แก่ ผลิตภัณฑ์ (Product) ใหม่ หรือเสนอให้บริการ กรรมวิธีใหม่ในการผลิต การเก็บรักษา อันทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ หากการประดิษฐ์ใหม่นี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในทางอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรือหัตถกรรม (มาตรา 5) ผู้ประกอบการควรนำการประดิษฐ์นั้นมายื่นคำขอรับสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อจะได้รับความคุ้มครอง คือ เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการผลิต ใช้ ขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรนั้น (มาตรา 36) และหากมีการละเมิดก็มีสิทธิจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ สิทธิบัตรการประดิษฐ์นั้นจะมีอายุการคุ้มครอง 20 ปีนับแต่วันขอรับสิทธิบัตร (มาตรา 35)

ในกรณีที่การประดิษฐ์ใหม่นั้น ไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงมากนัก ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์ก็สามารถขอรับการคุ้มครองได้ โดยยื่นคำต้องอนุสิทธิบัตร (มาตรา 65 ทวิ) ซึ่งจะมีลักษณะการคุ้มครองในทำนองเดียวกันกับสิทธิบัตร แต่จะมีอายุการคุ้มครองเพียงแค่ 6 ปี แต่จะสามารถต่ออายุได้อีกสองครั้ง ครั้งละ 2 ปี (มาตรา 65 สัตต)

สำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Industrial Design) หากผู้ประกอบการได้ออกแบบอุตสาหกรรมหรือหัตถกรรมที่มีลักษณะใหม่ที่ยังไม่เคยมีการใช้แพร่หลายมาก่อน ก็สามารถยื่นคำขอรับการคุ้มครองสิทธิบัตร การออกแบบผลิตภัณฑ์ได้เช่นเดียวกัน (มาตรา 56) ส่วนการคุ้มครองที่ได้รับก็คือ การมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้แบบผลิตภัณฑ์นั้น (มาตรา 63) ส่วนอายุการคุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นมีอายุ 10 ปีนับแต่วันขอรับสิทธิบัตร (มาตรา 62)

ค. กฎหมายลิขสิทธิ์

ในการทำการตลาดทางอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการนั้น ในพื้นที่โฆษณาบนเว็บไซต์ของผู้ประกอบการ อาจประกอบด้วยงานสร้างสรรค์ที่มีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 หลายประเภท เช่น

ข้อความ เนื้อหาสาระ ถือเป็นงานวรรณกรรม ซึ่งอาจเข้าองค์ประกอบของงานอันมีลิขสิทธิ์ ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายได้

• ภาพประกอบ ถือเป็นงานศิลปกรรม ประเภทจิตรกรรม ภาพถ่าย หรือศิลปะประยุกต์
• เสียงประกอบ เช่น ทำนอง เนื้อร้องของเพลง ถือเป็นงานดนตรีกรรม

การสร้างสรรค์ข้อความ ภาพ และเสียงเหล่านี้ของผู้ประกอบการ อาจได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ได้ หากเป็นการสร้างสรรค์ที่ได้ทำด้วยตนเองไม่ได้ลอกเลียนมาจากงานของผู้อื่นและได้ใช้ทักษะ แรงงาน ตลอดจนวิจารณญาณของตน (มาตรา 6) ลิขสิทธิ์นั้นจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทันทีโดยอัตโนมัติ และไม่ต้องมีการจดทะเบียน โดยจะมีอายุการคุ้มครอง ประมาณ 25 - 50 ปี แล้วแต่ลักษณะและสภาพของงาน ส่วนสิทธิที่ได้รับความคุ้มครอง คือ สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการทำซํ้า ดัดแปลง และเผยแพร่งานต่อสาธารณชนนั่นเอง (มาตรา 15)

ในขณะที่การสร้างสรรค์งานอาจทำให้ผู้ประกอบการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ ผู้ประกอบการก็มีข้อพึงระมัดระวังในการไม่นำงานอันมีลิขสิทธิของผู้อื่นมาใช้ในการทำการตลาดของตนเอง โดยไมได้รับอนุญาตเช่นเดียวกัน มิฉะนั้นจะถือเป็นการละเมิด และอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หรือได้รับโทษจำคุก และหรือปรับในทางอาญาได้

1.6 การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

เนื่องจากในการทำการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีความเกี่ยวพันกับระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ผู้ประกอบการจึงมีข้อพึงระมัดระวังมิให้ต้องตกอยู่ในฐานะผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ดังนี้

ก. การกระทำความผิดเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์

• ห้ามผู้ประกอบการเข้าถึงโดยมิชอบ ซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน (มาตรา 5)
• ห้ามผู้ประกอบการทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ (มาตรา 10)
• ห้ามผู้ประกอบการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่น โดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข (มาตรา 11)
• ห้ามผู้ประกอบการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม หรือ เป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน หรือน่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแค่ประชาชน หรือเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือเกี่ยวกับการก่อการร้าย หรือที่มีลักษณะอันลามก (มาตรา 14)
• ห้ามผู้ประกอบการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเกิดจากการสร้างขึ้น ตัด ต่อ เติม หรือดัดแปลงด้านวิธีการใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย (มาตรา 16)

ข. การกระทำความผิดเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์

• ห้ามมิให้ผู้ประกอบการเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน (มาตรา 7)
• ห้ามมิให้ผู้ประกอบการใช้วิธีการอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อดักรับข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ในระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ (มาตรา 8)
• ห้ามผู้ประกอบการทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ (มาตรา 9)
• ห้ามผู้ประกอบการเผยแพร่ หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน หรือน่าจะเกิความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน หรือเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือเกี่ยวกับการก่อการร้าย หรือที่มีลักษณะลามก (มาตรา 15)

1.7. การส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่พึงประสงค์

ในการทำการตลาดอิเล็กทรอนิกส์เชิงรุกนั้น บางครั้งผู้ประกอบการอาจส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ไปยังผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่พึงประสงค์ (Unsolicited Electronic Messages-Spam Mail) ได้

ในประเทศ เช่น ประเทศนิวซีแลนด์ มีกฎหมายห้ามมิให้มีการส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์ด้านการพาณิชย์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์ด้านการพาณิชย์นั้น หมายถึงข้อความอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีเป้าหมายในทางการตลาด หรือสนับสนุนธุรกิจ หรือสินค้า หรือบริการของผู้ประกอบการ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการได้มาซึ่งประโยชน์ในทางการเงินจากผู้อื่นโดยไม่สุจริตนั่นเอง ดังนั้น หากผู้ประกอบการจะส่งข้อความโฆษณาประชาสัมพันธ์ ในลักษณะของการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ไปยังบุคคลกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นผู้บริโภคในประเทศที่มีกฎหมายลักษณะนี้ก็ต้องระบุ ข้อมูลที่ชัดเจน และถูกต้องเกี่ยวกับผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ส่ง และข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้รับจะติดต่อกลับมายังผู้ส่ง ตลอดจนต้องมีสิ่งสำหรับให้แสดงความไมพึงประสงค์ (A Function Unsubscribe Facility) ซึ่งผู้รับสามารถสั่งห้ามมิให้ผู้ส่งส่งข้อความในลักษณะดังกล่าวมายังผู้รับอีกในอนาคต

สำหรับในประเทศไทยนั้น แม้จะยังไม่มีกฎหมายห้ามการส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่พึงประสงค์ไว้โดยตรงก็ตาม แต่ผู้ประกอบการก็ต้องพึงระมัดระวังไม่ส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์ไปให้ผู้รับในลักษณะที่อาจเข้าข่ายของการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำ ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือเข้าข่ายอันเป็นการละเมิดหรือรบกวนสิทธิ์ต่อผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย

1.8 การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) หมายถึง ข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวบุคคลซึ่งมีผลทำให้สามารถใช้ระบุ หรือกำหนดตัวบุคคลได้ เช่น วัน-เดือน-ปีเกิด อายุ การศึกษา น้ำหนัก-ส่วนสูง รสนิยม ความชอบของบุคคล เป็นต้น

ในการประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้น บางกรณีผู้ประกอบการอาจได้มาซึ่งข้อมูล อันมีลักษณะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นได้ ซึ่งการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนี้บางประเทศบัญญัติไว้เป็นกฎหมาย ขณะที่ในบางประเทศไมได้บัญญัติไว้เป็นกฎหมาย แต่มีประมวลแม่แบบ (Model Code) ไว้เป็นแนวปฏิบัติได้ (Best Practice) แก่ผู้ประกอบการไว้ให้ปฏิบัติตาม

ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีหลักเกณฑ์สากลซึ่งเป็นที่ยอมรับ คือ OECD Guidelines on the Protection of Privacy and Transborder Flows of Personal Data ที่ผู้ประกอบการพึงต้องปฏิบัติ ดังนี้

ก. การเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล
• การเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ประกอบการจะต้องทำเท่าที่เกี่ยวข้องและจำเป็นแก่การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของผู้ประกอบการเท่านั้น
• การเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องแจ้งรายละเอียด เช่น วัตถุประสงค์การรวบรวม วิธีการรวบรวม ระยะเวลาการเก็บรักษา ให้เจ้าของข้อมูลได้ทราบก่อน หรือในขณะดำเนินการรวบรวมข้อมูลนั้น

ข. การใช้และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
• การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่รวบรวมซึ่งได้แจ้งแก่ผู้เป็นเจ้าของข้อมูล
• การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยปราศจากความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลจะทำไมได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้ต้องเปิดเผย

ค. การเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล
• การเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลจะเก็บได้ตามจำเป็นแก่วัตถุประสงค์ และได้เท่าระยะเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น
• การเก็บรักษาจะต้องทำรายการจัดเก็บ ณ สถานที่ทำการ เพื่อให้เจ้าของข้อมูลสามารถตรวจสอบได้

สำหรับประเทศไทย แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีกฎหมายเรื่องดังกล่าว แต่ก็มีการดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งได้นำหลักเกณฑ์ของ OECD นี้มาใช้เป็นแนวทางด้วย

2. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นผลที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ประกอบการทำการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ประสบความสำเร็จแล้ว ผู้บริโภคอาจสนใจทำสัญญาซื้อขายสินค้าหรือบริการที่ผู้ประกอบการเสนอ ซึ่งการทำสัญญานี้อาจทำขึ้นเป็นสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีกระดาษ (Paperless) มาเกี่ยวข้องก็ได้ กฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ประกอบการพึงรู้ มีอยู่ 2 ฉบับ ดังนี้

2.1 พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551

พระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มีขอบเขตใช้บังคับกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transaction) เป็นสำคัญ ซึ่งคือการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวกับกิจกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ที่กระทำขึ้นโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (มาตรา 3 และมาตรา 4) เช่น การกระทำนิติกรรม หรือสัญญาโดยผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า คำว่า “ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์-Electronic Transaction” นี้ จะมีความหมายแคบกว่าคำว่า “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์- Electronic Commerce” ซึ่งจะหมายความรวมถึงความสัมพันธ์หรือกิจกรรมที่มีลักษณะในเชิงพาณิชย์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเกิดจากสัญญาหรือไม่ก็ตาม (UNCITRAL Model Law on Electronic Commerce, Article 1)

ตัวอย่างเช่น การทำสัญญาซื้อขายโดยผู้ซื้อและผู้ขายใช้กระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการแสดงเจตนาทำคำเสนอ (Offer) และคำสนอง (Acceptance) ต่อกัน ถือว่าเป็นธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพราะเป็นการกระทำที่เกี่ยวกับกิจกรรมในทางพาณิชย์ คือ การทำสัญญาซื้อขาย แต่การที่ต่อมาผู้ขายส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์มายังผู้ซื้อเพื่อแสดงความขอบคุณที่ผู้ซื้ออุดหนุนสินค้า ของตนดังนี้ เป็นแต่เพียงกิจกรรมทางพาณิชย์ที่เป็นการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบหนึ่ง แต่ไม่ถือเป็นธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพราะไม่ก่อให้เกิดนิติกรรมสัญญาหรือการเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิและหน้าที่แต่ประการใด

พระราชบัญญัติฉบับนี้นอกจากจะใช้บังคับกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในภาคเอกชนแล้ว ยังมีขอบเขตใช้บังคับกับธุรกรรมในการดำเนินงานของรัฐด้วย (มาตรา 3 วรรคท้าย) ซึ่งได้แก่ คำขอการอนุญาตการจดทะเบียนคำสั่งทางปกครองการชำระเงินการประกาศหรือการดำเนินการใดๆ ตามกฎหมายกับหน่วยงานของรัฐ หรือโดยหน่วยงานของรัฐ หากได้กระทำในรูปของอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะถือว่ามีผลโดยชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 35)

กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการรับรองธุรกรรมในระบบไร้กระดาษ (Paperless) ให้มีสถานะทางกฎหมายเช่นเดียวกันกับธุรกรรมในระบบกระดาษ (Paper) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ก. การรับรองสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Legal Effect) (มาตรา 7) และให้แสดงเจตนาผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ (มาตรา 15)

ข. การยอมรับว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นแบบตามกฎหมายกำหนดเสมือนกับการทำเป็นหนังสือ (Writing) (มาตรา 8)

ค. การยอมรับว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นเอกสารต้นฉบับ (Original) (มาตรา 10)

ง. การยอมรับให้ใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ (Electronic Signature) (มาตรา 9)

จ. การรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (มาตรา 11)

จึงกล่าวได้ว่า สัญญาอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำขึ้นระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภคมีผลบังคับใช้ได้โดยสมบูรณ์ และได้รับการรับรองตามกฎหมายทุกประการ นั่นคือผู้ประกอบการสามารถแสดงเจตนาเสนอขายหรือให้บริการผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ และเมื่อผู้บริโภคประสงค์จะสนองซื้อสินค้าหรือรับบริการก็สามารถแสดงเจตนาผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นเดียวกัน การลงลายมือชื่อของคู่สัญญาก็สามารถใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ สัญญาที่เกิดขึ้นทางอิเล็กทรอนิกส์นี้ก็จะถือว่าเป็นหนังสือ และเป็นเอกสารต้นฉบับโดยไม่จำเป็นต้องทำสัญญาในระบบกระดาษขึ้นมากำกับอีก นอกจากนี้สัญญาอิเล็กทรอนิกส์ยังสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินกระบวนพิจารณาตามกฎหมายได้อีกด้วย

2.2 ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์

ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น อาจมีการชำระราคาค่าสินค้าหรือบริการกันโดยการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้ประกอบการมีข้อพึงระมัดระวัง มิให้ต้องตกอยู่ในข่ายของผู้กระทำความผิดตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายอาณา หมวด 4 เรื่องความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้่

ก. การปลอม หรือแก้ไขบัตรอิเล็กทรอนิกส์
• ผู้ประกอบการต้องไม่ทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม หรือเติม หรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่แท้จริงโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแค่ผู้อื่นหรือประชาชน และเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่แท้จริง หรือเพื่อใช้ประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด (มาตรา 269/1)

ข. การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม
• ห้ามผู้ประกอบการนำเข้า หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม (มาตรา 269/3)
• ห้ามผู้ประกอบการใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม อันได้มาโดยรู้ว่าเป็นของที่ปลอมหรือแปลงขึ้น (มาตรา 269/4)

ค. การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่น
• ห้ามผู้ประกอบการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (มาตรา 269/5)
• ห้ามผู้ประกอบการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแค่ผู้อื่นหรือประชาชน (มาตรา 269/6)

ง. การกระทำต่อบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ประโยชน์ในการชำระหนี้
• หากการกระทำปลอม แปลง หรือใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกบัตรได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการ หรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด หรือใช้เบิกถอนเงินสด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้กึ่งหนึ่ง (มาตรา 269/7)

8. การโฆษณาแบบ Pay Per Click Advertising next