การวิเคราะห์โครงการด้านเทคนิค

การวิเคราะห์โครงการด้านเทคนิค คือการพิจารณาวิเคราะห์องค์ประกอบในด้านเครื่องจักร วัตถุดิบ และบุคคล องค์ประกอบดังกล่าวนี้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันโดยก่อให้เกิดแกนกลางรวมซึ่งเรียกว่า การจัดการ (Management) นอกจากนี้ยังรวมถึงการพิจารณาวิเคราะห์ในด้านอื่นๆ เช่น การควบคุมในด้านปริมาณ คุณภาพ และกระบวนการผลิตตลอดจนการวางแผนในการใช้เงินทุน วัตถุดิบ เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้วการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิคจะพิจารณาในเรื่องดังต่อไปนี้

1. การพิจารณาเงินลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของโครงการ สินทรัพย์ถาวรของธุรกิจอุตสาหกรรมแต่ละประเภทอาจประกอบด้วยสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน เช่น โครงการดำเนินการขนส่งทางทะเล สินทรัพย์ถาวรจะหมายถึง ตัวเรือธุรกิจโรงแรม สินทรัพย์ถาวรจะหมายถึง อาคารโรงแรม เป็นต้น หากจะพิจารณาเงินลงทุนทางด้านเทคนิคในสินทรัพย์ถาวรของโครงการธุรกิจอุตสาหกรรมโดยทั่วไปแล้ว ประกอบด้วยรายการต่างๆ ดังนี้คือ

ที่ดินและการปรับปรุงที่ดิน ควรพิจารณาเกี่ยวกับขนาดของพื้นที่และจำนวนพื้นที่ที่ต้องปรับปรุงความเหมาะสมของทำเลที่ตั้งเส้นทางซึ่งจะสัมพันธ์กับสาธารณูปโภค ตลาดของสินค้าสำเร็จรูป แหล่งที่มาของวัตถุดิบตลอดจนเส้นทางการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป นอกจากนี้จะต้องเลือกวิธีการปรับปรุงที่ดิน เช่น โดยการถมดิน ถมทราย

สิ่งปลูกสร้าง งบประมาณการลงทุนมาจากการคาดคะเนแบบแปลนซึ่งสถาปนิกและวิศวกรเป็นผู้กำหนด สิ่งที่ควรพิจารณาในการตั้งงบประมาณ คือ ข้อมูลทางด้านเทคนิคจากผู้ขายเครื่องจักร กระบวนการผลิตสินค้า กำลังคน จำนวนสินค้าคงเหลือของวัตถุดิบและสินค้าคงเหลือและสินค้าสำเร็จรูป กำลังการผลิตของโรงงาน พระราชบัญญัติของการก่อสร้าง

เครื่องจักรอุปกรณ์ ในการพิจารณาเลือกซื้อเครื่องจักร นอกจากพิจารณาในด้านราคาแล้วยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของขนาดกำลังการผลิต ความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงาน อายุการใช้งาน ความสามารถในการซ่อมแซม จัดหาอะไหล่ และบำรุงรักษา สาระสำคัญของสัญญาซื้อขาย เงื่อนไขการชำระเงิน การติดตั้ง เครื่องจักร ฯลฯ

ยานพาหนะ จะต้องพิจารณาความเหมาะสมด้านต่างๆ เช่น ประเภทการขนส่งสินค้าต่อชนิดผลิตภัณฑ์ ขนาดของยานพาหนะในการจนส่งแต่ละประเภท และจำนวนของยานพาหนะให้เพียงพอต่อการบริการ

เครื่องใช้สำนักงาน พิจารณาตั้งงบประมาณให้เหมาะสมกับกำลังคนและความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน

 

2. การพิจารณาและวิเคราะห์การควบคุมการผลิต การควบคุมการผลิตในเรื่องของปริมาณและคุณภาพของผลิตภัณฑ์นั้นมีความสำคัญทางเทคนิคมาก การควบคุมนี้จะมีผลต่อเนื่องมาจากการเลือกซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์และการเลือกกระบวนการผลิต

การเลือกกระบวนการผลิตจะต้องเลือกวิธีที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ชนิดของวัตถุดิบที่มีอยู่ในปัจจุบัน ต้นทุนการผลิต และการเงินในบางกรณีหรือบางประเภทของอุตสาหกรรมได้มีผู้ดำเนินการขอสงวนการใช้ ดังนั้นการเลือกกระบวนการผลิต จึงจำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขอใช้ลิขสิทธิ์

ส่วนการควบคุมปริมาณและคุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเลือกกระบวนการผลิตการซื้อเครื่องจักร การซื้อลิขสิทธิ์ ฯลฯ จากผลสืบเนื่องดังกล่าวเพื่อให้แน่ใจว่าโครงการจะดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย ควรที่จะมีผู้รับเอาประกันความสำเร็จของโครงการกบ่าวคือ ผู้ขายเครื่องจักรควรจะรับประกันคุณภาพของเครื่องจักรและการผลิตอุปกรณ์ ผู้ขายลิขสิทธิ์ควรรับประกันในด้านการให้ความช่วยเหลือทางด้านการค้นคว้าและวิจัยเทคนิคใหม่ๆ ในการผลิตผลิตภัณฑ์

3. การพิจารณาและการวิเคราะห์การวางแผน การวางแผนงานของโครงงานแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การวางแผนในการดำเนินการลงทุน และการวางแผนในการผลิต

การวางแผนในการดำเนินการลงทุนคือ การกำหนดแผนงานตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อคาดคะเนการใช้เงินลงทุน และค่าใช้จ่ายของโครงการในระยะเริ่มต้นก่อนเปิดดำเนินการ แบ่งเป็น 3 ระยะคือ

ระยะที่ 1 คือ ระยะเวลามรการดำเนินการด้านธุรการ เช่น การจัดตั้งบริษัท การขอรับการส่งเสริมจาก BOI การหาแหล่งเงินทุน ฯลฯ

ระยะที่ 2 คือ ระยะเวลาของการก่อสร้าง

ระยะที่ 3 คือ ระยะในการดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องจักรและอุปกรณ์

การวางแผนในการผลิต แผนงานในขั้นนี้ได้แก่ การกำหนดปริมาณการผลิตที่เหมาะสมของโครงการอาจจะเริ่มจากน้อยไปหามาก โดยพิจารณาจากความต้องการและการตอบสนองของผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ และปริมาณการผลิตที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด การขนส่ง ราคา ฯลฯ นอกจากนี้ในด้านของกำลังคนควรพิจารณาถึงประเภทของแรงงานที่ใช้ เช่น ช่างฝีมือแรงงาน กึ่งช่างฝีมือ และแรงงานที่ไม่ใช่ช่างฝีมือ และควรคำนึงถึงจำนวนแรงงานที่ต้องการเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการผลิต ระยะเวลาการทำงานแต่ละวัน แต่ละปี รวมทั้งการจัดองค์การ

4. ต้นทุนการผลิตเบื้องต้น การคิดคำนวณค่าใช้จ่ายและต้นทุนการผลิต เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการวิเคราะห์โครงการทางเทคนิค ค่าใช้จ่ายในการผลิตสามารถแบ่งเป็นค่าเสื่อมราคา วัตถุดิบ แรงงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในโรงงาน

ค่าเสื่อมราคา โดยทั่วไปจะคิดอัตราค่าเสื่อมราคาดังนี้ อัตราค่าเสื่อมราคาของสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 5 ของมูลค่าต่อปี ค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรและอุปกรณ์ร้อยละ 10 ของมูลค่ารวมต่อปี และค่าเสื่อมราคาของยานพาหนะร้อยละ 2 ของมูลค่ารวมต่อปี

วัตถุดิบ การคำนวณหามูลค่าของวัตถุดิบที่ใช้ในแต่ละปี จะต้องนำข้อมูลการวางแผนในเรื่องวัตถุดิบและปริมาณการผลิตมาเป็นเกณฑ์ ในการคำนวณมูลค่าวัตถุดิบนั้นมีข้อควรระวัง คือจะต้องคำนึงถึงปริมาณวัตถุดิบที่แท้จริง ทั้งนี้ไม่ควรลืมว่าปริมาณของวัตถุดิบอาจจะเกิดการสูญเสียขึ้นได้ในระหว่าง การขนส่ง และระหว่างผ่านกระบวนการผลิต ฯลฯ

แรงงาน ในขั้นนี้เป็นการประมาณค่าใช้จ่าย อัตราเงินเดือนหรืออัตราแรงงานขั้นต่ำรายวันกับกำลังคนที่ใช้

ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในโรงงาน โดยทั่วไปแล้วจะประกอบด้วยค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าจ้าง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมสินทรัพย์ถาวร ค่าใช้จ่ายสวัสดิการต่างๆ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง ค่าบรรจุหีบห่อ ค่าชำรุดเสียหาย ฯลฯ

หลักประกันค่าใช้จ่ายและต้นทุนการผลิต โดยทั่วไปจะประมาณในระยะปีต่อปี โดยให้สอดคล้องกับการวางแผนงานควบคุมการผลิตและการผลิต

การวิเคราะห์โครงการด้านการเงิน