การจัดทำโครงการเพื่อขอเงินกู้สำหรับธุรกิจ SMEs

เรียบเรียงโดย ผศ.กิตติภูมิ มีประดิษฐ์

ในการลงทุนของผู้ประกอบการในโครงการใดโครงการหนึ่งนั้น ผู้ประกอบการที่จะเตรียมการให้รอบคอบละเอียดถี่ถ้วนเพื่อป้องกันอุปสรรคอันอาจเกิดขึ้น และดำเนินงานตามโครงการได้อย่างราบรื่นตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ความรอบคอบดังกล่าวนี้จะต้องมาจากประสบการณ์ และอีกประการหนึ่งจะมาจากสัญชาติญาณในการแก้ไขปัญหาระหว่างที่ดำเนินโครงการ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าจะมีความรู้ในสิ่งที่จะกระทำตลอดจนมีการมองการณ์ไกลเพียงใด

โครงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมโดยทั่วไปจะขอใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อลงทุนร่วมกับเงินทุนส่วนของผู้ประกอบการเอง ดังนั้นสถาบันการเงินจึงมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการลงทุน เพื่อเป็นแนวทางการพิจารณาปล่อยสินเชื่อซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ

แนวทางแรก การวิเคราะห์จะเน้นหนักในด้านฐานะทางเครดิตของผู้ขอสินเชื่อและหลักทรัพย์ที่ให้แก่สถาบันการเงิน เพื่อเป็นหลักประกันสินเชื่อ เช่นที่ดิน โรงงาน และสินทรัพย์ถาวรอื่นๆ การตัดสินใจปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินขึ้นอยู่กับมูลค่าของหลักทรัพย์ว่าจะเพียงพอกับจำนวนสินเชื่อหรือไม่

แนวทางที่สอง การวิเคราะห์จะเน้นหนักในด้านความเป็นไปได้ของโครงการสำคัญ หรือกล่าวได้ว่าเป็นการให้เงินกู้ตามโครงการนั่นเอง

การพิจารณาให้เงินกู้ตามโครงการ (Project financing) เป็นแนวทางที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่เริ่มให้ความสนใจ และทำการพิจารณาจากการยื่นเสนอโครงการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรรมมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือการขาดความเข้าใจของผู้ประกอบการในการจัดวางรูปโครงการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลางในส่วนภูมิภาค เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจในหลักเกณฑ์เบื้องต้นถึงการเตรียมโครงการที่ดีและการวิเคราะห์โครงการอย่างละเอียดรอบคอบ ย่อมเป็นหลักประกันว่า ปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้มีการพิจารณาหาลู่ทางป้องกันแก้ไขไว้แล้ว และย่อมเป็นเครื่องมือที่จะช่วยตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ แรงงาน หรือการใช้พลังงานให้คุ้มค่า มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อการลงทุนสูงสุด

ขั้นตอนการดำเนินการ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การจัดเตรียมโครงการและการวิเคราะห์โครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. การจัดเตรียมโครงการ โครงการ(Project) คือ การกำหนดลำดับขั้นของการดำเนินงานนับแต่เริ่มต้นจนบรรลุผลในแต่ละช่วง เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของการบริหารงานเพื่อให้มีการใช้วัตถุดิบ เครื่องจักร เงินทุนและแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดวัตถุประสงค์ งบประมาณ แหล่งที่ตั้งโครงการ การลงทุน ผลตอบแทน ระยะเวลาของโครงการ วิธีการดำเนินการ และผู้รับผิดชอบการดำเนินการต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน และที่จะละเลยมิได้ คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

กระบวนการวางแผนโครงการ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนที่สำคัญคือ

ขั้นตอนที่ 1 ขั้นกำหนดโครงการ ได้แก่ การเริ่มต้นว่าจะลงมือทำอะไร ทำอย่างไร ทำเมื่อไร ที่ไหน มีขอบเขตการดำเนินงานอย่างไร แหล่งเงินทุนจะได้มาจากไหน และการดำเนินงานต่างๆ ของโครงการเป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่

ขั้นตอนที่ 2 ขั้นการวิเคราะห์และประเมินโครงการ ได้แก่ การพิจารณาโครงการที่กำหนดขึ้นอย่างละเอียดว่าเป็นโครงการที่สมควรทำการลงทุนหรือไม่ กล่าวคือ ถ้าเป็นโครงการที่มีกำไรคุ้มค่าต่อการลงทุนโครงการนั้นก็จะได้รับการประเมินว่าเป็นโครงการที่ดี สมควรที่จะมีการจัดสรรเงินทุนหรือแสวงหาเงินกู้เพื่อดำเนินการลงทุนต่อไป

ขั้นตอนที่ 3 การดำเนินงานตามโครงการ ได้แก่ การนำโครงการที่ผ่านความเห็นชอบแล้วดีไปดำเนินการตามแผนที่วางไว้ เช่น การจัดหาแหล่งเงินกู้ การก่อสร้างโรงงาน อาคาร การจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องจักรการดำเนินการผลิต การติดตามและประเมินผลโครงการเมื่อโครงการได้ดำเนินไปแล้ว เป็นต้น

แนวทางการเขียนโครงการ การลงทุนโครงการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการใหญ่ๆ ต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นส่วนของผู้ประกอบการเอง หรือเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงิน การจัดเตรียมโครงการจึงต้องมีการดำเนินงานอย่างรอบคอบ ใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพที่ตั้งไว้ศึกษาวิเคราะห์ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เชื่อมั่นได้ เพื่อที่จะทำให้โครงการลงทุนนั้นๆ ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์

2. การวิเคราะห์โครงการ โดยทั่วไปแล้วเมื่อจะมีการลงทุนในโครงการมักจะมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้เบื้องต้นของโครงการ โดยอาศัยข้อมูลจากข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลประเภททุติยภูมิ (Secondary data) และข้อมูลปฐมภูมิที่สามารถหาได้ เพื่อช่วยในการตัดสินใจเบื้องต้นว่า โครงการลงทุนนั้นๆ มีลู่ทางพอที่จะดำเนินการได้หรือไม่ การศึกษาการลงทุนนี้ก็คือ การวิเคราะห์โครงการด้านต่างๆ นั่นเอง ซึ่งประกอบด้วยการวิเคราะห์ใน 3 ด้านคือ ด้านการตลาด ด้านเทคนิค และด้านการเงิน โดยมีรายละเอียดดังนี้

การวิเคราะห์โครงการด้านการตลาด