มักกฎ
มักกฎ วรรคที่หก
พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งแมลงมุมชักใยใกล้ทาง เป็นไฉน?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร แมลงมุมชักใยใกล้ทางนั้น ชักใยดุจเพดานไว้ใกล้ทางแล้ว, ถ้าว่าหนอนหรือแมลงหรือบุ้งมาติดที่ใยนั้น, ก็จับเอาสัตว์มีหนอนเป็นต้นนั้นกิน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องทำใย คือสติปัฏฐานให้เป็นดุจเพดาน ที่ทวารทั้งหก ถ้าว่าแมลง กล่าวคือกิเลสมาติดที่ใยนั้น ฉันนั้น, ก็ฆ่าเสียที่ใยนั้น ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ประการหนึ่งแห่งแมลงมุมชักใยใกล้ทาง.
แม้พระอนุรุทธเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
'สติปัฏฐานอันประเสริฐสูงสุด เป็นดุจเพดานในทวารทั้งหก กิเลสทั้งหลายมาติดในเพดาน คือสติปัฏฐานนั้น ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง พึงฆ่ากิเลสนั้นเสีย' ดังนี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งทารกกินนม เป็นไฉน?"
ถ. ขอถวายพระพร ทารกกินนมย่อมข้องอยู่ในประโยชน์ของตน อยากนมก็ร้องไห้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องข้องอยู่ในประโยชน์ของตน เป็นผู้มีธรรมเป็นเครื่องรู้ในอุทเทส ปริปุจฉา สัมมาประโยค ที่สงัดทั่ว ความอยู่รวมด้วยบุคคลผู้ควรเคารพ ความคบกับกัลยาณมิตร ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ประการหนึ่งแห่งทารกกินนม.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ในปรินิพพานสูตร ในทีฆนิกายอันประเสริฐว่า:-
'ดูก่อนอานนท์ ท่านทั้งหลายจงสืบต่อไปในประโยชน์ของตน, จงประกอบเนือง ๆ ในประโยชน์ของตน, จงเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีจิตส่งไปแล้ว อยู่ทุกอิริยาบถ ในประโยชน์ของตน' ดังนี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งเต่าเหลือง เป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร เต่าเหลืองเว้นเสียซึ่งน้ำ เพราะกลัวแต่น้ำ เที่ยวอยู่บนบก ก็แต่หาเสื่อมจากอายุ เพราะการเว้นเสียซึ่งน้ำนั้นไม่ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้เห็นภัยในความประมาทอยู่เป็นนิตย์ เห็นคุณวิเศษในความไม่ประมาทอยู่เป็นปกติ ก็แหละความเสื่อมจากสามัญคุณไม่ ย่อมเข้าไปในที่ใกล้พระนิพพาน เพราะความเป็นผู้มีอันเห็นภัยเป็นปกตินั้น ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ประการหนึ่งแห่งเต่าเหลือง."
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ในธรรมบทว่า:-
"ภิกษุผู้ยินดีในอัปปมาทธรรม หรือมีปกติเห็นภัยในความประมาท, เป็นผู้ไม่ควรจะเสื่อมในที่ใกล้พระนิพพาน ดังนี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์ห้าประการแห่งป่าชัฏ เป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร ธรรมดาป่าชัฏย่อมปกปิดไว้ซึ่งชนผู้ไม่สะอาด ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องปกปิดซึ่งความผิด ความพลั้งพลาดแห่งชนเหล่าอื่น ไม่เปิดเผย ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ต้นแห่งป่าชัฏ."
อนึ่ง ป่าชัฏเป็นที่ว่างจากชนเป็นอันมาก ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ว่างจากข่าย คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ และกิเลสทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งป่าชัฏ.
อนึ่ง ป่าชัฏเป็นสถานที่เงียบ เป็นที่ปราศจากความคับแคบด้วยชน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้สงบสงัดจากอกุศลธรรมอันลามกทั้งหลาย ซึ่งมิใช่ของประเสริฐ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งปาชัฏ.
อนึ่ง ป่าชัฏเป็นที่อันสงบหมดจด ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้สงบแล้วหมดจดแล้ว ดับแล้ว มีมานะอันละแล้ว มีความลบหลู่คุณท่านอันละแล้ว ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งป่าชัฏ."
อนึ่ง ป่าชัฏเป็นสถานที่อันอริยชนต้องเสพ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ส้องเสพด้วยอริยชน ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งป่าชัฏ.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่า:-
'ผู้มีปัญญาพึงเสพกับด้วยบัณฑิตทั้งหลาย ผู้ไกลจากกิเลส ผู้มีจิตสงัดแล้ว มีตนส่งไปแล้ว มีปกติเพ่งพินิจ ผู้มีความเพียรอันปรารภแล้วเป็นนิตย์' ดังนี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งต้นไม้ เป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร ขึ้นชื่อว่าต้นไม้ ย่อมทรงดอกและผล ฉันใด. โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ทรงดอก กล่าวคือ วิมุตติและผล กล่าวคือ สามัญคุณ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งต้นไม้.
อนึ่ง ต้นไม้ย่อมให้ซึ่งร่มเงาแก่ชนทั้งหลายผู้เข้าใกล้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ต้อนรับ ด้วยอามิสปฏิสันถารหรือธรรมปฏิสันถารแก่บุคคลผู้เข้าไปหา ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งต้นไม้.
อนึ่ง ต้นไม้ย่อมไม่ทำซึ่งความที่ร่มเงาให้เป็นของมีประมาณต่างกัน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่ทำความเป็นของมีประมาณต่างกันในสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งต้นไม้.
แม้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
"พระมุนีนาถเจ้า เป็นผู้มีพระหฤทัยเสมอในชนทั้งปวง คือ ในเทวทัตผู้ฆ่า ในอังคุลิมาลกโจร ในธนปาลกคชสาร และในพระราหุล ดังนี้"
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์ห้าประการแห่งฝน เป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร ฝนย่อมระงับเสียซึ่งธุลีเหงื่อไคลซึ่งเกิดขึ้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องระงับเสียซึ่งธุลีเหงื่อไคล คือ กิเลสซึ่งเกิดขึ้น ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งฝน.
อนึ่ง ฝนย่อมยังความร้อนที่แผ่นดินให้ดับเสีย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังโลกทั้งเทวโลกด้วยเมตตาภาวนา ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งฝน.
อนึ่ง ฝนย่อมยังพืชทั้งปวงให้งอกขึ้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังศรัทธาของสัตว์ทั้งปวงให้เกิดขึ้น แล้วหว่านลงซึ่งพืช กล่าวคือ ศรัทธานั้น ในสมบัติสามประการ คือ ทิพยสมบัติ และมนุษยสมบัติ จนถึงสุขสมบัติ คือ นิพพานอันมี ประโยชน์อย่างยิ่ง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งฝน.
อนึ่ง ฝนตั้งขึ้นแล้วแต่ฤดู ย่อมรักษาไว้ซึ่งหญ้า ต้นไม้ เครือเขา พุ่มไม้ ผัก และ ไม้เป็นเจ้าแห่งไพรทั้งหลาย ซึ่งงอกขึ้นบนแผ่นดิน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังความทำในใจโดยอุบายที่ชอบให้เกิดขึ้น แล้วรักษาไว้ซึ่งสมณธรรมด้วยความทำในใจโดยอุบายที่ชอบนั้น เพราะว่ากุศลธรรมทั้งปวงมีโยนิโสมนสิการเป็นมูลราก ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งฝน.
อนึ่ง ฝนเมื่อตก ย่อมยังแม่น้ำ หนอง สระบัว ซอก ห้วย ธาร เขา บึง บ่อ ให้เต็ม ด้วยธารน้ำทั้งหลาย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังฝนคือธรรมให้ตกด้วยปริยัติเป็นที่มา ยังใจแห่งชนทั้งหลาย ผู้ใคร่ซึ่งธรรมอันบุคคลพึงตรัสรู้ ให้เต็มรอบ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งฝน:-
แม้พระสารีบุตรเถระผู้ธรรมเสนาบดี ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
'พระมหามุนีผู้ทรงพระภาคเจ้า ทอดพระเนตรเห็นชนผู้อันพระองค์ควรแนะนำให้ตรัสรู้ ในที่แม้มีแสนโยชน์เป็นประมาณ ก็เสด็จพุทธดำเนินไปหาชนนั้นโดยขณะเดียว ยังชนนั้นให้ตรัสรู้ธรรม ดังนี้.
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งแก้วมณี เป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร แก้วมณีเป็นของหมดจดส่วนเดียว ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีอาชีพหมดจดส่วนเดียว ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งแก้วมณี.
อนึ่ง แก้วมณีย่อมไม่เจือปนกับอะไร ๆ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่ระคนด้วยคนชั่วทั้งหลาย ด้วยสหายชั่วทั้งหลาย ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งแก้วมณี.
อนึ่ง แก้วมณีอันนายช่างย่อมประกอบกับชาติแล้วทั้งหลาย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องอยู่รวมกับบุคคลทั้งหลายผู้มีชาติอุดมเลิศ ต้องอยู่ร่วมด้วยบุคคลผู้ปฏิบัติ ผู้ตั้งอยู่ในผล ผู้พร้อมเพรียงด้วยเสขผล ด้วยมณีรัตนะ คือ สมณะผู้โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ เตวิชชา ฉฬภิญญา ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งแก้วมณี.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสพุทธพจน์นี้ไว้ในสุตตนิบาตว่า
'ท่านทั้งหลายผู้บริสุทธิ์มีสติตั้งมั่น พึงสำเร็จการอยู่รวมด้วยผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย, แต่นั้น ท่านทั้งหลายผู้พร้อมเพรียงกัน มีปัญญารักษาตนโดยไม่เหลือ จักทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์' ดังนี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สี่ประการแห่งพรานเนื้อ เป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร พรานเนื้อเป็นผู้มีความหลับน้อย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีความหลับน้อย ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ต้นแห่งพรานเนื้อ.
อนึ่ง พรานเนื้อย่อมผูกใจอยู่แต่ในเนื้อทั้งหลาย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องผูกใจอยู่แต่ในอารมณ์ทั้งหลาย ฉันนั้น. นื้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งพรานเนื้อ.
อนึ่ง พรานเนื้อย่อมรู้กาลของกิจที่จะพึงทำ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องรู้จักกาลของความหลีกเร้นอยู่ว่า 'กาลนี้เป็นกาลของความหลีกเร้นอยู่, กาลนี้เป็นกาลของความออกจากความหลีกเร้นอยู่' ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งพรานเนื้อ.
อนึ่ง พรานเนื้อเห็นเนื้อแล้ว ย่อมยังความยินดีให้เกิดเฉพาะว่า 'เราจักได้เนื้อนี้' ดังนี้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องรื่นรมณ์ในอารมณ์ ยังความยินดีให้เกิดเฉพาะในอารมณ์ว่า 'เราจักบรรลุคุณพิเศษอันยิ่ง' ดังนี้ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งพรานเนื้อ.
แม้พระโมฆราชเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
'ภิกษุได้อารมณ์แล้ว มีจิตส่งไปในอารมณ์แล้ว ยังความยินดีให้เกิดยิ่งว่า 'เราจักบรรลุคุณอันยิ่ง' ดังนี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งพรานเบ็ด เป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร พรานเบ็ดย่อมวัดปลาทั้งหลายขึ้นด้วยเบ็ด ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยกขึ้นซึ่งสามัญผลทั้งหลายอันยิ่งด้วยญาณ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งพรานเบ็ด.
อนึ่ง พรานเบ็ดฆ่าซึ่งปลาตัวเล็ก ๆ ย่อมได้ลาภเป็นอันมาก ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องละซึ่งอามิสในโลกเล็กน้อยเสีย; เพราะว่าละเสียซึ่งอามิสในโลกแล้ว ย่อมบรรลุสามัญผลเป็นอันมาก ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งพรานเบ็ด.
แม้พระราหุลเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
'ละโลกามิสเสียแล้ว พึงได้สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ และผลสี่ อภิญญาหก' ดังนี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งช่างไม้ เป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร ช่างไม้ย่อมถากไม้ตามเส้นดำ คือ สายบรรทัดที่ขึงขีดไว้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยืนอยู่ที่แผ่นดิน กล่าวคือศีล แล้วถือซึ่งขวาน กล่าวคือปัญญา ด้วยมือ กล่าวคือศรัทธา ถากซึ่งกิเลสทั้งหลาย อนุโลมตามพระชินพระศาสนา ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งช่างไม้.
อนึ่ง ช่างไม้ถากกระพี้ออกเสีย ถือเอาแต่แก่น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องนำเสียซึ่งหนทางแห่งความกล่าวแก่งแย่งว่า 'เที่ยง ขาด ชีวิตอันนั้น สรีระอันนั้น, ชีวิตอื่น สรีระอื่น, ธรรมชาติสูงสุดอันนั้น, ธรรมชาติสูงสุดอันอื่น, ธรรมชาติอันปัจจัยไม่ทำแล้วไม่ควร, ไม่ใช่ความกระทำของบุรุษ, มิใช่ความอยู่ด้วยสามารถแห่งความประพฤติพรหมจรรย์, ความฉิบหายแห่งสัตว์, ความปรากฏแห่งสัตว์ใหม่, ความที่สังขารเที่ยง, ผู้ใดกระทำ ผู้นั้นรู้แจ้งพร้อมเฉพาะ, ผู้อื่นกระทำ ผู้อื่นรู้แจ้งพร้อมเฉพาะ, ความเห็นกรรมและผลของกรรม, ความเห็นผลของความกระทำฉะนี้ก็ดี ซึ่งหนทางแห่งความกล่าวแก่งแย่งอย่างอื่นก็ดี แล้วถือเอาซึ่งความเป็นจริงแห่งสังขารทั้งหลาย ซึ่งความที่สังขารทั้งหลายสูญอย่างยิ่ง ซึ่งความที่สังขารทั้งหลายเป็นของไม่มีเพียร ไม่มีชีวิต ซึ่งความที่สังขารทั้งหลายเป็นของล่วงส่วน ซึ่งความที่สังขารทั้งหลายเป็นของว่างเปล่า ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งช่างไม้.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาติเทพ ก็ได้ทรงภาสิตไว้ว่า:-
"ท่านทั้งหลาย จงกำจัดเสียซึ่งกิเลสดุจหยากเยื่อ จงเสือกไปเสียซึ่งกิเลสอันดุจสวะ แต่นั้น ท่านทั้งหลาย จงลอยเสียซึ่งบุคคลทั้งหลายผู้เป็นดุจฟาง ผู้ไม่ใช่สมณะ แต่มีความถือตัวว่าเราเป็นสมณะ ครั้นท่านทั้งหลายกำจัดบุคคลทั้งหลายผู้มีความปรารถนาลามก มีอาจาระและโคจรอันลามก พึงเป็นผู้หมดจด มีสติตั้งมั่นสำเร็จความอยู่รวมด้วยบุคคลผู้หมดจดทั้งหลาย' ดังนี้."
หัวข้อประจำมักกฏวรรคนั้น
แมลงมุมหนึ่ง ทารกหนึ่ง เต่าหนึ่ง ปาหนึ่ง ต้นไม้หนึ่ง ฝนหนึ่ง แก้วมณีหนึ่ง พรานเนื้อหนึ่ง พรานเบ็ดหนึ่ง ช่างไม้หนึ่ง.