เมณฑกปัญหา

ก่อนหน้า

ปรารภเมณฑกปัญหา

พระเจ้ามิลินท์ผู้ช่างตรัส ทรงสันทัดในการเถียงปัญหา ทรงพระปัญญาล่วงสามัญชน มีพระปรีชาญาณลบล้น เห็นแจ้งในเหตุผลเสด็จเข้าไปหาพระนาคเสนเถรเจ้า เพื่อความแตกฉานแห่งพระปรีชา เสด็จอยู่ในฉายาที่เป็นร่มเงาของพระเถรเจ้า เฝ้าตรัสถามปัญหา ได้พระปัญญาแตกฉาน ทรงพระไตรปิฎกธรรมแล้ว ในส่วนแห่งราตรีวันหนึ่ง เสด็จอยู่ ณ ที่สงัด ทรงพิจารณาถึงนวังคสัตถุศาสนา คือ พระพุทธวจนะมีองค์เก้าประการ ทรงพระญาณเล็งเห็นเมณฑกปัญหา คือ ปริศนาสองเงื่อนดุจเขาแกะ ซึ่งวิสัชนาแก้ได้เป็นอันยาก และประกอบไปด้วยอุบายเครื่องจะยกโทษขึ้นกล่าวได้ อันมีในพระศาสนาของสมเด็จพระธรรมราชา ที่ทรงภาสิตไว้โดยบรรยายก็มี ทรงหมายภาสิตไว้ก็มี ทรงภาสิตไว้ตามสภาพก็ดี.

เพราะไม่รู้แจ้งอรรถาธิบายแห่งภาสิตทั้งหลายในเมณฑกปัญหาที่สมเด็จพระชินพุทธเจ้าทรงภาสิตไว้นั้นในอนาคตกาลไกล จักมีความเข้าใจผิดในเมณฑกปัญหานั้นแล้วเถียงกันขึ้น.

เอาเถิดเราจักให้พระธรรมกถึกเลื่อมใสเห็นชอบด้วยแล้ว จักอาราธนาให้ตัดสินเมณฑกปัญหาทั้งหลายเสีย, ในอนาคตกาล ชนทั้งหลายจักได้แสดงตามทางที่ท่านได้แก้ไว้แล้วนั้น.

ครั้นราตรีสว่าง อรุณขึ้นแล้ว ทรงสนานพระเศียรเกล้าแล้วทรงประณมพระหัตถ์เหนือพระเศียร ทรงพระอนุสรถึงสมเด็จพระสัมมนาสัมพุทธเจ้า ทั้งอดีตอนาคตปัจจุบันแล้ว ทรงสมาทานพรตบทแปดประการ โดยทรงพระราชปณิธานตั้งพระราชหถุทัยว่า ''เราจักสมาทานองคคุณแปดประการ บำเพ็ญตบะธรรม คือ จำศีลให้ถ้วนเจ็ดวัน ข้างหน้าแต่วันนี้ไป, ครั้นบำเพ็ญตบะธรรม ครบกำหนดนั้นแล้ว จักอาราธนาพระอาจารยํให้เต็มใจแล้ว จักถามเมณฑก ปัญหาท่าน.''

ขณะนั้น ท้าวเธอทรงผลัดคู่พระภูษากาสาวพัสตร์ทรงสวมลองพระสกอันโล้นไว้บนพระเศียร ถือเพศมุนีแล้ว ทรงสมาทานองคคุณแปดประการดังต่อไปนี้ ถ้วนเจ็ดวันนี้.

๑. เราจะหยุดว่าราชการ
๒. เราจะไม่ยังจิตอันประกอบด้วยราคะให้เกิดขึ้น
๓. เราจะไม่ยังจิตยังประกอบด้วยโทสะให้เกิดขึ้น
๔. เราจะไม่ยังจิตอันประกอบด้วยโมหะให้เกิดขึ้น
๕. เราจะเป็นผู้ประพถุติสุภาพ แม้แก่พวกบุรุษชนซึ่งเป็นทาสกรรมกร
๖. เราจักรักษากายกรรมและวจีกรรม ให้บริสุทธิ้ปราศจากโทษ
๗. เราจะรักษาอายตนะทั้งหกไม่ให้มีส่วนเหลือ เราจะตั้งจิตไว่ในเมตตาภาวนา

ครั้นทรงสมาทานองคคุณแปดประการเหล่านี้แล้ว ทรงตั้งพระหฤทัยอยู่ในองคคุณแปดประการนั้นอย่างเดียว ไม่เสด็จออกข้างนอกถ้วนเจ็ดวันแล้ว ในวันที่แปด พอเวลาราตรีสว่างแล้ว รีบเสวยพระกระยาหารแต่เข้าแล้ว เสด็จเข้าไปหาพระนาคเสนเถรเจ้า มีดวงพระเนตรอันทอดลง ตรัสแต่พอประมาณ มีพระอิริยาบถสงบเสงี่ยม มีพระหฤทัยแน่วไม่ส่ายไปส่ายมา ทรงพระปราโมทย์เบิกบานพระราชหฤทัย สดใสชุ่มชื่นแล้วเป็นอย่างยิ่ง ทรงถวายนมัสการแทบบาทของพระเถรเจ้า ด้วยพระเดียรเกล้าแล้ว เสด็จยืน ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ตรัสดังนี้:-

''พระผู้เป็นเจ้า ข้อความบางเรื่องที่ข้าพเจ้าจะต้องหารือกับพระผู้เป็นเจ้ามีอยู่. ใครๆ อื่นไม่ควรปรารถนาให้มาเป็นที่สามในข้อความเรื่องนั้นเข้าด้วย, ปัญหานั้นจะต้องถามได้แต่ในป่าอันเป็นโอกาสว่างสงัดประกอบด้วยองค์แปดประการ เป็นสมณสารูป, ในที่นั้น ข้าพเจ้าไม่ต้องกระทำให้เป็นข้อที่จะต้องปกปิด ไม่ต้องกระทำให้เป็นข้อลี้ลับซึ่งจะต้องซ่อนเร้น, เมื่อความหารือกันด้วยความประสงค์อันดีมีอยู่ ข้าพเจ้าก็คงจะฟังความลับได้. ความข้อนั้น ควรพิจารณาเห็นโดยข้ออุปมา. เหมือนอะไรเล่า ? เหมือนอย่างมหาปฐพี เมื่อการจะต้องผั่งมีอยู่ ก็ควรเป็นที่ผั่ง ฉันใด, ข้อนี้ก็ฉันนั้น.''

เสด็จเข้าไปสู่ป่าอันสงัดกับพระอาจารย์แล้ว ตรัสว่า ''พระผู้เป็นเจ้า บุรุษในโลกผู้จะใคร่หารือการณ์ ควรเว้นสถานแปดตำบลเสีย บุรุษผู้เป็นวิญญูชน ไม่หารือข้อความในสถานเหล่านั้น, สถานแปดตำบลนั้นเป็นไฉนสถาน แปดตำบลนั้นคือ :

๑. สถานที่ไม่สม่ำเสมอ ควรเว้นเสีย
๒. สถานที่มีภัย ควรเว้นเสีย
๓. สถานที่ลมพัดจัด ควรเว้นเสีย
๔. สถานที่มีของกำบัง ควรเว้นเสีย
๕. เทวสถาน ควรเว้นเสีย
๖. ทางเปลี่ยว ควรเว้นเสีย
๗. ตะพานที่เดินข้าม ควรเว้นเสีย
๘. ท่าน้ำ ควรเว้นเสีย
สถานแปดตำบลนี้ควรเว้นเสีย.''

พระเถรเจ้าทูลถามว่า ''มีโทษอะไร ในสถานแปดตำบลนั้น ขอถวายพระพร.,

ร. ''ข้อความที่หารือกันในสถานที่ไม่สม่ำเสมอ ย่อมแพร่งพรายเซ็งแซ่อื้อฉาวไม่มีดี; ในสถานที่มีภัย ใจย่อมหวาด คนหวาด พิจารณาเห็นความได้ถูกต้องหามิได้: ในสถานที่ลมพัดจัดนัก เสียงฟังไม่ถนัด: ในสถานที่มีของกำบัง คนทั้งหลายไปแอบฟังความได้: ข้อความที่หารือกันในเทวสถาน กายเป็นหนักไป: ข้อความที่หารือกันในทางเปลี่ยวเป็นของเสียเปล่า: ที่ตะพาน เขย่าอยู่เพราะฝีเท้า; ที่ท่าน้ำ ข่าวย่อมปรากฏทั่วไป.''

พระราชาตรัสต่อไปว่า ''บุคคลแปดจำพวกเหล่านี้ ใครหารือด้วยย่อมกระทำข้อความที่หารือด้วยให้เสีย, บุคคลแปดจำพวกนั้นเป็นไฉน ?

๑. คนราคจริต
๒. คนโทสจริต
๓. คนโมหจริต
๔. คนมานจริต
๕. คนโลภ
๖. คนเกียจคร้าน
๗. คนมีความคิดแต่อย่างเดียว
๘. คนพาล

บุคคลแปดจำพวกเหล่านี้ ย่อมกระทำข้อความที่หารือด้วยให้เสีย.''

ถ. ''เขามีโทษอะไร.''

ร. ''คนราคจริต ย่อมกระทำข้อความที่หารือด้วยให้เสีย ด้วยอำนาจราคะ, คนโทสจริต ด้วยอำนาจโทสะ, คนโมหจริต ด้วยอำนาจโมหะ, คนมานจริต ด้วยอำนาจมานะ, คนโลภ ด้วยอำนาจความโลภ,คนเกียจคร้าน ด้วยอำนาจความเกียจคร้าน, คนมีความคิดแต่อย่างเดียว ด้วยอำนาจความเป็นคนมีความคิดแต่อย่างเดียว, คนพาล ด้วยอำนาจความเป็นพาล.''

พระราชาตรัสต่อไปว่า ''บุคคลเก้าจำพวกเหล่านี้ ย่อมเปิดความลับที่หารือด้วย หาปิดไว้ไม่, บุคคลเก้าจำพวกนั้นเป็นไฉน?

๑. คนราคจริต
๒. คนโทสจริต
๓. คนโมหจริต
๔. คนขลาด
๕. คนหนักในอามิส
๖. สตรี
๗. คนขี้เมา
๘. บัณเฑาะก์
๙. เด็กเล็ก ๆ.''

ถ. ''เขามีโทษอะไร.''

ร. ''คนราคจริต ย่อมเปิดความลับที่หารือด้วย ไม่ปิดไว้ ด้วยอำนาจราคะ, คนโทสจริต ด้วยอำนาจโทสะ, คนโมหจริต ด้วยอำนาจโมหะ, คนขลาด ด้วยอำนาจความกลัว, คนหนักในอามิส ด้วยเหตุแห่งอามิส, สตรี ด้วยความเป็นคนอ่อนความคิด, คนขี้เมา ด้วยความเป็นคนโลเลในสุรา, บัณเฑาะก์ ด้วยความเป็นคนไม่อยู่ในฝ่ายอันเดียว, เด็กเล็ก ๆ ด้วยความเป็นผู้มักคลอนแคลน.''

พระราชาตรัสต่อไปว่า ''ปัญญาย่อมแปรถึงความแก่รอบด้วยเหตุแปดประการ, ด้วยเหตุแปดประการนั้นเป็นไฉน ?

๑. ด้วยความแปรแห่งวัย
๒. ด้วยความแปรแห่งยศ
๓. ด้วยการไต่ถาม
๔. ด้วยการอยู่ในสถานที่เป็นท่า คือ ทำเล
๕. ด้วยโยนิโสมนสิการ คือ ความกระทำในใจโดยอุบายที่ชอบ
๖. ด้วยความสั่งสนทนากัน
๗. ด้วยอำนาจความเข้าไปเสพ
๘. ด้วยสามารถแห่งความรัก
๙. ด้วยความอยู่ในประเทศอันสมควร.''

พระราชาตรัสต่อไปว่า ''ภูมิภาคนี้ เว้นแล้วจากโทษแห่งการหารือแปดประการ, และข้าพเจ้าก็เป็นยอดสหายคู่ปรึกษาในโลก, และข้าพเจ้าเป็นคนรักษาความลับไว้ได้ด้วย ข้าพเจ้าจักมีชีวิตอยู่เพียงใด ข้าพเจ้าจักรักษาความลับไว้เพียงนั้น, และปัญญาของข้าพเจ้าถึงความแปรมาด้วยเหตุแปดประการ, เดี๋ยวนี้อันเตวาสิกเช่นข้าพเจ้าหาได้เป็นอันยาก.

''อาจารย์พึงปฏิบัติชอบในอันเตวาสิกผู้ปฏิบัติชอบ ด้วยคุณของอาจารย์ยี่สิบห้าประการ, คุณยี่สิบห้าประการเป็นไฉน ?

๑. อาจารย์พึงเอาใจใส่จัดความพิทักษ์รักษาอันเตวาสิกเป็นนิตย์
๒. พึงรู้ความภักดีหรือไม่ภักดีของอันเตวาสิก
๓. พึงรู้ความที่อันเตวาสิกเป็นผู้ประมาทหรือไม่ประมาท
๔. พึงรู้โอกาสเป็นที่นอนของอันเตวาสิก
๕. พึงรู้ความที่อันเตวาสิกเป็นผู้เจ็บไข้
๖. พึงรู้โภชนาหารวาอันเตวาสิกได้แล้ว หรือยังไม่ได้แล้ว
๗. พึงรู้วิเศษ
๘. พึงแบ่งของอยู่ในบาตรให้
๙. พึงปลอบให้อุ่นใจว่า อย่าวิตกไปเลย ประโยชน์ของเจ้ากำลังเดินขึ้นอยู่
๑๐.พึงรู้ความเที่ยวของอันเตวาสิกว่า เที่ยวอยู่กับบุคคลผู้นี้ๆ
๑๑. พึงรู้ความเที่ยวอยู่ในบ้าน
๑๒. พึงรู้ความเที่ยวอยู่ในวิหาร
๑๓. ไม่พึงกระทำการเจรจากับอันเตวาสิกนั้นพร่ำเพรื่อ
๑๔. เห็นช่อง คือ การกระทำผิดของอันเตวาสิกแล้ว พึงอดไว้
๑๕. พึงเป็นผู้กระทำอะไร ๆ โดยเอื้อเฟื้อ
๑๖. พึงเป็นผู้กระทำอะไร ๆ ไม่ให้ขาด
๑๗. พึงเป็นผู้กระทำอะไร ๆ ไม่ซ่อนเร้น
๑๘. พึงเป็นผู้กระทำอะไร ๆ ให้หมดไม่มีเหลือ
๑๙. พึงตั้งจิตว่าเป็นชนก โดยอธิบายว่า ตนยังเขาให้เกิดในศิลปทั้งหลาย
๒๐. พึงตั้งจิตคิดหาความเจริญให้ว่า ไฉนอันเตวาสิกผู้นี้จะไม่พึงเสื่อมเลย
๒๑. พึงตั้งจิตไว้ว่า เราจะกระทำอันเตวาสิกผู้นี้ให้แข็งแรงด้วยกำลังศึกษา
๒๒. พึงตั้งเมตตาจิต
๒๓. ไม่พึงละทิ้งเสียในเวลามีอันตราย
๒๔. ไม่พึงประมาทในกิจที่จะต้องกระทำ
๒๕. เมื่ออันเตวาสิกพลั้งพลาด พึงปลอบเอาใจโดยทางที่ถูก

เหล่านี้แล คุณของอาจารย์ยี่สิบห้าประการ, ขอพระผู้เป็นเจ้าจงปฏิบัติชอบในข้าพเจ้า ด้วยคุณเหล่านี้เกิด.

ความสงสัยเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า, เมณฑกะปัญหาที่พระชินพุทธเจ้าทรงภาสิตไว้มีอยู่ ในอนาคตกาลไกลจักเกิดความเข้าใจผิดในเมณฑกะปัญหานั้นแล้วเถียงกันขึ้น, และในอนาคตกาลไกลโน้น ท่านผู้มีปัญญาเหมือนพระผู้เป็นเจ้า จักหาได้เป็นอันยาก, ขอพระผู้เป็นเจ้าจงให้ดวงจักษุในปัญหาเหล่านั้นแก่ข้าพเจ้า สำหรับข่มถ้อยคำของผู้อื่นเสีย.''

พระเถรเจ้ารับว่าสาธุแล้ว ได้แสดงองคคุณของอุบาสกสิบประการว่า ''ขอถวายพระพร นี้องคคุณของอุบาสกสิบประการ, องคคุณของอุบาสกสิบประการนั้นเป็นไฉน: องคคุณของอุบาสกสิบประการนั้น คือ

๑. อุบาสกในพระศาสนานี้ เป็นผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์กับสงฆ์
๒. เมื่อประพฤติอะไร ย่อมถือธรรมเป็นใหญ่
๓. เป็นผู้ยินดีในการแบ่งปันให้แก่กันตามสมควรแก่กำลัง
๔. เห็นความเสื่อมแห่งพระพุทธศาสนาแล้ว ย่อมพยายามเพื่อความ เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
๕. เป็นผู้มีความเห็นชอบ
๖. ปราศจากการถือมงคลตื่นข่าว แม้ถึงกับจะต้องเสียชีวิตก็ไม่ถือท่านผู้อื่นเป็นศาสดา
๗. มีกายกรรมและวจีกรรมอันรักษาดีแล้ว
๘. เป็นผู้มีสามัคคีธรรมเป็นที่มายินดี และยินดีแล้วในสามัคคีธรรม
๙. เป็นผู้ไม่อิสสาต่อผู้อื่น และไม่ประพฤติในพระศาสนานี้ ด้วยสามารถความล่อลวงไม่ซื่อตรง
๑๐. เป็นผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ.

ขอถวายพระพร นี้แลองคคุณของอุบาสกสิบประการ, คุณเหล่านี้มีอยู่ในสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้าครบทุกประการ, การที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นความเสื่อมแห่งพระพุทธศาสนาแล้ว มีพระประสงค์จะให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปนั้น เป็นการควรแล้ว ชอบแล้ว เหมาะแล้ว สมแล้วแก่พระองค์ อาตมภาพถวายโอกาส พระองค์จงตรัสถามอาตมภาพตามพระราชอัธยาศัยเถิด.''

อ่านต่อ