ลาวุลตา

ก่อนหน้า

ลาวุลตา วรรคที่สอง

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งเถานํ้าเต้า เป็นไฉน?"

พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร เถาน้ำเต้าเลื้อยเหนี่ยวไปบนหญ้า หรือไม้ หรือเครือเขาด้วยมือทั้งหลาย ย่อมเจริญเบื้องบนแห่งหญ้าเป็นต้นนั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ใคร่เพื่อจะเจริญยิ่งในพระอรหัต ก็ต้องหน่วงด้วยอารมณ์แล้ว เจริญยิ่งในพระอรหัต ฉะนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งเถาน้ำเต้า.

แม้พระสารีบุตรเถระผู้ธรรมเสนาบดี ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
'พุทธโอรส ใคร่ต่อพระอรหันตผล ก็พึงหน่วงอารมณ์ด้วยใจแล้วเจริญในอเสขผล, เหมือนอย่างเถานํ้าเต้ายึดเหนี่ยวไปบนหญ้า หรือไม้ หรือเครือเขาด้วยมือทั้งหลาย ภายหลังก็เจริญข้างบน ฉะนั้น' ดังนี้."

ร. "พระผู้เป้นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งบัว เป็นไฉน?"

ถ. "ขอถวายพระพร บัวเกิดในนํ้า เจริญในน้ำ ก็แต่หาติดด้วยนํ้าไม่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มิได้ติดอยู่ในตระกูล หมู่ ลาภ ยศ สักการะ ความนับถือ และปัจจัยเครื่องบริโภคทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่ต้นแห่งบัว.

อนึ่ง บัวย่อมตั้งขึ้นพ้นจากน้ำ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องครอบงำเสียซึ่งโลกทั้งปวง ขึ้นตั้งอยู่ในโลกุตตรธรรม ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งบัว.

อนึ่ง บัวต้องลมเล็กน้อยย่อมไหว ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องกระทำความสำรวมในกิเลสทั้งหลาย แม้มีประมาณน้อย มีอันเห็นภัยเป็นปกติอยู่ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งบัว.

แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาติเทพ ก็ได้ทรงภาสิตไว้ว่า:-
"ภิกษุมีอันเห็นภัยเป็นปกติในโทษทั้งหลาย มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย" ดังนี้.

ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งพืช เป็นไฉน?"

ถ. ขอถวายพระพร พืชแม้มีประมาณน้อยอันชาวนาหว่านแล้วในนาอันเจริญ ครั้นเมื่อฝนตกสมควร ก็ย่อมเพิ่มให้ซึ่งผลมากหลายฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องปฏิบัติชอบโดยประการที่ศีลซึ่งตนให้ถึงเฉพาะแล้ว เพิ่มให้ซึ่งสามัญผลทั้งนั้น ฉันนั้น, นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ต้นแห่งพืช.

อนึ่ง พืชอันชาวนาหว่านแล้วในนาที่แผ้วถางดีแล้ว ย่อมงอกงามพลันนั่นเทียว ฉันใด, จิตอันโยคาวจรผู้ประกอบความเพียรประคับประคองดีแล้วให้บริสุทธ์ในสุญญาคาร หว่านลงในนาอันประเสริฐ กล่าวคือสติปัฏฐาน ก็งอกงามพลัน ฉะนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งพืช.

แม้พระอนุรุทธเถระ ก็ได้ภาสิตไว้ว่า:-
"พืชอันชาวนานั้นหว่านแล้วในนาอันบริสุทธิ์, ผลของพืชนั้นก็เป็นของไพบูลย์, อนึ่ง ผลแห่งพืชนั้นย่อมยังชาวนาให้ยินดีฉันใด, จิตที่โยคาวจรชำระดีแล้วในสุญญาคาร ก็ย่อมงอกงามในนา กล่าวคือสติปัฏฐานโดยเร็วที่เดียว ฉันนั้น ดังนี้."

ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งไม้ขานาง เป็นไฉน?"

ถ. "ขอถวายพระพร ไม้ขานางเจริญยิ่งอยู่ภายในแผ่นดินร้อยศอกบ้าง ยิ่งกว่าบ้าง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องยังสามัญผลสี่ ปฏิสัมภิทาสี่ อภิญญาหก และสมณธรรมทั้งสิ้นให้เต็มรอบในสุญญาคาร ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งไม้ขานาง.

แม้พระราหุลเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
"ธรรมดาไม้ขานางงอกอยู่ในแผ่นดิน เจริญอยู่ในแผ่นดินร้อยศอก. ครั้นถึงกาลแก่แล้ว ไม้ขานางนั้น ก็เจริญสูงขึ้นวันเดียวร้อยศอก ฉันใด, ข้าแต่พระองค์ผู้กล้าใหญ่ ข้าพระองค์ก็เจริญยิ่งแล้ว โดยธรรมในสุญญาคารอันเป็นภายใน ดุจไม้ขานาง ฉันนั้น ดังนี้."

ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งเรือ เป็นไฉน?"

ถ. "ขอถวายพระพร เรือย่อมยังชนให้ข้ามไปสู่ที่ประสงค์ด้วยไม้และเครื่องไม้ เครื่องเหล็กอันเป็นโครงเป็นเครื่องยึดติดกันเป็นอันมาก ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังโลกทั้งเทวโลกให้ข้ามไปสู่ที่ประสงค์ คืออมตมหานิพพาน ด้วยสิ่งที่เป็นโครงเครื่องยึดเหนี่ยว กล่าวคือ อาจารศีลคุณวัตรปฏิวัตร และธรรมมีอย่างต่าง ๆ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่แรกแห่งเรือ.

อนึ่ง เรือย่อมทนทานต่อกำลังคลื่นที่กระทบกระแทกซัด และกำลังแห่งวนป่วนมีอย่างมาก ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องทนทานต่อกำลังคลื่น คือ กิเลสเป็นอันมาก และลาภลักการ ยศ ชื่อเสียง การบูชากราบไหว้ และคลื่น คือ ความนินทา ความสรรเสริญ สุข ทุกข์ ความยกย่อง ความดูหมิ่น และโทษมีอยู่เป็นอันมากในตระกูลอื่นทั้งหลาย ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งเรือ.

อนึ่ง เรือย่อมแล่นไปในมหาสมุทรอันลึกกำหนดไม่ได้ ไม่มีที่สุด ไม่เห็นฝั่ง มีโทษมาก เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่ ติมิติมิงคล ภูตมังกรและปลา ฉันใด. โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังจิตให้แล่นไปในความตรัสรู้จตุราริยสัจจาภิสมัย ชื่งมีปริวัฏฏ์สามอาการสิบสอง ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งเรือ.

แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ทรงภาสิตไว้ในสัจจสังยุตต์ ในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่า:-
"ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายจะคิดพึงคิดว่า 'นี้เป็นทุกข์นี้เป็นทุกขสมุทัย นี้เป็นทุกขนิโรธ นี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดังนี้."

ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งสมอเรือ เป็นไฉน?"

ถ. "ขอถวายพระพร ธรรมดาสมอย่อมยังเรือให้ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอันมีพื้นน้ำ อากูลปั่นป่วนด้วยหมู่คลื่นเป็นอันมาก ย่อมไม่ให้เรือแล่นไปสู่ทิศต่าง ๆ ได้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังจิตให้ติดอยู่ในอันประหารพร้อมซึ่งวิตกใหญ่ในหมู่คลื่น คือ ราคะ โทสะ โมหะ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่แรกแห่งสมอเรือ.

อนึ่ง สมอเรือย่อมไม่เลื่อนลอย มีแต่จะจม ย่อมยังเรือให้ติดอยู่ ให้เข้าถึงความตั้งอยู่ในน้ำ แม้มีร้อยศอกเป็นประมาณ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องไม่เลื่อนลอยไปในลาภ ยศ สักการะ ความนับถือ การกราบไหว้ การบูชา การยำเกรง และลาภอันเลิศ ยศอันเลิศ ยังจิตให้ตั้งอยู่ในปัจจัย สักว่ายังสรีระให้เป็นไปเท่านั้น ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งสมอเรือ.

แม้พระสารีบุตรเถระผู้ธรรมเสนาบดีก็ได้ภาสิตไว้ว่า:-
"สมอเรือ ย่อมไม่เลื่อนลอย มีแต่จะจมลงในทะเล ฉันใด, ท่านทั้งหลาย ก็อย่าเลื่อนลอยไปในลาภสักการ จงจมอยู่แต่ในปัจจัยอันยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น ฉันนั้น ดังนี้.

ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งเสากระโดง เป็นไฉน?"

ถ. "ขอถวายพระพร เสากระโดงย่อมทรงไว้ซึ่งเชือกสายระยาง รอกใบ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มาตามพร้อมแล้วด้วยสติสัมปชัญญะ คือ รู้ทั่วพร้อมในอันก้าวไปก้าวกลับ แลไปข้างหน้า แลไปข้าง ๆ คู้เข้า เหยียดออก ทรงผ้าสังฆาฏิบาตรจีวร กิน ดื่ม ลิ้ม อุจจาระปัสสาวกรรม เดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด นิ่งอยู่ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งเสากระโดง.

แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ตรัสไว้ว่า:-
"ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้ระลึกทั่วพร้อมอยู่ด้วยอริยาบถทั้งปวง, วาจานี้เราพรํ่าสอนท่านทั้งหลาย ดังนี้."

ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งต้นหน เป็นไฉน?"

ถ. "ขอถวายพระพร ต้นหนเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วเนืองนิตย์ตลอดคืนและวัน ให้เรือแล่นไปอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ไม่ประมาทเนืองนิตย์ ตลอดคืนและวัน กำหนดจิตโดยโยนิโสมนสิการ ฉะนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่แรกแห่งต้นหน.

แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ตรัสไว้ในธรรมบทว่า:-
"ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ยินดีในความไม่ประมาท, จงรักษาจิตไว้เนือง ๆ, จงยกตนขึ้นจากสงสารอันเป็นหนทางเดินยากดุจช้างจมอยู่ในเปือกตมยกตนขึ้นจากเปือกตม ฉะนั้น ดังนี้."

อนึ่ง ต้นหนย่อมรู้แจ้งซึ่งการดีการชั่วทั้งปวง มีทางสวัสดีและทางมีโสโครกเป็นต้นในมหาสมุทร ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องรู้แจ้งกุศลอกุศล กรรมมีโทษและไม่มีโทษ ตํ่าช้าประณีต มีส่วนเปรียบด้วยของดำและของขาว ฉะนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งต้นหน.

อนึ่ง ต้นหนย่อมลั่นกุญแจที่เข็มทิศ ด้วยคิดว่า 'ใคร ๆ อย่าได้แตะต้องเข็มทิศ' ฉะนี้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องลั่นกุญแจ คือ ความสำรวมจิตด้วยคิดว่า 'ท่านอย่าได้ตรึกอกุศลวิตกอันลามกอะไร ๆ, ฉะนี้ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งต้นหน.

แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่า
"ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าตรึกถึงอกุศลวิตกทั้งหลายอันลามก คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ดังนี้."

ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งคนกระทำการงาน เป็นไฉน?"

ถ. "ขอถวายพระพร คนกระทำการงานย่อมคิดอย่างนี้ว่า 'เราเป็นลูกจ้าง กระทำการงานด้วยเรือนี้ เราจะได้ค่าจ้างและเบี้ยเลี้ยงด้วยการนำเรือนี้ไป เราไม่ควรจะกระทำความประมาท เราต้องนำเรือนี้ไปด้วยความไม่ประมาท ฉะนี้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องคิดอย่างนี้ว่า 'เราเมื่อพิจารณากายอันประกอบด้วยมหาภูตทั้งสี่นี้ จักเป็นผู้ไม่ประมาทเนือง ๆ มีสติเข้าไปตั้งอยู่แล้ว ระลึกรู้ทั่วพร้อมมีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์อันเดียว ก็จักพ้นจากชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย เพราะฉะนั้น เราควรจะกระทำความไม่ประมาท' ฉะนี้ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งคนกระทำการงาน.

แม้พระสารีบุตรเถระผู้ธรรมเสนาบดี ก็ภาสิตไว้ว่า:-
"ท่านทั้งหลายจงพิจารณากายนี้ จงกำหนดรู้บ่อย ๆ; เพราะว่า ท่านทั้งหลายเห็นความเป็นเองในกายแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ ดังนี้."

ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์ห้าประการแห่งมหาสมุทร เป็นไฉน?"

ถ. "ขอถวายพระพร มหาสมุทรไม่ปะปนด้วยซากศพอันตายฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่ปะปนด้วยเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ความลบหลู่คุณท่าน ความยกตนข่มท่าน ความริษยา ความตระหนี่ มายา ความโอ่อวด ความโกง ความไม่สม่ำเสมอ ความประพฤติชั่วด้วยไตรทวารฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งมหาสมุทร.

อนึ่ง มหาสมุทรทรงไว้ซึ่งขุมแก้วมีอย่างต่าง ๆ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ ศิลามีสีดุจสังข์ แก้วประพาฬ แก้วผลึก ย่อมปกปิดไว้ มิได้เรี่ยรายในภายนอก ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรได้รัตนะ คือ คุณมีอย่างต่าง ๆ คือ มรรค ผล ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ วิปัสสนา อภิญญา ก็ต้องปกปิดไว้ มิได้นำออกภายนอก ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งมหาสมุทร.

อนึ่ง มหาสมุทรย่อมอยู่ร่วมด้วยภูตใหญ่ ๆ ทั้งหลาย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องอยู่อาศัยพรหมจารีบุคคล ผู้กัลยาณมิตร ผู้มีความปรารถนาน้อย ผู้สันโดษ ผู้กล่าวคุณอันขจัดกิเลส ผู้ประพฤติขูดเกลากิเลส ผู้สมบูรณ์ด้วยมรรยาท ผู้มีความละอายต่อบาป ผู้มีศีลเป็นที่รัก ผู้ควรเคารพ ผู้ควรสรรเสริญ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งมหาสมุทร.

อนึ่ง มหาสมุทรแม้เต็มรอบแล้วด้วยแสนแห่งแม่นํ้าทั้งหลาย มีคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี อันเต็มแล้วด้วยน้ำใหม่ และไม่เต็มด้วยธารน้ำทั้งหลายในอากาศ ไม่เป็นไปล่วงแดนของตน ฉันใด โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่แกล้งก้าวล่วงสิกขาบท เพราะเหตุแห่งลาภสักการะ ความสรรเสริญ การกราบไหว้ การนับถือ การบูชา แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งมหาสมุทร.

แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ตรัสไว้ว่า:-
"มหาสมุทรมีธรรมดาตั้งอยู่แล้ว ย่อมไม่เป็นไปล่วงแดนฉันใด, สิกขาบทใด อันเราบัญญัติแล้วแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลายของเราก็มิได้ก้าวล่วงสิกขาบทนั้น แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ฉันนั้น ดังนี้."

อนึ่ง มหาสมุทรย่อมไม่เต็มรอบด้วยแม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ทั้งหลายซึ่งมีนํ้าไหลมาแต่ที่ทั้งปวง และไม่เต็มด้วยธารน้ำในอากาศ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร แม้ฟังอยู่ซึ่งอุทเทส ปริปุจฉา การฟัง การทรงจำ วินิจฉัย อภิธรรม วินัย สุตันตะ วิเคราะห์ย่อบท ต่อบท วิภาคบท ชินศาสน์อันประเสริฐมีองค์เก้าก็มิได้อิ่ม ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งมหาสมุทร.

แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาติเทพ ก็ได้ทรงภาสิตไว้ในมหาสุตโสมชาดกว่า:-
"บัณฑิตทั้งหลายเหล่านี้ ฟังคำที่เป็นสุภาสิตก็มิได้อิ่ม คำที่เป็นสุภาสิตเปรียบเหมือนไฟไหม้หญ้าและไม้ ย่อมไม่อิ่ม หรือเปรียบเหมือนสาครก็ไม่อิ่มด้วย แม่นํ้าทั้งหลาย ดังนี้."

หัวข้อประจำลาวุลตาวรรคนั้น

เถานํ้าเต้าหนึ่ง บัวหนึ่ง พืชหนึ่ง ไม้ขานางหนึ่ง เรือหนึ่ง สมอเรือหนึ่ง เสากระโดงหนึ่ง ต้นหนหนึ่ง คนทำการงานหนึ่ง มหาสมุทรหนึ่ง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าวรรค.

อ่านต่อ