เมณฑกปัญหา วรรคที่หนึ่ง
๕. สิวิราชจักขุทานปัญหาที่ ๕
ร. "พระผู้เป็นเจ้า ท่านทั้งหลายกล่าวแล้วอย่างนี้ว่า 'จักษุทั้งหลายอันพระเจ้าสิวิราชได้พระราชทานแล้วแก่ยาจก, ทิพยจักษุทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วใหม่แก่พระเจ้าสิวิราชนั้น เมื่อเป็นบุคคลบอด.' คำแม้นั้นกับทั้งการเป็นไปด้วยนิคคหะ เป็นไปกับด้วยโทษ.
คำท่านกล่าวไว้แล้วในสูตรว่า 'ความเกิดขึ้นแห่งทิพยจักษุ ไม่มีในสิ่งที่มิใช่วัตถุมีเหตุอันถอนขึ้นมิได้มีเหตุ.' ถ้าจักษุทั้งหลายอันพระเจ้าสิวิราชได้พระราชทานแล้วแก่ยาจก, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ทิพยจักษุทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วใหม่' นั้นผิด. ถ้าทิพยจักษุทั้งหลาย เกิดขึ้นแล้วไซร้, ถ้าอย่างนั้น แม้คำที่ว่า 'จักษุทั้งหลายอันพระเจ้าสิวิราชพระราชทานแล้วแก่ยาจก' นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้ มีเงื่อนสอง มีขอดยิ่งแม้กว่าขอดโดยปกติ, มีความฟันเบ้อยิ่งแม้กว่าฟันเบ้อโดยปกติ, เป็นชัฏยิ่งแม้ว่าชัฏโดยปกติ, ปัญหานั้นมาถึงพระผู้ เป็นเจ้าแล้ว, พระผู้เป็นเจ้าจงยังฉันทะให้เกิดยิ่งในปัญหานั้น เพื่อความขยาย เพื่อความข่มปรัปปวาททั้งหลายเสีย."
ถ. "ขอถวายพระพร จักษุทั้งหลายอันพระเจ้าสิวิราชพระราชทานแล้วแก่ยาจก, พระองค์อย่ายังความสงสัยให้เกิดขึ้นในข้อนั้นเลย; อนึ่ง จักษุทั้งหลายเป็นทิพย์เกิดขึ้นแล้วใหม่, พระองค์อย่ายังความสงสัยให้เกิดในข้อแม้นั้น."
ร. "เออก็ ความเกิดขึ้นแห่งทิพยจักษุ ในสิ่งที่มีเหตุอันถอนขึ้นแล้วในสิ่งที่ไม่มีเหตุ ไม่มีวัตถุหรือ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "หามิได้ ขอถวายพระพร."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า สิ่งไรเป็นเหตุในเรื่องนี้เล่า ทิพยจักษุจะเกิดขึ้นในสิ่งมีเหตุอันถอนขึ้นแล้ว ไม่มีเหตุ ไม่มีวัตถุ ด้วยเหตุไรเล่า ? พระผู้เป็นเจ้าจงให้ข้าพเจ้าทราบชัดในเรื่องนี้โดยเหตุก่อน."
ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลผู้กล่าวคำจริงทั้งหลาย ย่อมกระทำสัจจกิริยาด้วย คำสัตย์ใด คำสัตย์นั้นมีอยู่ในโลกหรือไม่ ขอถวายพระพร."
ร. "มีซิ พระผู้เป็นเจ้า ธรรมดาคำสัตย์ย่อมมีในโลก, ผู้กล่าวคำสัตย์ทั้งหลาย ทำสัจจกริยาด้วยคำสัตย์ให้ฝนตก ให้ไฟดับ กำจัดยาพิษ ย่อมกระทำกิจที่จะพึงกระทำต่าง ๆ แม้อย่างอื่นบ้าง."
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ทิพยจักษุทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วแด่พระเจ้าสิวิราชด้วยกำลังสัจจะ' นี้ ย่อมชอบ ย่อมสม, ทิพยจักษุย่อมเกิดขึ้นในสิ่งไม่มีวัตถุนั้น ด้วยกำลังแห่งสัจจะ, สัจจะนั้นเทียว เป็นวัตถุเพื่อความเกิดทิพยจักษุ ในสิ่งที่ไม่มีวัตถุนั้น.
ขอถวายพระพร ผู้สำเร็จสัจจะเหล่าใดเหล่าหนึ่ง พรํ่าขับคำสัตว์ว่า 'เมฆใหญ่จงให้ฝนตก' ดังนี้, เมฆใหญ่ให้ฝนตกพร้อมด้วยความพรํ่าขับคำสัตย์ของผู้สำเร็จสัจจะ เหล่านั้น; เออก็ มหาเมฆให้ฝนตกด้วยเหตุใด เหตุนั้น เป็นเหตุแห่งฝนสะสมอยู่แล้ว มีในอากาศหรือ ขอถวายพระพร."
ร. "หามิได้สัจจะนั้นเทียวเป็นเหตุ อากาศนั้นเพื่อความที่มหาเมฆจะกระทำฝนให้ตก พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร ข้อนั้นฉันใด, เหตุโดยปกติของความที่ทิพยจักษุจะเกิดขึ้นนั้นไม่มี, สัจจะนั้นเทียว เป็นวัตถุเพื่อความที่ทิพยจักษุเกิดขึ้นในสิ่งที่ไม่มีวัตถุ ก็ฉันนั้น นั้นเทียวแล.
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง ผู้สำเร็จสัจจะพวกใดพวกหนึ่งพรํ่าขับคำสัตย์ ด้วยตั้งใจว่า 'กองไฟใหญ่ที่โพลงชัชวาลอยู่แล้ว จงกลับคืนดับไป' ดังนี้, กองไฟใหญ่ที่โพลงชัชวาลแล้ว กลับคืนดับไปโดยขณะหนึ่ง พร้อมด้วยความพรํ่าขับคำสัตย์ของ ผู้สำเร็จสัจจะเหล่านั้น, เออก็ กองไฟใหญ่ที่โพลงชัชวาลแล้วกลับคืนดับไปโดยขณะหนึ่งโดยเหตุใด เหตุนั้น เป็นเหตุสะสมอยู่ในกองไฟใหญ่ที่โพลงชัชวาลแล้วนั้น มีอยู่หรือ ขอถวายพระ."
ร. "หามิได้ สัจจะนั้นเทียว เป็นวัตถุในสิ่งที่ไม่มีวัตถุ เพื่อความที่กองไฟใหญ่ โพลงชัชวาลแล้วนั้นจะกลับคืนดับไป."
ถ. "ขอถวายพระพร ข้อนั้นฉันใด, เหตุโดยปกติของความที่ทิพยจักษุจะเกิดขึ้นนั้นไม่มี, สัจจะนั้นเที่ยวเป็นวัตถุในที่ไม่มีวัตถุ เพื่อความที่ทิพยจักษุจะเกิดขึ้น ฉันนั้น นั้นเที่ยวแล.
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง ผู้สำเร็จสัจจะเหล่าใดเหล่าหนึ่ง พรํ่าขับคำสัตย์ ด้วยตั้งใจว่า 'พิษแรงกล้า จงกลายเป็นยาไป,' พิษแรงกล้ากลายเป็นยาไปโดยขณะหนึ่ง พร้อมด้วยความพรํ่าขับคำสัตย์ของผู้สำเร็จสัจจะเหล่านั้น, เออก็ พิษอันแรงกล้ากลายเป็นยาไปโดยขณะหนึ่งด้วยเหตุอันใด เหตุนั้น เป็นเหตุสะสมในพิษอันแรงกล้านั้น มีอยู่หรือ ขอถวายพระพร."
ร. "หามิได้ พระผู้เป็นเจ้า สัจจะนั้นเทียว เป็นเหตุในสิ่งที่ไม่มีเหตุนั้น เพื่อความกำจัดคืนพิษแรงกล้าโดยขณะ."
ถ. "ขอถวายพระพร ข้อนี้ฉันใด สัจจะนั้นเทียว เว้นเหตุโดยปกติ เป็นวัตถุใน ข้อนี้ เพื่อความที่ทิพยจักษุจะเกิดขึ้น ฉันนั้นโดยแท้.
ขอถวายพระพร วัตถุอื่นเพื่อความแทงตลอดอริยสัจจะทั้งหลาย แม้สิไม่มี, การกบุคคลทั้งหลาย กระทำสัจจะให้เป็นวัตถุ แทงตลอดตรัสรู้อริยสัจจะทั้งหลายสี่ประการ.
ขอถวายพระพร มีพระเจ้าจีนราชอยู่ในจีนวิสัย พระองค์ใคร่จะทรงกระทำพลีกรรมในทะเลใหญ่ ทรงกระทำสัจจะกิริยาแล้วเสด็จเข้าไปในภายในมหาสมุทรโยชน์หนึ่ง โดยรถเทียมแล้วด้วยราชสีห์สี่เดือนเสด็จครั้งหนึ่ง ๆ, ห้วงแห่งนํ้าใหญ่ข้างหน้าแห่งศีรษะรถของพระเจ้าจีนราชนั้นเท้อกลับ, เมื่อพระองค์เสด็จออกแล้ว ห้วงแห่งมหาวารีท่วมเต็มที่ดังเก่า, เออก็ มหาสมุทรนั้น อันโลกแม้กับทั้งเทพดาและมนุษย์อาจให้เท้อกลับ,ได้หรือ ขอถวายพระพร."
ร. "น้ำในสระน้อย ๆ อันโลกแม้ทั้งเทวดาและมนุษย์ไม่อาจเพื่อจะให้เท้อกลับได้ ด้วยกำลังแห่งกายปกติเลย, จะป่วยกล่าวอะไรถึงความกระทำน้ำในมหาสมุทรให้เท้อกลับเล่า พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร เพราะเหตุแม้นี้ พระองค์พึงทรงทราบกำลังของสัจจะ, สถานใดที่ใคร ๆ จะพึงถึงด้วยสัจจะไม่ได้ สถานนั้นย่อมไม่มี ขอถวายพระพร.
อนึ่ง พระเจ้าอโศกราชในเมืองปาฏลิบุตร อันชาวนิคมและชาวชนบท และอมาตย์น้อยและราชกัฏหมู่พลและมหาอมาตย์ทั้งหลาย แวดล้อมเป็นราชบริวาร ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำคงคาสมบูรณ์ด้วยนํ้าใหม่เต็มเสมอขอบ เต็มเปี่ยมไหลไปอยู่ จึงตรัสกะอมาตย์ทั้งหลายอย่างนี้ว่า 'พนาย ผู้ใด' ใคร ๆ ซึ่งสามารถจะยังคงคาใหญ่นี้ให้ไหลกลับทวนกระแสได้ มีหรือ,ไม่.'
อมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า 'ขอเดชะปกเกล้าปกกระหม่อม ข้อซึ่งจะกระทำคงคาใหญ่นี้ให้ไหลกลับทวนกระแสนั้น ยากที่ใคร ๆ จะกระทำได้.
นางคณิกาชื่อว่าพินทุมดี ยืนอยูริมฝังแม่น้ำคงคานั้นนั่นเที่ยว ได้ฟังแล้วว่า 'ได้ยินว่า พระมหากษัตริย์ตรัสแล้วอย่างนี้ว่า 'ใคร ๆ อาจเพื่อจะยังแม่น้ำคงคาใหญ่นี้ให้ไหลกลับทวนกระแสได้หรือไม่.' นางพินทุมดีนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า 'ข้าพเจ้านั้นเทียว เป็นนางคณิกา อาศัยซึ่งรูปเป็นอยู่ มีการเลี้ยงชีพด้วยกรรมอันเลว ในเมืองปาฏลิบุตรนี้, พระมหากษัตริย์จงทอดพระเนตรสัจจกิริยาของข้าพเจ้าก่อน.' พระมหากษัตริย์จง ทอดพระเนตรสัจจกิริยาของข้าพเจ้าก่อน.' ลำดับนั้น นางพินทุมดีนั้นได้กระทำสัจจกิริยาแล้ว. เมื่อประชุมแห่งชนหมู่ใหญ่เห็นอยู่ คงคาใหญ่นั้นทวนไหลกลับทวนกระแส โดยขณะพร้อมด้วยสัจจกิริยาของนางพินทุมดีนั้น.
ลำดับนั้น พระเจ้าอโศกราชได้ทรงฟังเสียงพิลึกกึกก้อง อันกำลังแห่งคลื่นในวังวนให้เกิดแล้วในคงคาใหญ่ จึงมีความพิศวง เกิดอัศจรรย์ขึ้นในพระหฤทัย ตรัสถามอมาตย์ทั้งหลายว่า 'พนาย คงคาใหญ่นี้ไหลทวนกระแสได้เพราะเหตุไร?,
อมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า 'ขอเดชะปกเกล้าปกกระหม่อม นางคณิกาชื่อ พินทุมดี ได้ฟังพระราชโองการของพระองค์แล้ว ได้กระทำสัจจกิริยา, คงคาใหญ่ไหลขึ้น ไปในเบื้องบน ด้วยสัจจกิริยาของนางพินทุมดีนั้น.'
ลำดับนั้น พระเจ้าอโศกราชสลดพระหฤทัย รีบเสด็จไปเอง แล้วจึงตรัสถามนางคณิกานั้นว่า 'นางสาวใช้ได้ยินว่า แม่น้ำคงคานี้เจ้าให้ไหลทวนกระแสแล้วด้วยสัจจกิริยาของเจ้า จริงหรือ?
นางพินทุมดีทูลว่า 'พระพุทธเจ้าข้า คงคาใหญ่นี้ไหลทวนกระแสด้วยสัจจกิริยา ของหม่อมฉัน'
พระเจ้าอโศกราชตรัสถามว่า 'อะไรเป็นกำลังของเจ้าในสัจจกิริยานั้น, หรือใคร ที่ไม่ใช่บ้าจะเชื่อถือคำของเจ้า, เจ้ากระทำแม่น้ำคงคาใหญ่นี้ให้ไหลทวนกระแสด้วย กำลังอะไร?'
นางพินทุมดีทูลว่า 'หม่อมฉันกระทำคงคาใหญ่นี้ให้ไหลทวนกระแสแล้วด้วย กำลังแห่งสัจจะ พระพุทธเจ้าข้า.'
พระเจ้าอโศกราชตรัสว่า 'กำลังแห่งสัจจะอะไร จะมีแก่เจ้าผู้เป็นโจร เป็นหญิงนักเลง ไม่มีสติ มีหิริอันขาดแล้ว เป็นหญิงลามกทำลายแดนเสียแล้ว ล่วงเกินปล้นชนตาบอด.'
นางพินทุมดีกราบทูลว่า 'ขอเดชะปกเกล้าปกกระหม่อม หม่อมฉันเป็นหญิง เช่นนั้นจริง, หม่อมฉันจะปรารถนา พึงเปลี่ยนโลกแม้กับทั้งเทวดา ด้วยสัจจกิริยาอันใด, สัจจกิริยานั้นของหม่อมฉันแม้เช่นนั้นมีอยู่.'
พระเจ้าอโศกราชตรัสถามว่า 'สัจจกิริยานั้นเป็นอย่างไรเล่า ? เชิญเจ้าเล่าให้เราฟัง.'
นางพินทุมดีทูลว่า 'ขอเดชะปกเกล้าปกกระหม่อม บุรุษใดเป็นกษัตริย์หรือ เป็นพราหมณ์หรือเป็นแพศย์หรือเป็นศูทร หรือเป็นบุรุษอื่นใคร ๆ ให้ทรัพย์แก่หม่อมฉัน หม่อมฉันบำรุงบุรุษทั้งหลายเหล่านั้นเสมอกันเป็นอย่างเดียว, ความแปลกว่า กษัตริย์ไม่มี ความดูหมิ่นว่าศูทรไม่มี, หม่อมฉันพ้นจากความเอ็นดูและปฏิฆะ บำเรอบุรุษผู้เป็นเจ้าของแห่งทรัพย์, หม่อมฉันทำคงคาใหญ่นี้ให้ไหลทวนกระแส แล้วด้วยสัจจกิริยาใด, สัจจกิริยานี้เป็นสัจจะของหม่อมฉัน' ดังนี้.
ขอถวายพระพร ชนทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ในสัจจะแล้ว ซึ่งจะไม่ได้ประโยชน์หน่อยหนึ่งหามิได้ ด้วยประการฉะนี้. พระเจ้าสิวิราชได้พระราชทานจักษุทั้งหลายแก่ยาจก ด้วยทิพยจักษุทั้งหลายเกิดขึ้นด้วย, ก็แหละ ความที่ทิพยจักษุเกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเพราะสัจจกิริยา. ก็คำอันใดที่ท่านกล่าวไว้ในพระสูตรว่า 'ครั้นเมื่อมังสาจักษุฉิบหายแล้ว ความที่ทิพยจักษุจะเกิดขึ้นในสถานไม่มีเหตุ ไม่มีวัตถุ, ดังนี้ คำนั้นท่านหมายเอาจักษุสำเร็จ แล้วด้วยภาวนากล่าวแล้ว ขอถวายพระพร. บรมบพิตรจงทรงจำไว้ซึ่งความข้อนี้ ด้วยประการอย่างนี้,' ดังนี้.
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้า ปัญหาพระผู้เป็นเจ้าแก้ดีแล้ว, นิคคหธรรมพระผู้เป็นเจ้าแสดงออกดีแล้ว, ปรับปวาททั้งหลาย พระผู้เป็นเจ้ายํ่ายีแล้ว, ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านี้ สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ารับรองอย่างนั้น."