ทักษะการเตะตะกร้อ ข้ามตาข่าย
๑. การโหม่งลูก
การโหม่งลูก คือ การเล่นลูกด้วยหน้าผาก ขณะที่ลูกกำลังลอยอยู่ในอากาศ เป็นการเล่นที่ได้เปรียบกว่า การเล่นลูกด้วยเท้า การโหม่งที่ดีนั้น ต้องโหม่งให้ลูกลงสู่พื่้น ทั้งนี้เพื่อบังคับ ให้ลูกได้เข้าสู่ วิถีทางการเล่น โดยเร็ว ไม่เป็นการล่าช้าเหมือนการ โหม่งลูกให้ลอยอยู่ในอากาศ การที่จะทำได้เช่นนี้ต้องปฏิบัติ คือ
- ตา จ้องที่ลูกจนกว่าจะได้โหม่งไปแล้ว
- วิ่ง มาแล้วกระโดดพุ่งขึ้นให้สูงที่สุดเท่าที่จะสูงได้ โดยเท้าทั้งสองเหยียดตรง แขนทั้งสอง กางห้อย อยู่ข้างลำตัว
- เกร็งคอ ยื่นหน้าออก ใช้หน้าผากตรงที่ติดกับผมกระแทกลูก พร้อมกันนี้ ให้งุ้มคาง กดลูกลงสู่พื้น ด้วยหน้าผาก
- ในการที่จะให้ลูกไปทางขวา หรือซ้ายตามต้องการนั้น ให้เอี้ยวคอไปทางที่ต้องการ ขณะที่ลูกถูก หน้าผาก
วิธีฝึก
- หัดโหม่งเลี้ยงลูก ด้วยหน้าผาก ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องกระโดด เมื่อชำนาญแล้ว ให้เอาลูกตะกร้อ แขวนไว้ให้สูง เท่าที่ต้องการ แล้วหัดวิ่งมากระโดดโหม่ง ด้วยท่าทางที่ถูกต้อง จนชำนาญแล้ว ให้มี ผู้โยนลูก ให้กระโดดโหม่ง ตรงไปข้างหน้า ไปทางซ้าย หรือทางขวา
- เมื่อชำนาญแล้ว ให้มีผู้จับเตะส่งมาให้ แล้วโต้กลับไปด้วยลูกโหม่ง
- วิ่งโหม่ง โดยให้คนหนึ่งโยนให้ โดยวิ่งกลับไปกลับมา
- พุ่งโหม่งโดยการนั่งยอง ๆ และสูงขึ้นจนโหม่งจากท่าอื่นหรือวิ่ง
๒. การเตะลูกหลังเท้า
- ตามองดูลูก
- ปลายเท้างุ้ม ข้อเท้าตึง
- เหวี่ยงเท้าเตะแค่ตะโพก
- เตะลูกด้วยหลังเท้า ลำตัวโน้มไปข้างหน้า เวลาเตะไปแล้ว ปลายเท้าชี้ไปตามทางที่จะให้ลูกไป
๓. การเตะลูกอากาศ หรือ การเตะลูกวอลเลย์
การเตะลูกนี้ เตะได้ทั้งผู้ที่เล่นแดนหน้า และแดนหลัง การเตะลูกอากาศเตะได้ ๒ อย่างคือ ลูกมาตรงหน้า และลูกมาข้าง ๆ
ลูกมาตรงหน้า
- ปล่อยลูกให้ลงต่ำ
- เหวี่ยงเท้าเป็นท่อน ใช้หลังเท้าเตะลูก ปลายเท้างุ้ม เข่ายึด ข้อเท้าตึง
- โน้มตัวไปข้างหน้า เพื่อไม่ให้ลูกโด่ง แต่กะให้ลูกเฉียดตาข่าย
- แขนเหวี่ยงให้สัมพันธ์กับขา
ลูกที่มาข้าง
- ปล่อยให้ลูกลงได้ระดับสะเอว
- ตวัดเท้าไปข้าง ๆ ให้เป็นเส้นตรงขนานกับพื้น
- ใช้หลังเท้าเตะลูก และตวัดลูกลงสู่พื้น เพื่อให้ลูกเลียด
วิธีฝึก
การเตะลูกอากาศนี้ ยากมาก เพราะมักจะเตะผิด หรือ ผิดจังหวะ ถ้าเตะผิดจังหวะ จะเจ็บมาก ต้องฝึก ให้ชำนาญ โดยเริ่มไปจาก การจับเตะก่อน ต่อไปจึงหัดเตะจากลูกที่มีผู้โยนให้ และเตะค่อย ๆ ก่อน
๔. การเตะลูกตาม เป็นการเตะลูกที่เคลื่อนอยู่ เพื่อให้ไปตามทิศทางเดิม
- เข้าทางหลังลูก ให้ลูกและเราอยู่ในเส้นตรงอันเดียวกัน ตามองดูลูกที่กำลังลอยไป
- น้ำหนักตัวโน้มไปข้างหน้า เหวี่ยงขาที่ตะโพก เหมือนเตะด้วยหลังเท้า
- ปล่อยให้ลูกลอยมาในระดับเท้าที่เป็นหลักจึงเตะ เตะลูกด้วยหลังเท้า
๕. การเตะลูกกลับหลัง
มีวิธีเตะดังนี้ ตาจับดูลูกตลอดเวลา ขณะลูกลอยมาในอากาศ ปล่อยให้ลูกตะกร้อเลยตัวไป นิดหน่อย แล้วให้ เท้า (หลังเท้า) เตะลูกให้กลับไป ปลายเท้าเชิดขึ้นมากๆ เกือบงอ ตัวเอนไปข้างหลังมาก น้ำหนักตัว อยู่ทางเท้าหลัง