ตะกร้อข้ามตาข่าย (ตามกติกาเดิม)

๑. สนามแข่งขันตะกร้อ

เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่ในร่มหรือกลางแจ้งก็ได้ แต่จากพื้นสนามสูงขึ้นไป อย่างน้อย ๕.๑๘ เมตร และ เขตนอกสนามอย่างน้อยด้านละ ๑.๘๒ เมตร ต้องไม่มีสิ่งกีดขวางใดๆ สนามยาว ๑๓.๔๒ เมตร กว้าง ๖.๑๐ เมตร เส้นสนามด้านยาวสองข้าง เรียก"เส้นข้าง" ด้านกว้างสองเส้น เรียก"เส้นหลัง"

ตาข่าย

ถักด้วยด้ายสีดำหรือสีน้ำตาลแก่ กว้างตั้งแต่ ๐.๗๖ เมตรถึง ๑.๒๒ เมตร ส่วนยาวจดเส้นข้างทั้งสองข้าง ส่วนสูงของตาข่าย ตรงกึ่งกลางสนามพ้นจากพื้นดิน ถึงขอบตาข่าย ๑.๕๒ เมตร และที่เสา สูง ๑.๕๕ เมตร

๒. วิธีเล่น

๑. ก่อนเริ่มเล่นต้องมีการเสี่ยงทาย ผู้ชนะในการเสี่ยงเป็นฝ่ายเลือกแดน หรือเลือกส่งลูก

๒. ผู้เล่นชุดละ ๒ หรือ ๓ คน ถ้าผู้เล่นชุดละ ๓ คน ให้เป็นแนวหน้า ๒ คน แนวหลัง ๑ คน ผู้เล่น เปลี่ยนที่กันได้ แต่จะเปลี่ยนเพื่อรับลูกส่งไม่ได้

๓. เซทหนึ่งมี ๓ หรือ ๕ เกม เมื่อหมดเกมหนึ่งๆให้เปลี่ยนแดน

หมายเหตุ :

โดยปกติ แข่งกัน ๒ เกม ถ้าเสมอกันแข่งเกมที่ ๓

ในการแข่งขันเกมที่ ๓ ซึ่งถ้าแข่งชุดละ ๓ คน ต้องเปลี่ยนแดนเมื่อ ๑๐ แต้ม

ในการแข่งขันเกมที่ ๓ ซึ่งถ้าแข่งชุดละ ๒ คน ต้องเปลี่ยนแดนเมื่อ ๘ แต้ม

ในการแข่งขันเกมที่ ๓ ซึ่งถ้าแข่งชุดเดี่ยว ต้องเปลี่ยนแดนเมื่อ ๖ แต้ม

ในเกมแรก ฝ่ายที่ไม่ได้เลือกแดนเป็นฝ่ายส่งลูกก่อน เกมต่อๆ ไป ผลัดกันเริ่มส่งลูก

๕. การส่งลูกแรกของเกม ฝ่ายที่ส่งลูกก่อนส่งได้เพียงคนเดียว ครั้นหมดสิทธิ์ส่ง จึงเปลี่ยนให้อีกฝ่ายหนึ่ง ส่งได้สองคน ต่อจากนั้นให้ส่งได้ทุกคนตามลำดับ

๖. การส่งลูก ต้องเริ่มจากคนที่อยู่ในถิ่นส่งข้างขวาก่อนทุกคราว ขณะส่งลูกเท้าของผู้ส่งเหยียบ หรือ เหยียบล้ำเส้นหน้าไม่ได้ ถ้าเหยียบหรือเหยียบล้ำเส้น ถือเป็น "ลูกตาย" เปลี่ยนผู้ส่ง

๗. ทุกคราวที่ส่งลูกต่อ ต้องเปลี่ยนถิ่นส่ง

๘. ขณะส่งลูก ผู้ส่งต้องอยู่ในถิ่นส่งจับลูกโยน แล้วใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย นอกจากปลายแขนส่งลูก ข้ามตาข่ายไปยัง "ถิ่นรับ" ที่ทแยงตรงข้าม ผู้ส่งถูกลูกได้ไม่เกิน ๑ ครั้ง และต้องโยนลูกส่งได้ ไม่เกินระดับเข็มขัด

๙. ถ้าส่งลูกกระทบตาข่าย แล้วตกในถิ่นรับ (ที่ถูกต้อง) หรือถูกผู้รับ (ที่ถูกต้อง) ให้ส่งใหม่ ถ้าเกิดขึ้นอีก ถือเป็นลูกตาย ต้องเปลี่ยนส่ง

๑๐. คนแนวหน้า ที่อยู่ในถิ่นรับที่ถูกต้อง หรือคนแนวหลังเป็นผู้รับลูกส่ง คนแนวหลังนี้ ต้องอยู่ในถิ่นรับ ที่ถูกต้องเช่นกัน

๑๑. ผู้รับหรือผู้โต้ถูกลูกได้เพียง ๒ ครั้ง

๑๒. ผู้โต้โต้ลูกไปถูกตาข่ายแต่ยังไม่ข้ามตาข่าย ถือว่าผู้นั้นมีสิทธิเล่นลูกนั้นต่อไปจนครบ ๒ ครั้ง

๑๓. ลูกตกดิน ถือเป็นลูกตาย ถูกลูกออกหรือผิดถิ่น แต่ยังไม่ตกดิน ถือว่าลูกนั้นยังดี

๑๔. ระหว่างโต้ลูก ลูกกระทบตาข่าย หรือเสาตาข่าย แล้วไปตกในแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง ถือว่าลูกนั้นยังดี

๑๕. การรับลูกส่ง ถ้าเท้าของผู้รับเหยียบหรือเหยียบล้ำเส้นหน้า ถือว่า ฝ่ายส่ง "ได้คะแนน"

หมายเหตุ : ถ้าฝ่ายรับเหยียบ หรือเหยียบล้ำเส้น ทุกเส้นในถิ่นรับ ฝ่ายส่งต้องได้คะแนนด้วย เพราะถือว่า ฝ่ายรับ "ไม่อยู่ในถิ่นรับ ที่ถูกต้อง"

๑๖. ลูกส่งที่ตกผิดถิ่นรับ ถือเป็นลูกตาย และหมดสิทธิ์ส่ง

๑๗. การรับหรือโต้ลูก ฝ่ายใดหนีบหรือติดลูก หรือปลายแขนของฝ่ายใดถูกลูก ฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายทำลูกตาย

๑๘. ขณะที่ลูกยังไม่ตาย ลูกถูกร่างกายหรือเครื่องแต่งกายของผู้เล่นมากกว่าหนึ่งคน ลูกนั้นเป็น "ลูกตาย" ๑๙. ถ้าร่างกายหรือเครื่องแต่งกายของผู้เล่นคนใดถูกตาข่าย หรือล้ำแดนอีกฝ่ายหนึ่ง ถือเป็น "ลูกตาย"

ตามข้อ ๑๘ , ๑๙ ถ้าเป็นฝ่ายส่ง เสียสิทธิ์ที่จะส่งต่อในเที่ยวนั้น ถ้าเป็นฝ่ายรับต้องเสียคะแนน

๓. การนับแต้ม

๑. ฝ่ายส่งทำลูกตาย ผู้ส่งเสียสิทธิการส่ง ฝ่ายรับทำลูกตาย ฝ่ายส่งได้ ๑ คะแนน

๒. เล่นชุดละ ๓ คน ฝ่ายที่ได้ ๒๑ คะแนนก่อน ชนะในเกมนั้น ถ้า ๑๙ หรือ ๒๐ เท่ากัน เรียก "ดิวส์" เริ่มนับใหม่ ฝ่ายที่ได้คะแนน ๕ คะแนนก่อน ชนะในเกมนั้น

๓. เล่นชุดละ ๒ คน ฝ่ายที่ได้ ๑๕ คะแนนก่อนชนะในเกมนั้น ถ้า ๑๓ หรือ ๑๔ เท่ากัน เรียก "ดิวส์" เริ่มนับใหม่ ฝ่ายที่ได้ ๕ คะแนนก่อน ชนะในเกมนั้น

๔. เล่นชุดละ ๑ คน (เดี่ยว) ฝ่ายที่ได้ ๑๑ คะแนนก่อน ชนะในเกมนั้น ถ้าได้ ๙ หรือ ๑๐ เท่ากัน เรียก "ดิวส์" เริ่มนับใหม่ ฝ่ายที่ได้ ๓ คะแนนก่อน ชนะในเกมนั้น