บททั่วไป

ผู้เล่นตะกร้อที่ดี ควรจะได้มีอดีตเป็นนักกีฬาประเภทอื่นๆ มาบ้างแล้ว จะได้รับผลดีมาก เช่น เป็นนักฟุตบอล นักปิงปอง ฯลฯ แต่ถ้าเป็นเด็ก ๆ ซึ่งไม่มีโอกาสจะเล่นฟุตบอล หรือ ปิงปอง มาก่อน หากมีอุปนิสัย ชอบกีฬา เป็นทุนอยู่แล้ว ก็มีหวังจะเล่นตะกร้อดีต่อไปได้เช่นเดียวกัน

ตะกร้อไม่ใช่กีฬาที่ฝึกยาก เพราะผู้ที่มีนิสัยรัก และชอบมากอยู่แล้ว ย่อมจะฝึก เล่นได้ดีภายใน ระยะเวลาอันสั้น และแน่นอนที่สุด ซึ่งผู้ฝึกจะไม่ต้องพลอย เหน็ดเหนื่อยหรือหนักใจ ในการแนะนำหรือร่วมวงเล่น หรือฝึกท่าที่แปลกไปอีก แต่โดยทั่วไป ผู้ที่คิดจะเล่นตะกร้อจำนวนมาก เมื่อเริ่มเล่นไปแล้ว ไม่นานนัก มักจะบังเกิดความเบื่อหน่าย ท้อถอย เสียก่อน แล้วก็เลิกราไปในที่สุด เพราะเหตุว่า ตะกร้อแข็งกระด้าง ทำให้เจ็บเท้า หรือผู้ร่วมเล่นในวง ทำให้เบื่อหน่าย เนื่องจากเตะไปแล้วก็ตาย (ตกดิน) ง่าย ๆ ไม่ตรงคู่ซึ่งอยู่ตรงข้ามกันเป็นต้น การร่วมวงกันเล่นตะกร้อ มีหัวข้อสำคัญ ที่ควรจะได้รับคำแนะนำ ในทางจิตใจ มากกว่ากีฬาประเภทอื่นๆ ของชาวต่างประเทศมาก เพราะผู้ร่วมวงในการเล่น จะต้องรู้ใจกัน และจะต้องมีส่วนรับผิดชอบไม่ให้ตะกร้อตกดินร่วมกัน การเล่นจึงจะดำเนินไปด้วยความน่าดู และไม่ตกดิน หรือตาย กีฬาตะกร้อของไทยเรา นับได้ว่าเป็นเลิศในทางจิตใจ เพราะกีฬาต่างประเทศทุกประเภท ผู้เล่นหวัง ประหัตประหาร มุ่งแพ้มุ่งชนะกัน ซึ่งผู้เล่นไม่มีใจเป็นนักกีฬาพอ ก็อาจถึงเจ็บป่วยไปในที่สุด ส่วนตะกร้อ ผู้เล่นทุกคน จำเป็นอย่างยิ่ง จะต้องถนอมจิตใจกันไว้ ด้วยการประคองการเตะลูก ของตนเอง ให้แม่น เพื่อให้ตรงคู่ ผู้ซึ่งอยู่ตรงข้าม หรืออย่างน้อย ก็ไม่ตกดินง่าย ๆ โด่งไปโด่งมา เมื่อฝ่ายหนึ่ง เตะแรงเกินไป อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องรับเพียงเบาหรือโด่งๆ ไว้ก่อน ดังนี้เป็นต้น

การเตรียมการก่อนจะเริ่มฝึกการเล่นตะกร้อ

๑. สถานที่

ควรปรับปรุงให้เรียบร้อยอยู่เสมอ และไม่มีเศษไม้ หรืออิฐ หินขรุขระ เนื้อที่ไม่ค่อยจะสำคัญมากนัก เพราะ มีเนื้อที่น้อย ก็เล่นวงเล็ก มีเนื้อที่มากก็เล่นวงใหญ่

๒. ลูกตะกร้อ

ควรเลือกสรรกาแต่ตะกร้อที่ดี กล่าวคือ ๑. น้ำหนักของลูกตะกร้อ ต้องให้เหมาะสมกับความเคยชินของเท้า ซึ่งจะต้องรับน้ำหนัก แล้วไม่เจ็บจนเกินไป ๒. ลูกตะกร้อกลมไม่เบี้ยว หรือมีขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไป เพราะตะกร้อใหญ่ทำให้สันเท้า ไม่ค่อยจะถูก ตาม ความต้องการ ๓. ต้องเป็นลูกตะกร้อที่ได้นวด หรือทำให้หวายหลวมจะมีเสียงดัง เมื่อเดาะด้วยเท้าแล้วจะทำให้รู้สึกว่า น่าเล่น กว่า ลูกที่แข็ง กระด้าง โดยไม่ได้รับการนวด หรือทำให้หลวมเลย

๓. จิตใจผู้เล่น

ไม่ควรทำใจร้อน ซึ่งจะทำให้ยกเท้าเตะก่่อนลูกตกลงมา หรือยกเท้าสูงเกินไป ทำให้เซเสียหลักไป

๔. เครื่องอุปกรณ์

เพื่อป้องกันมิให้เท้าเจ็บ ควรสวมรองเท้ายาง ผ้าใบ ซึ่งมีพื้นล่าง หรือหัวรองเท้าเรียว ๆ ที่ตาตุ่ม ควรทำ สะหนับ หรือ ปลอกข้อเท้ าสวมกันเจ็บช้ำเสีย จะทำให้การเล่นได้ดีขึ้น

๕. ผู้ร่วมวงในการเล่น

๑. ไม่ควรเกิน ๕ คน และไม่ควรน้อยกว่า ๓ คน เมื่อเก่งแล้ว ๗ คนก็ได้

๒. ไม่ควรเล่น ๒ คน ๔ คน หรือ ๖ คน (เพราะจะทำให้การเตะ ไม่ค่อยตรงคู่ ผู้อยู่ตรงข้าม หรือ เบื่อหน่ายการเล่น เร็วขึ้น)

๓. การเลือกผู้เล่นที่ชำนาญ หรือเตะได้ดีแล้ว โดยเฉพาะถ้าผู้เล่นวง ๓ คน ผู้ร่วมเล่นในจำนวน ๑ ใน ๓ จะต้องเป็น ผู้ชำนาญมาก จึงจะบังเกิดผลดีในการฝึก ส่วนผู้เล่นอีกหนึ่งคน ไม่ควรที่จะเป็น ผู้ที่เริ่มฝึก ใหม่ ๆ ด้วยกัน แม้ไม่ได้ ผู้ชำนาญ ก็ควรจะพอเตะถูกลูก และไม่ค่อยจะตกดินบ่อย ๆ แล้วจะดีมากถ้า วง ๕ คน ควรใช้คนเก่งสัก ๒ คน ถ้า วง ๗ คน ต้องใช้คนเก่ง ๔ คน

หลักของการเล่นตะกร้อโดยทั่วไป

๑. ใจต้องเย็น ไม่รีบร้อนยกเท้าก่อนลูกตกลงมาหาเท้า

๒. การยกเท้า เมื่อจะเตะตะกร้อ ควรยกให้ต่ำที่สุด ไม่ควรยกให้สูงเกินไป ซึ่งจะทำให้เซ และเสียหลัก จนไม่ สามารถประคองตัว เพื่อการเตะลูกต่อไปได้อีก และจะเป็นเหตุให้ตะกร้อตกดิน

๓. ไม่ควรบิดเตะลูกทางด้านซ้ายตนเลย เป็นอันขาด เพราะนอกจากจะแย่งหน้าที่ ผู้ร่วมวงใกล้เคียงแล้ว ยังจะ ทำให้การเตะ ไม่ตรงที่หมาย หรืออาจตกดินง่าย ๆ ทั้งจะทำให้หมางใจผู้เล่นที่อยู่ใกล้เคียง โดย ไม่จำเป็นด้วย

๔. รักษาหน้าที่ในด้านขวาของตนอย่างเคร่งครัด หรือเรียกกันว่า "ขวาชิดหู"

๕. ไม่ควรวิ่งไล่เตะ ตามลูก ซึ่งวิ่งออกจากตัวไป กล่าวตามภาษานักตะกร้อก็ว่าห้าม "ไล่ลูก ตามน้ำ" ควรจะเล่น ลูกที่กำลัง จะมาหาตนเองเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะการเตะตามกระแสลูก ซึ่งวิธีวิ่งออกจากตัวนั้น หาความแน่นอนไม่ได้ และเตะยากกว่าลูก ซึ่งวิ่งมาหาตนเอง

๖. การไล่เตะลูกตะกร้อ ควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งจะเป็นคู่หนึ่ง (คู่ตรงข้าม) หรือคู่สอง (คู่ตรงข้าม ซึ่ง ยืนอยู่ถัด คู่หนึ่งไป ก็ได้)