หลักเบื้องต้นในการฝึกหัดตะกร้อ
อมูลนี้เพื่อเป็นแนวทาง ของการฝึกตั้งแต่พื้นฐาน จนถึงขั้นสูง ตลอดจนมารยาทการเข้ากลุ่ม ที่ควรรู้มี แรกเริ่มการฝึกหัด และ ประเภทของการเริ่มฝึกหัด
หลักเบื้องต้นในการฝึกหัด
ก. แรกเริ่มฝึกหัด
เมื่อได้เตรียมการตามคำแนะนำเรียบร้อยแล้ว ผู้เล่นควรมีความรู้สึกอยู่เสมอ จะทำให้เป็นนักกีฬาตะกร้อที่ดี ได้รวดเร็วขึ้น ความรู้สึกชนิดนั้น คือ ความเจียมในฝีเท้าของตน หรือกล่าวในขั้นต่อไปก็คือ ความรู้สึก ไม่ประมาทนั่นเอง ความเจียมตัวไม่ทะเยอทะยาน เข้าไปเล่นกับผู้ที่มีฝีเท้าเหนือกว่า หรือผู้ที่เขาเล่นเก่ง มานานแล้ว นอกจากจะทำให้ผู้เล่นด้วยกันนั้นนึกรังเกียจแล้ว อาจจะทำให้ผู้นั้นไม่อยากร่วมวงกับเราอีก ในโอกาสต่อๆไป จริงอยู่การเข่าร่วมเล่นวงกับผู้ที่มีฝีเท้าดีหรือเหนือกว่านั้น ย่อมเกิดประโยชน์ แก่ผู้ฝึกหัดใหม่มาก แต่ก็ควรจะรักษาจิตใจของผู้ร่วมวงเสมอๆด้วย จะบังเกิดผลสำหรับเวลาข้างหน้ามากกว่า ฉะนั้น ก่อนจะร่วมวงควรคำนึงถึงความสนุกสนาน ความเต็มใจของผู้เล่นร่วมวงทุกคนเป็นหลัก ยิ่งถ้าพร้อมใจกันตามหลักเกณฑ์ ที่ได้แนะนำไว้ตอนต้น จะได้รับผลดีที่สุด
การหัดตะกร้อใหม่ๆ ครั้งแรกควรหัดคนเดียวก่อน โดยคำแนะนำ ต่อไปนี้
นักกีฬาตะกร้อที่จะเล่นให้เก่งเร็วนั้น จะต้อง...
๑. จะต้องหัดเตะให้เหนียว กล่าวคือ เตะไม่ตาย (หรือไม่ปล่อยให้ตะกร้อตกดินโดยไม่จำเป็น)
๒. จะต้องหัดเตะให้แม่นคู่ (คือตรงคู่ผู้อยู่ตรงข้าม)
๓. จะต้องหัดเตะให้ได้ท่าสวย กล่าวคือถูกแบบ
๔. จะต้องหัดเตะให้ดีทุกท่า ตลอดจนท่าพลิกแพลงต่างๆ ด้วย
ข. ประเภทของการเริ่มฝึกหัด
การเล่นตะกร้อ แบ่งประเภทออกเพื่อสะดวกในการฝึกหัดไว้กว้างๆ ได้ ๓ ประเภท คือ
๑. การเตะตะกร้อพื้นๆ
หมายถึง การเตะตะกร้อที่ผู้ฝึกเล่นตะกร้อทุกคน อาจจะเริ่มฝึกเล่นได้ง่ายๆก่อน โดยไม่จำต้อง ฝึกสอนกันมากนัก และบางทีบางคน ก็มีท่าที่จะเล่นเป็นอยู่ก่อนแล้ว ท่าเตะตะกร้อพื้นๆ ได้แก่
- ลูกหน้าเท้า หรือเรียกง่าย ๆ ตามภาษาชาวบ้านว่า "ลูกแป"
- ลูกหลังเท้า
- ลูกเข่า
- ลูกข้าง
- ลูกโหม่ง
- ลูกไขว้
- ลูกแข้ง
๒. การเตะตะกร้อลูกหลัง
หมายถึง การเตะตะกร้อด้านหลังของผู้เตะ ให้ลูกตะกร้อกลับคืนมาข้างหน้า โดยผู้เตะไม่ต้องหันตัว หรือ หน้ากลับไปทางหลังเลย ลูกหลังเหล่านี้ ได้แก่
- ลูกหลังตบ
- ลูกส้นตรง
- ลูกข้างหลัง
- ลูกต้องสู้
- ลูกแปหลัง
- ลูกศอกหลัง (อนุโลม)
๓. การเตะตะกร้อลูกพลิกแพลงต่างๆ
ท่าเตะตะกร้อต่างๆ นอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ย่อมถือว่าเป็นลูกพลิกแพลงทั้งสิ้น เช่น
- ลูกขึ้นม้า หรือ บ่วงมือด้วย
- ลูกพับเพียบ หรือ บ่วงมือด้วย
- ลูกไขว้ด้วยหน้าเท้า
- ลูกไขว้หน้าด้วยหน้าเท้า
- ลูกไขว้เข่า
- ไขว้ตัด
- ลูกข้างบ่วงมือ
- ลูกพับเพียบหลัง หรือ บ่วงมือด้วย
- ลูกตบหลัง (บ่วงมือหลังด้วย)
- ลูกส้นตรงหลังบ่วงมือ
- ลูกไขว้บ่วงมือ
- ลูกไขว้ส้นบ่วงมือ
อนึ่ง ลูกที่ผู้เล่นเตะโดยการเตะช้ากว่าธรรมดา ปล่อยให้ลูกครูดไปตามท่าต่างๆ เราเรียกกันง่ายๆว่า เป็น ลูกพลิกแพลงได้เช่นเดียวกัน (ทั้งนี้กระทรวงธรรมการหรือกระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน เคยให้นับว่าเป็น "ลูกพลิกแพลง" มาแล้ว)