การวัดผล การแข่งขันตะกร้อ แบบไทยดั้งเดิม
เพื่อเป็นการช่วยเหลือ ให้ผู้เริ่มฝึกหัดเตะตะกร้อ ได้มีโอกาสพิสูจน์ตนเองว่า ตนเล่นตะกร้อได้ดีขึ้นเพียงใด และเล่น ได้เก่งขึ้นดีขึ้นเพียงใด พอจะจัดตนเองให้เข้ากับอันดับ สังคมกีฬาตะกร้อ ชั้นไหน ศูนย์ฝึก และแข่งขัน (กรุงเทพ ฯ) จึงกำหนดกติกาการแข่งขัน เป็นพิเศษไว้ ดังต่อไปนี้
๑. สนามแข่งขัน
ให้ใช้ที่ราบและเรียบที่สุด เท่าที่ควรจะทำได้ (โดยเฉพาะจะใช้สนาม) ร่วมกับกีฬาประเภทอื่น ๆ ได้อย่างดี คือ สนามแบดมินตัน สนามเทนนิส หรือสนามบาสเกตบอล เป็นต้น
๒. ลูกตะกร้อ
ผู้เล่นมีสิทธิ จัดหาลูกตะกร้อมาได้เอง ทีมละ ๑ ลูก น้ำหนักไม่เกิน ๑๘๐ กรัม (หากมีปัญหา การเลือกลูกตะกร้อ เมื่อมีผู้เข้าแข่งขันหลายคน ให้กรรมการผู้ตัดสิน ๑ คน ตกลงชี้ขาด จากเสียงข้างมาก ของผู้เล่น และให้เลือก ลูกสำรอง เพิ่มไว้ อีก ๑ ลูกเสมอ)
๓. การตัดสิน
- ให้มีกรรมการอย่างน้อย ๓ นาย (ประกอบด้วย ประธาน ๑ นาย และกรรมการอีก ๒ นาย)
- ปัญหาสงสัยทุกกรณี ให้ประธานเป็นผู้ชี้ขาด อุทธรณ์ไม่ได้
๔. ผู้เข้าแข่งขัน
การแข่งขันแต่ละประเภทได้กำหนดให้ผู้เข้าแข่งขันไว้ทุกประเภท ดังต่อไปนี้
ประเภทเตะทนเดี่ยว
ผู้เข้าแข่งขันคณะหนึ่ง จะแยกส่งประเภทเดี่ยว กี่คนก็ได้ (เพราะกติกานี้ มีวัตถุประสงค์ ให้นักตะกร้อ ได้มีโอกาสแข่งขัน กันเอง แม้อยู่ในคณะเดียวกันก็ตาม) การแข่งขันประเภทนี้แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ แบบลู่ และแบบลาน
๑. แบบลู่
ผู้เข้าแข่งขันจะต้องเตะตะกร้อ ไปข้างหน้าเรื่อย ๆ โดยไม่ตกดิน หรือ พื้น และไม่ออกนอกเขต ที่จำกัด ทำไว้เป็นเส้นทางตรงด้วย โดยเริ่มแรกจาก
- เตะอยู่กับที่ ใครที่เตะได้นานที่สุด จะเป็นผู้ชนะ โดยใช้การจับเวลา
- เตะทนไกล (ระยะ ๑๐ เมตร) ใครเตะลูกไปข้างหน้าได้ไกลที่สุด ชนะ (หรือใครเตะถึงเส้นชัยระยะ ๑๐ เมตรก่อน ชนะ) ใช้การจับเวลา การเตะทนไกลนี้ สำหรับผู้เข้าแข่งขัน ที่เล่นเก่งขึ้นไปแล้ว ให้ขยายระยะออก เป็น ๒๐ - ๓๐ และ ๔๐ เมตร ตามลำดับด้วย
- เตะทนวงกลม (รัศมี ๓ , ๔ และ ๖ เมตร ตามลำดับ) ผู้เข้าแข่งขันคนใด ทำเวลาในการเตะรอบวงได้น้อยที่สุด ผู้นั้นชนะ
๒. แบบลาน
ผู้เข้าแข่งขัน แต่ละคน จะต้องเตะตะกร้อให้ได้นานที่สุด ในอาณาเขตกว้างไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ตารางเมตร (ใช้การ จับเวลา)
- เตะทน (หมู่) ให้ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคน เข้าร่วมเตะตะกร้อ ซึ่งตนได้เตรียมจัดหามาเองแต่ละลูก เริ่มลงมือเตะ พร้อมกัน โดยกรรมการ ให้สัญญาณ (นกหวีด) ผู้เตะตกพื้นดินก่อน กรรมการตัดสินให้แพ้ไปทีละคน จนเหลือ คนสุดท้าย คือผู้ชนะ
- เตะทนเดี่ยว ให้ผู้เข้าแข่งขันเตะทีละคน (จะใช้เตะท่าใดก็ได้) ใครเตะได้นานที่สุด (ใช้การจับเวลา) เป็นผู้ชนะ
ประเภทเตะทนคู่
การแข่งขันประเภทนี้ ประสงค์จะให้ผู้เล่น ได้ทดสอบความแม่นยำ ในการทดสอบ การบังคับ ลูกตะกร้อ ไม่ให้ตกดินตาย และให้ผู้เล่นได้ใช้ความพยายาม โต้คู่ให้แม่นยำ รวมทั้งการสังเกตุ กระแสลูก ที่เตะ จากคู่มาหาตน ด้วย อาจมาในลักษณะ และทิศทางใด ผู้เล่นที่ชำนาญมากขึ้น ก็ไล่เตะต้อน ลูกตะกร้อ ได้ทุกลูก ทั้งการส่งลูก ก็จะตรงคู่ สวยงามน่าชมด้วย
๑. เตะทน แบบลาน
คือ คู่เตะทั้งสอง จะยืนเตะด้วยกันตามสบาย ไม่จำกัดอาณาเขต กว้างยาวเท่าใดก็ได้ สุดแต่ว่า คู่ใด จะเตะได้นานที่สุด (ใช้จับเวลา) ในโยนหนึ่ง ๆ ก็ให้กรรมการจดเวลาไว้ทุกโยน เมื่อโยนได้ครบ ๓ โยนแล้ว ให้รวมเวลาเข้าด้วยกัน คู่ใดเตะได้นานที่สุด คู่นั้นชนะ (ถ้าปรากฎว่า เตะได้เวลาเท่ากัน ให้ต่อเวลาอีกคู่ละ ๑ โยน เสมอไปจนกว่า คู่ใดจะชนะ ไปในที่สุด)
๒. เตะทนระยะต่างๆ
คือระยะรัศมี ๒ , ๓ และ ๔ เมตร ตามความเหมาะสม โดยตีเส้นเป็นวงกลม กำหนดห้าม มิให้คู่เล่นทั้งสอง เหยียบเส้น หรือล่วงล้ำ เข้าไปเตะลูกภายในวงกลม เป็นอันขาด กำหนดให้คู่หนึ่งเตะได้ ๓ โยน จับเวลาไว้ทุก ๆ โยน รวมเวลาแล้ว คู่ใดเตะได้นานที่สุด คู่นั้นชนะ (ถ้าปรากฎว่า เวลาเท่ากัน ให้ต่อเวลา ไปอีกคู่ละ ๑ โยน เสมอไปจนกว่าคู่ใดจะชนะไป ในที่สุด)
๓. เตะทนผลัด
คือ การเตะผลัดกันในคู่เดียว โดยผู้เล่นจะเตะเลี้ยงไว้ หรือผลัดกันเลี้ยง หรือจะส่งโต้กัน ก็ตามแต่ถนัด ไม่จำกัดท่าใดๆ ทั้งสิ้น คงให้กรรมการตัดสินจับเวลาไว้ คู่ใดเตะได้นานที่สุด คู่นั้นชนะ (ถ้าเวลาเท่ากัน ก็ให้ต่ออีก ๑ โยน)
๔. เตะทนผลัดระยะต่าง ๆ (แบบลู่)
คณะกรรมการจะกำหนดเส้นทางไว้ให้ คู่เตะทั้งทีม (โดยจะมีทีมละ ๒ - ๔ คนก็ได้) ส่วนระยะทางยาว ๑๐ , ๒๐ , ๔๐ เมตร ตามความเหมาะสม ซึ่งผู้เตะจะต้องเตะไปข้างหน้าเสมอ จนเมื่อได้เตะส่ง ให้ผู้เตะ อีกคนหนึ่งแล้ว จึงหมดหน้าที่ ผลัดกันเตะ ดังนี้จนครบทุกคน คณะใดเตะได้นานที่สุด คณะนั้นชนะ (ใช้การจับเวลา)
สรุป และ เสนอแนะ
กีฬาตะกร้อ มีการเล่นกันในแถบ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของโลกเท่านั้น เหตุผลก็คง เนื่องมาจาก ในดินแดนแถบนี้ มีต้นหวาย ซึ่งเป็นไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง ขึ้นมากมาย ผู้คนในแถบนี้ก็นำเอาหวายมาสาน เป็นรูปกลมๆ ใช้เตะกัน ให้อยู่ในอากาศ ให้นานที่สุด ฉะนั้น ประเทศใดในแถบนี้ จะถือว่าประเทศตน เป็นต้นกำเนิด กีฬาตะกร้อ นั้นไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะ ต้นหวายมีกันทุกประเทศ ในแถบนี้ คนพวกนี้ จึงรู้จักการนำต้นหวายมาใช้ ให้เป็นประโยชน์กันทั้งนั้น เพราะกีฬา ตะกร้อ ต้องการความว่องไว เหมาะกับคนตัวเล็ก ซึ่งฝรั่งมีร่างกายใหญ่โต จะเล่นได้ยากกว่า กีฬานี้ต้องการความอ่อนช้อย ในการเล่น เพราะประเทศนี้เป็นประเทศที่อยู่ในโซนร้อน ฉะนั้น การเคลื่อนไหว จึงเป็นไปอย่างเนิบนาบ ละมุนละไม ไม่เคลื่อนไหวรัวเเร็ว เหมือนคนในเมืองหนาว ความมุ่งหมาย ของกีฬาตะกร้อ ก็มีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง มุ่งให้ประโยชน์ แก่ผู้เข้าร่วมเป็นอย่างดี ฉะนั้น ทำอย่างไร คนจึงจะเห็นความสำคัญ ของการเล่น กีฬาตะกร้อ นำการเล่นตะกร้อไปใช้ ให้เกิดประโยชน์ แก่ตนเองและสังคมได้ ทั้งนี้ก็โดยผู้เล่น ได้มีทักษะพอสมควร ตลอดจนมีความรู้ความเข้าใจในระเบียบ วิธีการเล่น ของกีฬาตะกร้อ แต่ละประเภท มากพอสมควรเช่นกัน อย่างไรก็ดี กีฬาตะกร้อ เป็นกีฬาที่มีประโยชน์มาก เล่นได้ง่าย และเหมาะสมกับ ทุกวัย