ความมุ่งหมายของ กีฬาตะกร้อ

คนไทยส่วนมาก จะต้องชอบการเล่นตะกร้อกันทั้งนั้น แต่จะชอบมากหรือน้อย หรือหากบางท่าน จะเพียง ชอบดู หรือชอบสนับสนุนเท่านั้น ก็คงจะเป็นเพราะเบื่อหน่ายต่อการฝึก และการซ้อมเล่น ที่จะเก่งหรือ หาความชำนาญได้ยาก มากกว่ากีฬาประเภทอื่นๆ กีฬาตะกร้อใช้เล่นกันทั่วไป ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลา หรือจำกัดวัยแต่อย่างใด ความจริงกีฬาตะกร้อ เป็นเพียงกีฬาที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายของผู้เล่นเองมากกว่า อย่างน้อยก็เท่าเทียม กับนักกีฬาประเภทอื่นๆเห็นได้ชัด กล่าวคือ มีการลงทุนน้อยประหยัดกว่ากีฬา ของต่างประเทศมาก ตะกร้อลูกเดียวราคาไม่กี่บาท ก็อาจร่วมทุนร่วมวงหรือผลัดกันเข้าเล่น ได้ตั้งหลายชุด หลายสิบคน และตะกร้อก็มีความทนทาน สนามที่ใช้เล่นก็ไม่ต้องเลือกว่าจะต้องราบเรียบ หรือกว้างยาว ประการใด ถ้ารักจะเล่นก็ร่วมเล่นกันได้ง่ายๆ สุดแล้วแต่สถานที่จะอำนวยให้ ไม่จำกัดเวลาเล่น ฤดูไหนก็เล่นได้ ไม่มีอุบัติเหตุ อันตรายก็ไม่รุนแรง ส่วนประโยชน์นั้นมีมาก เช่น ช่วยให้ประสาทตาว่องไว ทรงตัวดีไม่ให้มี่ลื่นล้ม จิตใจเยือกเย็น สุขุม ให้ประโยชน์แก่ร่างกายทุกส่วน

ฉะนั้น จึงอาจสรุปความมุ่งหมายของกีฬาตะกร้อได้ ๑๕ ประการ คือ

๑. เล่นง่าย ไม่ว่าจะเป็น ตะกร้อวง ตะกร้อลอดบ่วง ตะกร้อข้ามตาข่าย เช่น ตะกร้อวง มีการเล่นที่ง่าย คือ การพยายาม เตะลูก ให้ถูก ให้สูงโด่งก็ใช้ได้

๒. ไม่จำกัดเวลา และ สถานที่

๓. ประหยัดทั้งเวลา และ ค่าใช้จ่าย

๔. ทำให้เกิดความว่องไวปราดเปรียว

๕. ทำให้เยือกเย็นสุขุมรอบคอบ

๖. ทำให้มีการตัดสินใจรวดเร็วแน่นอน

๗. ทำให้เป็นคนมีความประพฤติเรียบร้อย

๘. ทำให้มีระบบประสาทดี

๙. ทำให้มีพลานามัยแข็งแรงอายุยืน

๑๐. มีปฏิภาณไหวพริบดี

๑๑. มีความเพลิดเพลิน

๑๒. ทำให้เกิดความสามัคคี ให้แต่ละคนมีความรับผิดชอบ

๑๓. ทำให้รู้จักเข้าสังคมได้ดี ไม่เกิดความประหม่า เคอะเขิน กล้าหาญ

๑๔. รู้จักความปลอดภัยในการเล่น

๑๕. ใช้เป็นเกมนำ เพื่อนำไปสู่การเล่นกีฬาฟุตบอล ที่ดีอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ กีฬาตะกร้อยังเป็นกีฬาประจำชาติไทยอีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้น ผู้ที่เล่นกีฬานี้ จึงมีความมุ่งหมาย อีกประการหนึ่ง คือมุ่งสงวนศิลปประจำชาติไทยไว้อีกด้วย

ระเบียบการเล่น และการแข่งขันกีฬาตะกร้อ

๑. การแข่งขันกีฬาตะกร้อ มี ๕ อย่าง คือ

๑) ตะกร้อลอดห่วง

๒) ตะกร้อข้ามตาข่าย ตามกติกากีฬาแหลมทองที่เรียกว่า "เซปัค-ตะกร้อ"

๓) ตะกร้อข้ามตาข่าย ตามกติกาเดิม แยกออกเป็น ชนิด ๓ คน , ๒ คน และ ๑ คน

๔) ตะกร้อเตะทนวงใหญ่

๕) ตะกร้อเตะทนวงเล็ก

หมายเหตุ : กีฬาตะกร้อ ที่เคยมีการแข่งขันมาแล้วได้เลิกเสีย ได้แก่

- ตะกร้อเตะทนบนโต๊ะ

- ตะกร้อเลี้ยงวิ่งชิงธง

- ตะกร้อพลิกแพลง

- ตะกร้อติดส่ง

- การติดตะกร้อ

รวม ๕ อย่าง

 

๒. ลักษณะ, ขนาด และน้ำหนัก ของตะกร้อ ที่ใช้ในการแข่งขัน

คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาตะกร้อ ของเทศบาลนครกรุงเทพฯ ได้ประชุมพิจารณากันถึงเรื่องนี้ โดยพิจารณาจาก ลูกตะกร้อ ที่ใช้กันทั่วๆ ไป ปรากฎว่า

๑) ลักษณะ เป็นลูกกลม สานด้วยหวาย ระหว่าง ๖ ถึง ๑๐ เส้น (ปัจจุบันนิยม 12 เส้น)

๒) ขนาด เส้นรอบวง ตั้งแต่ ๓๘ ซม. ถึง ๔๒ ซม.

๓) น้ำหนัก อย่างต่ำ ๑๒๐ กรัม อย่างสูงไม่เกิน ๒๐๐ กรัม