ตะกร้อข้ามตาข่าย (เซปัค - ตะกร้อ)
๑. ขนาดสนาม
ดูได้จากแผนผังสนาม ส่วนตาข่ายนั้น ตรงกลางของเส้นแบ่งสนาม วัดถึงขอบบนตาข่าย ต้องสูงจากพื้น ๕ ฟุต
ตะกร้อ
สำหรับประชาชน มี ๘ - ๑๐ เส้น (ปัจจุบันนิยม ๑๒ เส้น) รอบวง ไม่เกิน ๑๗ นิ้ว ไม่น้อยกว่า ๑๖ นิ้ว น้ำหนัก ไม่เกิน ๔๐๐ กรัม (ไม่กำหนดน้ำหนักอย่างต่ำ)
๒. วิธีเล่น และผู้เล่น
แบ่งผู้เล่นเป็น ๒ ทีม ทีมละ ๓ คน ผู้เล่นทั้ง ๓ คน ไม่ได้กำหนดว่า ใครจะเล่นตำแหน่งใด เป็นแต่ กำหนดว่า ผู้เล่นคนหนึ่งต้องยืนอยู่ ในวงกลมส่งลูก อีกสองคน ยืนใกล้เส้นแบ่งสนาม ผู้ยืนด้านซ้าย เรียก "หน้าซ้าย" ผู้ยืนด้านขวา เรียก "หน้าขวา"
๓. การส่งลูก
๓.๑. การส่งลูกที่ถูกต้อง ชุดที่เลือกส่งก่อนเป็นผู้เริ่ม ชุดที่ชนะในเกมใด จะเป็นผู้ส่งลูก เพื่อเริ่มเล่นในเกม ต่อไป (ตะกร้อ เปลี่ยนเป็นลูกของอีกฝ่ายหนึ่งได้) เมื่อลูกตายในแดนของคู่ต่อสู้หรือคู่ต่อสู้ฟาวล์
๓.๒. วิธีส่งลูก ผู้ส่งลูกต้องอยู่ที่วงกลม และขณะที่ส่งลูกเท้าข้างใดข้างหนึ่งต้องอยู่ในวงกลม ผู้เล่นหน้าขวา หรือหน้าซ้ายของชุดที่จะทำการโยนลูกให้ผู้ส่งคนใดคนหนึ่ง ต้องยืนในเสี้ยวของวงกลม ในแดนของตน แล้วโยนลูกไปให้ผู้เล่นที่วงกลมส่ง เพื่อให้ผู้เล่นในวงกลมส่งตะกร้อ ไปยังแดนคู่ต่อสู้ ทั้งนี้ การโยน ต้องกระทำ หลังจาก ที่ผู้ตัดสินได้ประกาศคะแนนแล้ว (ถ้ามีการโยนก่อนประกาศคะแนน ให้สั่งโยนใหม่)
ผู้รับลูก อาจยืน ณ. ที่ใดที่หนึ่ง ภายในแดนของตนได้
๓.๓. การส่งลูกใหม่ ถ้าในการส่งลูกครั้งแรก ตะกร้อถูกตาข่ายแล้ว ตกในแดนของคู่ต่อสู้ ให้ส่งใหม่ เป็น ครั้งที่ ๒ ถ้าปรากฎขึ้นอีก ให้ส่งใหม่ได้ เป็นครั้งที่ ๓ เป็นครั้งสุดท้าย
๔. การกีดขวาง และละเมิดกติกา
ก. การกระทำโดยฝ่ายส่งลูก
๑. ผู้เล่นที่วงกลมส่ง ไม่เตะตะกร้อที่ผู้โยน ๆ ให้
๒. ขณะเตะส่งลูก ผู้เล่นที่วงกลมไม่ได้ให้เท้าข้างใดข้างหนึ่งอยู่ในวงกลม (แม้เท้าข้างใดข้างหนึ่ง อยู่ในวงกลม แล้ว แต่ขณะเตะ ส่งลูก เท้าเหยียบเส้นวงกลม ถือว่าอยู่นอกวงกลมด้วย)
๓. ขณะโยนลูก ผู้เล่นในแนวหน้า ไม่ได้ยืนในเสี้ยววงกลม หรือยืนบนเส้น
๔. ตะกร้อกระทบตายข่าย แต่ไม่ตกในแดนคู่ต่อสู้
๕. ตะกร้อกระทบตาข่าย และตกในแดนคู่ต่อสู้ แต่ออกนอกสนามเล่น
๖. ตะกร้อกระทบตาข่าย และตกในแดนคู่ต่อสู้ ตืดต่อกันถึง ๓ ครั้ง
ข. กระทำโดยฝ่ายรับ
๑. ผู้เล่นอยู่นอกสนาม
๒. เดิน และหรือ กระทำกิริยาประหนี่งยั่วคู่ต่อสู้
ค. กระทำโดยทั้งสองฝ่าย ขณะการเล่นกำลังดำเนินอยู่
๑. เหยียบเส้นแบ่งแดน
๒. ตะกร้อตกถูกพื้น ทั้งในและนอกสนาม
๓. ตะกร้อถูกมือ หรือแขน ทั้งเจตนาหรือไม่เจตนา
๔. จับลูกตะกร้อด้วยมือ หรือใช้ศอก
๕. ผู้เล่นจับตาข่าย หรือเสาตาข่าย
๖. เตะตะกร้อเกินกว่า ๓ ครั้ง ติดกันในแดนของตน
๗. ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ถูกตาข่าย (หมายรวมถึง เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ของผู้เล่นด้วย)
พิเศษ
ตามข้อตกลงร่วมกัน ศีรษะ หรือ เท้า สูงกว่าตาข่าย และ ศีรษะ หรือเท้า ล้ำข้ามตาข่าย (ไม่กระทบตาข่าย) เข้าในแดนคู่ต่อสู้ ขณะติดตามลูก ไม่ถือเป็นการละเมิดกติกา
๕. การส่งลูกสิ้นสุดลง
ถ้าผู้เล่นในฝ่ายส่งลูกละเมิดตามกติกาที่กล่าวในข้อ ๔ ทั้งหมดถือว่า การส่งลูกนั้น สิ้นสุดลง ต้องเปลี่ยน ให้อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นผู้ทำการส่งลูก
๖. คะแนน
๑. ฝ่ายรับละเมิดกติกาข้อ ๔ (ก , ข) ฝ่ายส่งได้คะแนน (คะแนนนับครั้งละ ๑ คะแนน)
๒. แต่ละเกมมี ๑๕ คะแนน
๓. ถ้าได้ ๑๓ หรือ ๑๔ คะแนนเท่ากัน เรียก "ดิวส์" ๑๓ ดิวส์ ๕ , ๑๔ ดิวส์ ๓
๔. ถ้าได้ ๑๓ หรือ ๑๔ คะแนนเท่ากัน ชุดที่ทำได้ ๑๓ หรือ ๑๔ ก่อน มีสิทธิเลือกจะเอา "ดิวส์" หรือไม่ก็ได้ ถ้าไม่เอาดิวส์ ให้เล่นต่อไปจนได้ ๑๕ (กรณีนี้ ผู้ตัดสินถามความสมัครใจ)
๕. ถ้าชนะคนละเกม ให้แข่งเกมที่ ๓
๖. ก่อนแข่งเกมสุดท้าย ยอมให้พักได้ ไม่เกิน ๕ นาที (เกมแรกต้องแข่งติดต่อกันพักไม่ได้)
๗. ก่อนแข่งเกมที่ ๒ และ ๓ ทั้งสองทีมต้องเปลี่ยนแดนกัน สำหรับในเกมที่ ๓ ต้องเปลี่ยนแดนอีกครั้ง เมื่อทำได้ ๘ คะแนน
๘. ทีมที่ชนะในการแข่งขัน
ต้องชนะ ๒ เกม ติดกัน ถ้าผลัดกันแพ้ชนะ ต้องแข่งเกมที่ ๓ ถือเป็นเกมตัดสิน แพ้ - ชนะ
๙. บาดเจ็บ
ถ้าผู้เล่นคนใดคนหนึ่ง บาดเจ็บ หรือ เป็นลม ในขณะที่การแข่งขันกำลังดำเนินอยู่ ผู้ตัดสินอาจสั่งหยุด การแข่งขันได้ ไม่เกิน ๑๐ นาที เมื่อถึงกำหนดผู้เล่นยังไม่อาจเล่นต่อได้ ยอมให้ผู้เล่นสำรอง เข้าแข่งขัน แทนได้