การฝึกไหวพริบเชิงมวย

- จุดสำคัญๆที่ควรระวัง

- ทักษะเบื้องต้น

- วิธีตั้งท่าในการต่อสู้ / การใช้หมัด / การใช้ศอก / การใช้เข่า / การใช้เท้า

เมื่อฝึกจนคล่องแคล่ว กล้ามเนื้อและประสาทเกิดความเคยชิน ในยามต่อสู้จะสามารถใช้ทักษะเหล่านี้โดยสัญชาตญาณ การฝึกออกท่าออกอาวุธบ่อยๆจึงเป็นสิ่งสำคัญ

จุดสำคัญๆที่ควรระวัง

จุดสำคัญของร่างกาย จุดสำคัญเหล่านี้เป็นจุดที่อาจทำให้บอบช้ำสลบหรือสิ้นสุดการต่อสู้ได้ง่ายขึ้น หากเราสามารถชกถูกปฏิปักษ์ในจุดเหล่านี้ได้ ฉะนั้นในการฝึกหัดชกควรพยายามมุ่งเอาจุดสำคัญเหล่านี้เป็นเป้าหมาย เพราะเพียงการชกที่ไม่มีน้ำหนักก็อาจจะทำให้ปฏิปักษ์บอบช้ำได้มาก และก็ในทำนองเดียวหากเราเป็นฝ่ายถูกชกก็ได้รับผลดุจกัน จึงเป็นจุดที่เราควรจะระวังปิดป้องเป็นอันดี จุดเหล่านี้มี

๑. ปลายคาง

๒. ขมับซ้าย - ขวา

๓. ขากรรไกรซ้าย - ขวา

๔. ก้านคอ ลูกกระเดือก

๕. ลิ้นปี่

๖. ชายโครงซ้าย - ขวา

๗. ท้อง

ทักษะเบื้องต้น

ในการเรียนมวยไทย ผู้เรียนจำเป็นจะต้องเรียนรู้ทักษะเบื้องต้นเช่นเดียวกับการเรียนกีฬาอื่นๆเหมือนกันโดย เฉพาะอย่างยิ่งมวยไทยนั้น ทักษะเบื้องต้นนับว่ามีความสำคัญที่สุด จะเป็นทักษะในการเข้าทำก็ดี หรือทักษะในการรับก็ดี ล้วนสำคัญทั้งสิ้นจะขาดตกบกพร่องทักษะหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะเวลาต่อสู้กันนั้นคู่ต่อสู้จะพยายามใช้อาวุธทุกอย่าง ไม่ยับยั้งว่าคู่ต่อสู้จะอ่อนหัดสักแค่ไหน ดังนั้นคู่ต่อสู้จำเป็นต้องรับรองไว้ให้อยู่และปลอดภัย ในขณะเดียวกันก็สามารถจะรุกเข้าทำได้

ทักษะเบื้องต้นที่ต้องฝึกหัดมี ดังนี้

-. วิธีตั้งท่าในการต่อสู้

-. การใช้หมัดและการป้องกัน

-. การใช้ศอกและการป้องกัน

-. การใช้เข่าและการป้องกัน

-. การใช้เท้าและการป้องกัน

ทักษะมวยไทย

วิธีตั้งท่าในการต่อสู้

ระยะที่ ๑ จากท่าที่ยืนตรงๆ ก้าวเท้าซ้ายออกไปข้างหน้าราวครึ่งหนึ่งของระยะก้าวธรรมดาซึ่งอยู่ในท่าสบายๆ ทุ่มน้ำหนักตัวตามเท้าซ้ายไปข้างหน้า ส่วนเท้าขวายกส้นขึ้นจากพื้นประมาณ ๒ นิ้วเพื่อเป็นสปริง เมื่อจะพุ่งออกหรือถอยหลัง

ส่วนแขนให้งอแขนขวาขึ้นมาชิดหน้าอกเหนือลิ้นปี่ใกล้ลูกคาง ทำท่าเตรียมจะพุ่งไปสู่ลูกคางคู่ต่อสู้ได้ง่าย แขนซ้ายก็งอขึ้นเพียงเสมอหน้าท้อง ให้ศอกห่างจากชายโครงประมาณ ๓ นิ้ว หมัดเฉียงเล็กน้อย

ในระยะต่อไปเมื่อมีการเคลื่อนที่ไปบ้างก็พยายามให้เท้าซ้ายคงเป็นเท้าหน้าไว้เสมอ

 

วิธีกำหมัด

การกำหมัด ความจริงไม่น่าจะมีความจำเป็นต้องกล่าว เพราะทุกคนมีความถนัดในการกำหมัดชกอยู่ด้วยกันแล้ว แต่ก็มักปรากฏอยู่บ่อยๆว่าการชกนั้นนิ้วหัวแม่มือซ้นหรือเดาะก็มี ซึ่งเกิดจากการกำหมัดไม่เป็น เช่น หัวแม่มือทาบอยู่บนนิ้วชี้ด้านบน หรือเอนหัวแม่มือสอดเข้าไปในช่องนิ้วอื่นซึ่งคิดว่ารัดกุมดี แต่บัดนี้ใช้นวมการยัดนิ้วดังกล่าวย่อมเป็นไปไม่ได้

การกำมือนั้น ให้กำนิ้วทั้งสี่เข้าที่แล้วให้นิ้วหัวแม่มือทาบอยู่ระหว่างร่องนิ้วชี้กับนิ้วกลาง

 

วิธีสืบเท้า

การใช้เท้าก้าวคืบไปข้างหน้าเรียกว่าการสืบเท้า การสืบเท้าเข้าหาคู่ต่อสู้ หากไม่ฝึกให้เคยชินเสียก่อน อาจจะก้าวผิดจังหวะและผิดระยะได้ง่าย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายปฏิปักษ์ได้เปรียบ การสืบเท้าควรใช้เท้าซ้ายเป็นเท้าแรก เคลื่อนไปในระยะ ๑ คืบและสืบเท้าขวาตาม จะเป็นสืบตรงหรือเฉียงก็ตาม หากถอยก็สืบเท้าขวาก่อนเท้าซ้ายตาม การสืบเท้านี้ในการฝึกแรกๆควรหัดเป็นจังหวะช้าๆจนชำนาญทั้งทางซ้ายทางขวา และสืบพร้อมกันทั้งสองเท้าได้โดยชำนาญและรวดเร็ว การลากเท้าไปมาโดยความเบาและรวดเร็วนี้คือการสืบเท้าที่รักษาจังหวะให้ถูกต้อง