วิธีฝึกหัดมวยไทย

มีการฝึก ๒ แบบ ๒ ยุค ที่แตกต่างกันตามสมัย

- สมัยก่อน ฝึกตามวิธีของพระเหมสมาหาร

- สมัยปัจจุบัน ซึ่งหลักใหญ่สำหรับศึกษาวิชามวยซึ่งปฏิบัติฝึกฝนพร้อมกันไปมี ๓ แนวทาง

๑. ฝึกให้ร่างกายมีความแข็งแรงอดทน ว่องไว

๒. ฝึกจิตใจอยู่ในบังคับ

๓. ฝึกให้รู้จักหาไหวพริบในเชิงมวย

วิธีฝึกหัดมวยไทยสมัยก่อนตามวิธีของ พระเหมสมาหาร

วิธีฝึกหัดมวย ดังได้ฝึกมาแต่ก่อนจะปฏิบัติดังต่อไปนี้

๑. เมื่อเวลาลุกขึ้นจากนอนไม่ว่าเวลาใด ให้นอนหงายเหยียดเท้าตรงไปทั้งสองข้าง ให้ชกสองมือสุ่มขึ้นไปทั้งสองมือ จนตัวตั้งตรงขึ้น วิธีทำดังนี้หวังว่าให้เส้นสายบริบูรณ์และให้มือสันทัดทั้งสองข้าง

๒. เมื่อเวลาจะล้างหน้า ให้เอามือวักน้ำมารอหน้าอย่าเอามือถูหน้าให้เอาหน้าถูมือ กลอกไปมาจนล้างหน้าเสร็จ วิธีอันนี้ทำให้ตาเราดีไม่วิงเวียนเมื่อจะลอดหลบหลีกและให้เส้นสายคอของเราเคยด้วย

๓. เมื่อตะวันขึ้น ให้นั่งหันหน้าไปทางตะวันเพ่งดูตะวันแต่เช้าไปจนสายพอสมควร วิธีอันนี้ทำให้แสงตากล้า ถึงเขาจะชกหรือเตะมาตาเราก็ไม่หลับเพ่งดูเห็นอยู่ได้ไม่ต้องหลับตา

๔. เมื่อเวลาอาบน้ำ ให้มุดลืมตาในน้ำทุกที วิธีอันนี้ทำให้แสงตากล้าขึ้นได้

๕. แล้วให้ลงไปในน้ำเพียงคอ ให้ถองน้ำทั้งสองศอกชุลมุนจนลอยขึ้นได้ วิธีอันนี้ทำให้คล่องแคล่วกระบวนศอกและบำรุงเส้นสายด้วย

๖. เมื่อเวลาเช้า เย็นหรือกลางคืน ให้ชกลม เตะลม ถีบลมและกระโดดเข้ากระโดดออก เล่นตัวให้คล่องแคล่วทั้งศอก ทั้งเข่า เสมอทุกวัน วิธีอันนี้เป็นที่ประเสริฐจริงๆ

หมดวิชาฝึกหัดตัวเองเท่านี้

เมื่อครูเห็นว่ามือและเท้า ชก เตะ ถีบ คล่องแคล่วดีแล้ว จะบอกไม้และยกครูเสียก่อน

- กรวย ๖ กรวย

- เงิน ๖ สลึง

- ผ้าขาว ๖ ศอก

- ดอกไม้ ธูป เทียนยกครู

จุดธูปเทียนบูชาครู ครูจึงให้ยืนตรงขึ้นเท้าเรียงชิดกัน ครูจึงจับมือทั้งสองยกจรดหน้าผากและประสิทธิ์ให้ว่า

สิทธิกิจจัง สิทธิกัมมัง สิทธิกาละ ตะถาคะโต

สิทธิเตโช ไชยโยนิจจัง สิทธิกัมมัง ประสิทธิเมฯ

แล้วให้ย่างสามขุม แล้วบอกไม้ต่อไป

๑. ไม้หนึ่งมาชักตีตีนน่าขึ้นพร้อมชัก

๒. ไม้สองปิดปกชกด้วยศอก

๓. ไม้สามชกข้ามไหล่

๔. ไม้สี่ชกนอกเมื่อชักออกให้ชกใน

๕. ไม้ห้าชกช้างประสานงา

ห้าไม้นี้เป็นไม้ของครู แล้วมีไม้เบ็ดเตล็ดต่อไป เช่น

ไม้ทัดมาลา ๑ ไม้กาฉีกรัง ๑ ไม้หนุมานถวายแหวน ๑ ไม้ล้มพลอยอาบ ๑ ไม้ลิงชิงลูกไม้ ๑ ไม้กุมภกรรฐ์หักหอก ๑ ไม้ฤๅษีมุดสระ ๑ ไม้ทศกรรฐ์โสก ๑ ไม้ตาเพียนแฝงตอ ๑ ไม้นกคุ่มเข้ารัง ๑ ไม้คชสารกวาดหญ้า ๑ ไม้หักหลักเพชร ๑ ไม้คชสารแทงโรง ๑ ไม้หนุมานแหวกฟอง ๑ ไม้ลิงกลิ้ง ๑ ไม้กาลอดบ่วง ๑ ไม้หนุมานแบกพระ ๑ ไม้หนุมานถอนตอ ๑ ไม้หนูไต่ราว ๑ ไม้ตะหลบนก ๑ ไม้ตอแหล ๑ ฯ

บอกไว้แต่เพียง ๒๑ ไม้เท่านี้ก่อน แต่ไม้เบ็ดเตล็ดยังมีมากสุดจะพรรณนา

วิธีฝึกหัดมวยไทยสมัยปัจจุบัน

หลักใหญ่สำหรับศึกษาวิชามวย ซึ่งจะปฏิบัติฝึกฝนพร้อมกันไปมี ๓ แนวคือ

๑. ฝึกให้ร่างกายมีความแข็งเรง ว่องไว

๒. ฝึกจิตใจอยู่ในบังคับ

๓. ฝึกให้รู้จักหาไหวพริบในเชิงมวย

๑. ฝึกให้ร่างกายมีความแข็งแรงอดทน ว่องไว

มีวิธีปฏิบัติ คือ

ก. บริโภคอาหารที่ก่อให้เกิดความสมบูรณ์แก่ร่างกาย ต้องละเว้นอาหารที่ให้โทษและยาเสพติด เช่น สุรา กาแฟ เป็นต้น

ข. การบริหารร่างกายตามหลักสุขวิทยา เช่น ต่อยลมด้วยดัมเบล ต่อยลูกบอล ผลักและชกถุงทราย ตลอดจนการออกกำลังด้วยมือเปล่าอื่นๆ เช่น วิ่ง กระโดดเชือก ว่ายน้ำ

โดยเฉพาะการฝึกหัดดังกล่าวนี้ จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น

- กระสอบทราย ใช้ผ้าใบหรือหนังฟอกซึ่งมีขนาดกว้างด้านหน้าราว ๒๕ เซนติเมตร สูงราว ๑ เมตร บรรจุขี้เลื่อยปนทราย ในน้ำหนัก ๕๐ กิโลกรัม และเพิ่มขึ้นกระทั่ง ๑๐๐ กิโลกรัมได้

- ดัมเบลหรือเหล็กหรือหินถ่วงหมัด ๑ คู่ ฃหนักครึ่งปอนด์

- เชือกกระโดด ยาว ๒ เมตรครึ่ง ๑ เส้น

การต่อยลมด้วยดัมเบลหมัดจะแรงและทน การต่อยลูกบอลชกถุงทรายทำให้พุ่งหมัดถูกต้องและมีกำลัง การวิ่งการกระโดดเชือกทำให้เกิดความไวอดทน การว่ายน้ำที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจะช่วยให้อดทนต่อความเหน็ดเหนื่อย

ส่วนการเพาะให้เกิดกำลังและกล้ามเนื้อแข็งแรงอย่างอื่น เช่น เล่นบาร์เบล เล่นยิมนาสติก บาร์เดี่ยว-คู่ เหล่านี้เป็นการให้เกิดกล้ามเนื้อใหญ่โตและมีความแข็งแรงทางกล้ามเนื้อ แต่ไม่ค่อยได้ผลสำหรับมวยซึ่งมุ่งความว่องไวยิ่งกว่า หากจะฝึกเพื่อกำลังบ้างก็ไม่ให้มากนัก

การหายใจช่วงยาวเป็นทำนองผายปอด สูดอากาศบริสุทธิ์ทำให้ปอดขยายตัวเสมอก็จะเป็นการช่วยให้เกิดความแข็งแรง

๒. ฝึกให้จิตใจอยู่ในบังคับ

เป็นวิธีฝึกที่ควรปฏิบัติไปกับการศึกษาแนวอื่นด้วย เพราะก่อนที่จะตัดสินใจศึกษาวิชามวยไทยจะต้องมีความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะต้องพยายามจนบรรลุผลสำเร็จ เป็นการบังคับใจเป็นสัญญาข้อต้นว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงต่อไปอีก เมื่อเริ่มการศึกษาผู้ฝึกอาจประสบความยากลำบากบ้าง เช่น การจดจำที่ไม่แม่นยำ กำลังหรือแรงหมัดไม่แรงทันใจ เหล่านี้เราจะต้องบังคับจิตใจให้มั่นว่าเราไม่ใจเร็วด่วนได้จนเกินไป ไม่มีใครที่จะสำเร็จวิชาเพียงการเรียนวิชาวันเดียว การต่อสู้ด้วยมวยเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดโดยเจตนาบ้างมิเจตนาบ้างเสมอ ความมีชัยของมวยอยู่ที่ความสามารถทำให้ฝ่ายหนึ่งบอบช้ำยิ่งกว่าตน แม้แต่เวลาฝึกซ้อมกันเองก็ยังมี นี่ก็เป็นการจำเป็นที่จะต้องฝึกบังคับจิตใจให้อดทนไม่ให้เกิดโทสะ คือมีโมโหโกรธง่าย ความโกรธนอกจากจะประจานตัวเองว่ามิใช่ใจเป็นนักกีฬาแล้ว ยังเป็นช่องทางให้เราเสียเปรียบคู่ต่อสู้เป็นอันมาก เพราะขาดสติการยับยั้งการพิจารณาที่ถูกต้องและความสุขุม ไม่สามารถใช้หัวคิดให้เกิดไหวพริบได้ ฉะนั้นผู้รักษาวิชามวยควรบังคับจิตใจและเตือนตัวเองอยู่เป็นนิจว่า"ไม่โกรธ" แม้จะเห็นว่าควรโกรธอย่างยิ่งก็ควรคิดว่าเราถูกยั่วให้โกรธเพื่อความมีชัยของปฏิปักษ์ ซึ่งจะเป็นการโง่กว่าเขาอย่างน่าอับอายทีเดียว

การฝึกบังคับจิตนี้ ย่อมพัวพันในระหว่างการฝึกความว่องไวการต่อสู้ เมื่อเราระมัดระวังอยู่เสมอก็จะเกิดความเคยชินและเป็นนิสัยที่ดีต่อไปเอง

๓. ฝึกให้รู้จักไหวพริบในเชิงมวย

เมื่อเรามีร่างกายที่สมบูรณ์พอและมีจิตใจที่มั่นต่อการศึกษาที่จะเป็นนักมวยที่ดีต่อไปแล้ว อีกข้อหนึ่งซึ่งก่อนการฝึกหัดท่าต่างๆหรือความว่องไวในต่อสู้ ข้อความรู้เบื้องต้นของการต่อสู้ซึ่งเราควรมีโดยลำพังก่อน เช่น การตั้งท่าในเวลาต่อสู้ วิธีกำหมัด วิธีสืบเท้าใช้เท้า วิธีกะระยะต่อย วางระเบียบของตนเอง และจุดสำคัญของร่างกาย ซึ่งไม่ใช่ท่าทางการต่อยหรือลูกไม้ในการต่อสู้