คำแนะนำโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศ

โครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน

กรมที่ดินได้จัดทำโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิตและสังคมในการเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาอาชีพของตนให้มีความเจริญมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการดำเนินการเร่งรัดการออกโฉนดที่ดินให้ประชาชนที่มีหลักฐาน เช่น ใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับนองการทำประโยชน์(น.ส.๓ น.ส.๓ ก. น.ส.๓ ข.) น.ค.๓ กสน.๕ หรือหลักฐานอื่นๆ ตลอดจนที่ดินที่ไม่มีหลักฐานที่อยู่ในหลักเกณฑ์ออกโฉนดที่ดินได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ในการออกโฉนดที่ดิน

๑. บัตรประชาชนของเจ้าของที่ดิน

๒. สำเนาทะเบียนบ้าน

๓. หลักฐานเกี่ยวกับที่ดิน เช่น ใบจอง (น.ส.๒) ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓, น.ส.๓ก., น.ส.๓ข., หรือแบบหมายเลข ๓ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" หลักฐานแสดงสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ (น.ค.๓) กสน.๕ หรือกรณีที่ดินที่ไม่มีหลักฐานเดิมที่ได้มีการแจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันปิดประกาศเดินสำรวจตามแบบ ส.ค.๓ หรือมิได้แจ้งความประสงค์จะได้สิทธิดังกล่าว แต่ได้นำรังวัดปักหลักเขตที่ดินตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่นัดหมาย

เจ้าของที่ดินต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างก่อนนำรังวัด

๑. ต้องตรวจสอบหลักฐานต่างๆว่ามีเอกสารอะไรบ้างและเตรียมไว้ให้พร้อมในวันนำรังวัดเพื่อแสดงกับเจ้าหน้าที่

๒. ชื่อตัวชื่อสกุลในหลักฐานบัตรประชาชน ทะเบียนบ้านและเอกสารเกี่ยวกับที่ดิน ถูกต้องตรงกันหรือไม่ หากไม่ถูกต้องให้ติดต่อแก้ไขที่อำเภอและ/หรือสำนักงานที่ดินโดยเร็ว

๓. ถ้าซื้อขายที่ดินหรือรับให้ที่ดินกันโดยมีหลักฐาน น.ส.๓ น.ส.๓ ก.หรือน.ส.๓ ข. และยังมิได้จดทะเบียนโอนกัน ก็ต้องไปจดทะเบียนโอนกันให้ถูกต้องตามกฎหมายที่สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา สำนักงานที่ดินจังหวัดส่วนแยกหรือสำนักงานที่ดินอำเภอท้องที่ก่อน เมื่อมีชื่อในหลักฐานแล้วจึงจะนำรังวัดออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของตนเองได้

๔. ในกรณีที่ผู้มีสิทธิในที่ดินมีชื่อใน น.ส.๓ น.ส.๓ ก.หรือน.ส.๓ ข.ตาย และยังมิได้จดทะเบียนผู้จัดการมรดกหรือโอนมรดกให้แก่ทายาท ทายาทผู้มีสิทธิตามกฎหมายหรือผู้รับพินัยกรรมสามารถนำทำการเดินสำรวจรังวัดได้ โดยต้องเตรียมหลักฐานการเป็นทายาทพร้อมสำเนาไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่

๕. ถ้ามีใบจอง(น.ส.๒)หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ น.ส.๓ ก. น.ส.๓ ข.หรือแบบหมายเลข ๓) แต่หลักฐานดังกล่าวชำรุดหรือสูญหาย ให้เจ้าของที่ดินไปขอสำเนาเอกสารฉบับของสำนักงานที่ดิน เพื่อนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ในวันนำรังวัด

๖. ถ้ามี น.ส.๓ น.ส.๓ ก.หรือน.ส.๓ ข. แต่จำนองไว้ก็ขอสำเนาเอกสารฉบับสำนักงานที่ดินมาเตรียมไว้ก่อนก็ได้

๗. เจ้าของที่ดินต้องมานำรังวัดชี้เขตตามวันเวลาที่เจ้าหน้าที่นัดหมาย หากไม่สามารถนำรังวัดได้ตามกำหนดอาจทำหนังสือมอบอำนาจให้แก่บุคคลอื่นมาดำเนินการแทนได้

๘. เมื่อทราบกำหนดวันนัดหมายรังวัดของเจ้าหน้าที่แล้ว ต้องเตรียมถากถางแนวเขตที่ดินเพื่อความสะดวกในการรังวัดรอบแปลงที่ดิน

๙. ขอรับหลักเขตที่ดินจากเจ้าหน้าที่เพื่อใช้ปักตามมุมเขตที่ดินของตน

๑๐. ประสานกับเจ้าของที่ดินข้างเคียงทุกท่านพร้อมผู้ปกครองท้องที่ เช่น กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน เพื่อรับทราบวันทำการรังวัด

ค่าใช้จ่ายในการออกโฉนดที่ดิน

การออกโฉนดที่ดินตามโครงการนี้ เจ้าของที่ดินไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรังวัด จะเสียค่าธรรมเนียมในวันรับโฉนดที่ดิน ดังนี้

๑. เนื้อที่ออกโฉนดที่ดินไม่เกิน ๒๐ ไร่ แปลงละ ๕๐ บาท ถ้าเนื้อที่เกิน ๒๐ ไร่ส่วนเกินคิดเพิ่มอีกไร่ละ ๒ บาท เศษของไร่คิดเป็นหนึ่งไร่

๒. ค่าหลักเขตที่ดินแปลงละ ๖๐ บาทเท่ากันทุกแปลงรวมเป็นเงินค่าธรรมเนียมประมาณ ๑๑๐ บาท

๓. ในกรณีที่มีการมอบอำนาจจะต้องเสียค่ามอบอำนาจเรื่องละ ๒๐ บาท (ค่าอากรแสตมป์ปิดใบมอบอำนาจฉบับละ ๓๐ บาท)

ประโยชน์ของโฉนดที่ดิน

๑. ให้เจ้าของที่ดินได้มีโฉนดที่ดินยึดถือไว้เป็นหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพราะโฉนดที่ดินเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินที่มีความมั่นคงสูงสุด

๒. ให้เจ้าของที่ดินสามารถนำโฉนดที่ดินไปใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาลงทุนพัฒนาอาชีพ เพิ่มผลผลิตและรายได้ ซึ่งเป็นผลดีในทางเศรษฐกิจของตนเองและประเทศชาติ

๓. เพื่อลดปัญหาข้อขัดแย้งและพิพาทแนวเขตที่ดินการบุกรุกที่ดินกันหรือการบุกรุกทำลายป่าและที่สาธารณะประโยชน์

๔. เพื่อรู้ตำแหน่งที่ตั้ง ขอบเขตและเนื้อที่ของรูปแปลงที่ดินแต่ละแปลงได้โดยถูกต้อง

๕. กรณีที่ดินมีโฉนดที่ดิน ถ้าเกิดการแย่งการครอบครองที่ดินกันขึ้น ผู้แย่งการครอบครองจะต้องครอบครองที่ดินแปลงนั้นโดยสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินสิบปีจึงจะได้กรรมสิทธิ์

ที่ดินที่ต้องห้ามออกโฉนดที่ดิน

๑. ที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ที่ชายตลิ่ง

๒. ที่เขา ที่ภูเขาและพื้นที่ที่รัฐมนตรีประกาศหวงห้าม ยกเว้นที่ดินที่มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายที่ดิน

๓. ที่เกาะ ยกเว้นที่ดินที่มีหลักฐานแจ้งการครอบครอง ใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า"ได้ทำประโยชน์แล้ว" หนังสือแสดงการทำประโยชน์(น.ค.๓ กสน.๕)

๔. ที่สงวนหวงห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่น

๕. ที่ดินที่คณะรัฐมนตรีสงวนไว้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น เช่น ป่าไม้ถาวร ป่าชายเลน เป็นต้น

คำเตือน

๑. อย่าหลงเชื่อคำแอบอ้างจากบุคคลหนึ่งบุคคลใดว่าจะช่วยติดต่อทำโฉนดที่ดินให้ได้ โดยเรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือเรียกเก็บเงินล่วงหน้าเพื่อแลกเปลี่ยนกับการทำโฉนดที่ดิน ทั้งนี้เพราะเจ้าหน้าที่จะเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมต่อเมื่อทำโฉนดที่ดินเสร็จและนัดหมายให้เจ้าของที่ดินมารับโฉนดที่ดิน โดยจะออกใบเสร็จรับเงินให้ไว้เป็นหลักฐานซึ่งเก็บแปลงละ ๑๑๐ บาท ถ้าเกิน ๒๐ ไร่เก็บเพิ่มอีกไร่ละ ๒ บาท เศษของไร่คิดเป็นหนึ่งไร่ (กรณีที่มีการมอบอำนาจเรื่องละ ๒๐ บาทและค่าอากรแสตมป์ปิดใบมอบอำนาจฉบับละ ๓๐ บาท)

๒. หากมีผู้ใดแอบอ้างเรียกเก็บเงินตามข้อ ๑ เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย และแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขา เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดส่วนแยก เจ้าหน้าที่บริหารที่ดินอำเภอหรือผู้อำนวยการศูนย์เดินสำรวจออกโฉนดที่ดินซึ่งรับผิดชอบในท้องที่ หรือแจ้งไปที่สำนักมาตรฐานการออกหนังสือสำคัญกรมที่ดิน โทร. ๐ ๒๕๐๓ ๓๘๑๒ , ๐ ๒๕๐๓ ๓๓๙๔