หลักเกณฑ์การตรวจสอบก่อนซื้ออาคารชุด

หรือคอนโดมิเนียม

หลักเกณฑ์การตรวจสอบก่อนซื้อ อาคารชุดหรือคอนโดมิเนียม

ในปัจจุบันราคาที่ดินในย่านชุมชนได้มีการปรับตัวสูงขึ้นมากและพื้นที่ว่างมีน้อยลง ประชาชนไม่สามารถจะซื้อที่ดินและบ้านเพื่อใช้อยู่อาศัยได้ ประกอบกับมีความจำเป็นจะต้องเข้ามาทำงานในเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเดินทาง อาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมจึงเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย ตังนั้นประชาชนผู้บริโภคจึงควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องก่อนตัดสินใจเลือกซื้ออาคารชุดหรือคอนโดมิเนียม เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง

ฉะนั้น ก่อนตัดสินใจซื้ออาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมต้องพิจารณาตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบ

๑. กรณีอาคารชุดยังไม่ก่อสร้าง ผู้บริโภคควรตรวจสอบดังนี้

๑.๑. อาคารดังกล่าวได้มีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารแล้วหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้จากผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุด

๑.๒. ชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แผนผังแสดงเขตที่ดิน แผนผังอาคารชุดที่จะก่อสร้าง และทางเข้า-ออกของอาคารชุดนั้นๆ

๑.๓. ชื่อ ที่อยู่และสถานภาพของผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุดว่า เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล และเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะก่อสร้างอาคารชุดนั้นหรือไม่ ถ้ากรณีเป็นนิติบุคคลได้จดทะเบียนบริษัทห้างหุ้นส่วนถูกต้องหรือไม่ มีทุนจดทะเบียนทุนที่ชำระแล้วเท่าใด ใครเป็นกรรมการผู้จัดการหรือหุ้นส่วน ผู้จัดการหรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน ตรวจสอบได้จากกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด

๑.๔. ที่ดินที่จะก่อสร้างอาคารชุดมีภาระดิดพันหรือไม่อย่างไร เช่น นำไปจำนองไว้กับธนาคารหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หรือบุคคล สามารถตรวจสอบได้จากสำนักงานที่ดินจังหวัดท้องที่

๑.๕. ควรตรวจสอบค่าใช้จ่ายอื่นๆนอกเหนือจากราคาของห้องชุด ซึ่งผู้เป็นเจ้าของห้องชุดต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่าย เช่น ค่าบริการที่เป็นส่วนรวม ค่าดูแลรักษาและดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง เป็นต้น สอบถามได้จากผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุด

๑.๖. ควรตรวจสอบว่าอาคารดังกล่าวจะเริ่มก่อสร้าวและแล้วเสร็จเมื่อใด

๑.๗. ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดประกอบด้วยอะไรบ้าง

๒. กรณีก่อสร้างอาคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้บริโภคควรตรวจสอบดังนี้

๒.๑. ได้มีการจดทะเบียนอาคารชุดแล้วหรือไม่ ใครเป็นผู้ขอจดทะเบียนอาคารชุด ขอตรวจสอบได้จากผู้ประกอบการธุรกิจอาคารชุด หากไม่แน่ใจสามารถตรวจสอบได้จากสำนักงานที่ดินจังหวัดท้องที่

๒.๒. เลขที่โฉนดที่ดิน จำนวนเนื้อที่ที่ดินของโครงการ แผนผังแสดงเขตที่ดิน ที่ตั้งอาคารชุด และทางเข้า-ออกของอาคารชุด ตรวจสอบได้จากสำนักงานที่ดินจังหวัดท้องที่

๒.๓. ชื่อ ที่อยู่ และสถานภาพของผู้ที่ขอจดทะเบียนอาคารชุดว่า เป็นของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ถ้าเป็นนิติบุคคลใครเป็นกรรมการผู้จัดการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน ตรวจสอบได้จากกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดท้องที่

๒.๔. ตรวจสอบรายการที่เป็นทรัพย์ส่วนบุคคลและทรัพย์ส่วนกลางว่าตรงกับที่ได้โฆษณาไว้หรือไม่ ตรวจสอบได้จากอาคารที่ตั้งโครงการและผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุดนั้นๆ

๒.๕. ควรตรวจสอบค่าใช้จ่ายอื่นๆนอกเหนือจากราคาของห้องชุด ซึ่งผู้เป็นเจ้าของห้องชุดต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่าย เช่น ค่าบริการที่เป็นส่วนรวม ค่าดูแลรักษาและดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง เป็นต้น ตรวจสอบได้จาดผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุด

๒.๖. ตรวจสอบข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าวก่อนว่า จะยอมรับเงื่อนไขตามข้อบังคับได้หรือไม่

ผู้บริโภคต้องเก็บเอกสารโฆษณาและเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวกับการซื้อห้องชุดไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี กรณีผู้ประกอบธุรกิจกระทำการหลอกลวงฉ้อโกงเอารัดเอาเปรียบและโฆษณาไม่ตรงกับความเป็นจริง