การรับมรดกที่ดิน
การรับมรดกที่ดินจะทำอย่างไร
เมื่อเจ้าของที่ดินหรือผู้มีชื่อในเอกสารเกี่ยวกับที่ดิน(เช่น โฉนดที่ดิน หรือ น.ส.๓ หรือ น.ส.๓ ก. หรือ น.ส.๓ ข.)ตายลงไป ที่ดินแปลงนั้นก็จะเป็นมรดกซึ่งจะตกทอดแก่ทายาทของผู้ตายโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรมที่เจ้าของมรดกทำไว้
ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมายหรือทายาทโดยธรรมมี ๖ ลำดับ
แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลัง ดังต่อไปนี้
๑. ผู้สืบสันดาน (บุตร, หลาน, เหลน, ลื้อ)
๒. บิดา มารดา
๓. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
๔. พี่น้องร่วมบิดา หรือร่วมมารดาเดียวกัน
๕. ปู่ ย่า ตา ยาย
๖. ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ถือเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิรับมรดกร่วมกับทายาทโดยธรรมทั้ง ๖ ลำดับ
- โดยผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดิน จะต้องไปขอจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินนั้นที่สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาในกรณีมีเอกสารเป็นโฉนดที่ดิน น.ส.๓ ข.
- และสำนักงานที่ดินอำเภอในกรณีมีเอกสารเป็น น.ส.๓ , น.ส.๓ ก.
- ถ้าท้องที่ใดที่ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกเลิกอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามกฎหมายที่ดินแล้ว การรับมรดกที่ดินเกี่ยวกับ น.ส.๓ และ น.ส.๓ ก. น.ส.๓ ข. จะต้องไปขอจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาที่ที่ดินตั้งอยู่
หลักฐานประกอบการขอรับมรดก
การรับมรดกที่ดิน ผู้ที่เป็นทายาทหรือผู้รับพินัยกรรมหลักฐานที่ต้องนำไปประกอบการขอรับมรดก คือ
๑. โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
๒. หลักฐานการเป็นทายาม เช่น บัตรประจำตัว, ทะเบียนบ้าน
๓. หลักฐานการตายของเจ้าของมรดก เช่น มรณบัตร
๔. พินัยกรรม(ถ้ามี)
๕. ถ้าผู้ขอขอรับมรดกในฐานะเป็นคู่สมรสต้องมีหลักฐานการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย
๖. ถ้าผู้ขอรับมรดกเป็นบิดาเจ้ามรดกต้องมีทะเบียนสมรสกับมารดาของเจ้ามรดกหรือหลักฐานการรับรองบุตร
๗. กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้ขอรับมรดกต้องแสดงหลักฐานการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
๘. ถ้ามีกรณีพิพาทเกี่ยวกับมรดกต้องนำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปแสดง
๙. ถ้ามีผู้มีสิทธิรับมรดกร่วมกันหลายคนบางคนได้ถึงแก่กรรมไปแล้วต้องมีหลักฐานการตายของทายาทนั้นๆ
ในกรณีที่มีผู้จัดการมรดก
ในกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลักฐานที่ต้องนำไป
๑. คำสั่งศาลหรือคำพิพากษาของศาลหรือพินัยกรรม ซึ่งตั้งให้ผู้ขอเป็นผู้จัดการมรดก
๒. หลักฐานการตายของเจ้าของมรดก
๓. ทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวของผู้จัดการมรดก
๔. โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำผลประโยชน์
ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน
๑. ค่าคำขอแปลงละ ๕ บาท
๒. ค่าประกาศมรดกแปลงละ ๑๐ บาท
๓. ค่าจดทะเบียนผู้จัดการมรดกแปลงละ ๕๐ บาท
๔. ค่าจดทะเบียนโอนมรดกร้อยละ ๒ ตามราคาประเมินทุนทรัพย์
๕. ในกรณีโอนมรดกระหว่างผู้บุพการีกับผู้สืบสันดานหรือระหว่างคู่สมรสเรียกตามราคาประเมินทุนทรัพย์ร้อยละ ๐.๕