คำแนะนำในการดูแลเบื้องต้นริดสีดวงทวารหนัก
1. ฝึกอุปนิสัยในการถ่ายอุจจาระให้ถ่ายเป็นเวลา และไม่นั่งถ่ายนานหรือเบ่งอยู่นาน ๆ
2. พยายามอย่าให้ท้องผูก โดยการรับประทานอาหารประเภทผัก และผลไม้ ดื่มน้ำมากๆ การออกกำลังกายเป็นประจำ มีผู้พบว่าช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น
3. ถ้าท้องผูก อาจรับประทานยาระบายชนิดอ่อน โดยเฉพาะประเภทที่ช่วยเพิ่มกากอาหารได้ และควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
4. เมื่อมีปัญหาถ่ายเป็นเลือด ควรพบปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคริดสีดวงทวารหนักแน่ ไม่ใช่โรคร้ายแรงอื่น นอกจากนั้นถ้าเป็นโรคนี้ในระยะแรกๆ จะได้รีบรักษาซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงการรักษาโดยการผ่าตัดได้ อย่าอายที่จะพบหรือได้รับการตรวจรักษาโดยแพทย์ การวินิจฉัยให้ได้แน่นอนจำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษส่องเข้าไปตรวจภายในทวารหนัก ซึ่งก็ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแต่ประการใด และการรักษาโรคโดยการฉีดยา หรือรัดด้วยยางก็ไม่ยุ่งยาก ไม่เจ็บปวด เช่นเดียวกัน
5. ถึงแม้จะเป็นมากแล้ว และต้องรักษาโดยการผ่าตัด ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว การปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา ก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้มาก เช่น มีแผลเกิดขึ้นที่หัวริดสีดวง มีการติดเชื้อบางครั้งเลือดออกมากจนเกิดอาการซีด เลือดจางได้ การผ่าตัดทำให้โรคหายขาดเกือบ 100% ถ้าระวังไม่ให้ท้องผูกอีก
6. อย่าซื้อยาเหน็บ หรือยากัดริดสีดวงทวารหนักใช้เอง เพราะมักเกิดอันตรายได้มาก
การป้องกันและการดูแลตนเอง
1. ควรระวังอย่าให้ท้องผูกเรื้อรัง หรืออย่าเบ่งแรงๆ หรือนานๆเวลาถ่ายอุจจาระ ควรรับประทานน้ำ ผัก ผลไม้ให้มากๆเพื่อไม่ให้ท้องผูก หรืออาจใช้ยาระบายช่วย เป็นครั้งคราว ถ้ามีอาการมากควรไปพบแพทย์ เพราะอาจต้องรักษาโดยการผ่าตัด
2. ป้องกันไม่ให้มีการอักเสบหรือติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยทำความสะอาดหลังอุจจาระด้วยสบู่และน้ำสะอาด การเช็ดแรงๆจะทำให้อักเสบและติดเชื้อโรคง่าย
3. ถ้าปวดมาก ให้กินยาแก้ปวดและนั่งแช่ในน้ำอุ่น ผสมด่างทับทิมนาน 15-30 นาที วันละ 2-3 ครั้ง
4. ถ้าเลือดออกบ่อยๆ ให้สังเกตว่าเยื่อบุตาและเนื้อใต้เล็บซีดกว่าคนทั่วไปหรือไม่ ถ้าซีดควรไปพบแพทย์
5. ถ้ามีเลือดออกนานเกิน 1 สัปดาห์ หรือผู้ป่วยเกิน 40 ปี ควรไปพบแพทย์เพราะอาจมีโรคอื่นๆร่วมด้วย
สรุปเกี่ยวกับโรคริดสีดวงทวารหนัก
โรคริดสีดวงทวารมีหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการเบ่งอุจจาระนานๆ ซึ่งมักเกิดจากท้องผูก มีหลายระดับความรุนแรง
การดูแลปฏิบัติตนเองที่ดีในการดำเนินชีวิต อาหาร และการถ่ายอุจจาระมีผลต่อโรคนี้ ถ้าลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ ก็จะช่วยป้องกันการเกิดโรค หรือถ้าเป็นแล้ว ก็จะช่วยลดความรุนแรงและบรรเทาอาการได้อย่างดี ทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นใหม่ได้โดยง่าย
การใช้ยาส่วนใหญ่เป็นการบรรเทาอาการเท่านั้น ซึ่งควรใช้ให้ถูกวิธี
ถ้าดูแลรักษาตนเองมาสัก 1-2 สัปดาห์ แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือกลับรุนแรงมากขึ้น ก็ควรไปขอคำปรึกษากับแพทย์ หรือเภสัชกรที่ประจำอยู่ที่ร้านยา ซึ่งพร้อมให้ความกระจ่าง และให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
ความแตกต่างของฝีคัณฑสูตร กับ ริดสีดวงทวารหนัก
ฝีคัณฑสูตร เป็นปัญหาที่เกิดจากการติดเชื้อบริเวณรอบๆทวารหนักหรือภายในหูรูดของทวารหนัก
ริดสีดวงทวารหนัก เกิดจากเส้นเลือดขอดรอบทวารหนักหรือภายในหูรูดทวารหนัก ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อเหมือนกรณีฝีคัณฑสูตร