การปัจจุบันพยาบาลผู้ป่วยหนัก

ผู้ป่วยที่เจ็บหนักมากจะมีอาการ ดังนี้

๑. หมดสติ คลำชีพจรไม่ได้ หรือ

๒. หอบเหนื่อยจนพูดไม่ได้ หรือ หายใจช้าและลำบาก หรือ หยุดหายใจ หรือ

๓. ชักตลอดเวลา หรือ

๔. ตกเลือดอย่างรุนแรง

ผู้ป่วยที่เจ็บหนักรองลงไปจะมีอาการ ดังนี้

๑. หมดสติ ชัก กระสับกระส่าย หรือไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือ

๒. หายใจลำบาก หายใจมากกว่า ๓๐ ครั้งต่อหนึ่งนาที หรือน้อยกว่า ๕ ครั้งต่อหนึ่งนาที หรือ

๓. มือเท้าเย็น และมีเหงื่อออกตามหน้ามือ และ เท้า หรือ

๔. ชีพจรหรือหัวใจเต้นๆหยุดๆ หรือเต้นเร็วกว่า ๑๕๐ ครั้งต่อหนึ่งนาที หรือช้ากว่า ๔๐ ครั้งต่อหนึ่งนาที หรือ

๕. ไข้สูงมาก

การดูแลรักษาผู้ป่วยหนักโดยทั่วไป

ก. รีบให้ผู้ป่วยนอนพัก ในท่าที่ผู้ป่วยสบายที่สุด ถ้าผู้ป่วยหมดสติให้นอนหงาย และตะแคงศีรษะไปด้านใด ด้านหนึ่ง ถ้าผู้ป่วยหอบเหนื่อยมาก ให้นอนในท่าพิงหรือก้มไปข้างหน้า และถ้าผู้ป่วยยังมีสติดีอยู่ คอยพูด ให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยด้วย

ข. รีบเรียกหาคนมาช่วยเหลือ

ค. รีบช่วยการหายใจของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ หรือหายใจช้ามาก

ง. รีบช่วยให้หัวใจของผู้ป่วยเต้น ถ้าคลำชีพจรไม่ได้ และผู้ป่วยหมดสติ

จ. รีบให้น้ำเกลือเข้าเส้นถ้าทำได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยตกเลือด หรือมือเท้าเย็น และมีเหงื่อออก ตามหน้ามือ หรือเท้า

ฉ. ถ้าตกเลือด ให้ห้ามเลือด ถ้าตัวร้อนจัด แต่ไม่หนาวสั่น ให้เช็ดตัวด้วยน้ำเย็น

ช. ถ้าตัวเย็นมาก หนาวสั่น ใช้ผ้าห่มคลุม

ซ. รีบพาผู้ป่วยไปหาหมอ

วิธีช่วยการหายใจ (ผายปอด)

ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ

๑. จาการจมน้ำ หรือสำลักสิ่งของ ให้อุ้มผู้ป่วยพาดบ่าให้หัวห้อยลงต่ำ แล้วตบแรงๆ เพื่อนำสิ่งของที่ไปอุด ทางหายใจไหลหล่นออกมา

๒. ใช้มือล้วงเอาฟันปลอม และสิ่งของในปาก เช่น หมาก หรืออาหารที่กำลังเคี้ยวอยู่ออก ใช้ผ้าเช็ดน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะในปากและคอของผู้ป่วย ให้คนที่มุงดูถอยออกไปห่างๆ

๓. รีบวางผู้ป่วยนอนหงายลงบนพื้น

๔. ใช้หมอนหรือสิ่งของอื่นหนุนไหล่สูงขึ้น เพื่อให้ศีรษะแหงนตกไปข้างหลังและปากเปิดอ้าออก เช็ดน้ำมูก น้ำลายและเสมหะ ในปากและคอ ของผู้ป่วยอีกครั้งหนึ่ง

๕. ให้ผู้ช่วยการหายใจ หายใจเข้าเต็มปอดของตนเอง แล้วใช้ปากของตน คร่อมลงบนปากของผู้ป่วย จนสนิท ใช้มือข้างหนึ่งบีบจมูกผู้ป่วยไว้ แล้วเป่าลมเข้าไปในปากของผู้ป่วยเต็มที่ แล้วผู้ช่วยการหายใจ ก็หายใจ เข้าเต็มปอดของตนเองใหม่ และช่วยการหายใจแก่ผู้ป่วยตามวิธีการข้างต้น ทำเช่นนี้เรื่อยๆไปจนกว่าผู้ป่วย จะหายใจเองได้ ถ้าผู้ช่วยการหายใจเหนื่อย ให้สลับกับผู้จะช่วยการหายใจคนอื่นๆ

ถ้าผู้ป่วยหายใจช้ามาก

๑. ให้กระตุ้นผู้ป่วยด้วยวาจา ด้วยการเขย่าและด้วยการทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตัว ด้วยวิธีอื่นๆ ให้คนที่มามุงดู ถอยออกไปห่างๆ

๒. ถ้าทำตามวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล อาจจะต้องช่วยการหายใจเช่นเดียวกับกรณีที่ผู้ป่วยหยุดหายใจ

ถ้าผู้ป่วยหอบมาก

๑. ให้ผู้ป่วยนอนในท่าหัวสูง จะใช้หมอนหลายๆ ใบหนุน หรือให้นอนฟุบกับโต๊ะก็ได้

๒. ให้กำลังใจและให้ความสงบแก่ผู้ป่วย ให้คนที่มามุงดูถอยออกไปห่างๆ

๓. ใช้พัดโบกไปมา เพื่อให้อากาศหมุนเวียน และลดความร้อนแก่ผู้ป่วยนอกจากผู้ป่วยจะไม่ต้องการ

๔. รีบพาไปหาหมอ

วิธีช่วยให้หัวใจเต้น

ในทันทีที่ผู้ป่วยหมดสติและคลำชีพจรไม่ได้ ให้ทุบลงบนหน้าอกของผู้ป่วยอย่างหนักแน่นสัก ๑ - ๒ ครั้ง หลังจากทุบแล้ว ถ้าคลำชีพจรตรงขาหนีบไม่ได้รีบช่วยการหายใจของผู้ป่วยในท่านอนหงาย แล้วนวดหัวใจ ผู้ป่วย โดยใช้ฝ่ามือของเราวางซ้อนทับกดลงบนกลางหน้าอกของผู้ป่วย แล้วใช้น้ำหนักของเรากด ผ่านฝ่ามือลงไปที่ กลางหน้าอก นั้นเป็นระยะๆ ประมาณ ๓ - ๔ ครั้ง ต่อการเป่าลมเข้าไปในปอดผู้ป่วย ๑ ครั้ง แล้วรีบ พาไปหาหมอ (ระหว่างนำผู้ป่วยไปหาหมอ ต้องช่วยการหายใจ และช่วยนวดหัวใจให้ผู้ป่วยด้วย)