การปัจจุบันพยาบาลสิ่งแปลกปลอม
เข้าตา หู คอ จมูก กระเพาะอาหาร
ก. สิ่งแปลกปลอมเข้าตา
อย่าขยี้ตา ให้ลืมตาในน้ำสะอาดกระพริบตาถี่ๆ ถ้ามีผงติดอยู่ให้จับเปลือกตาบนทับเปลือกตาล่าง หรือจับ เปลือกตาล่างทับบนจนกว่าจะหายเคือง หรืออาจจับเปลือกให้แยกออก ถ้าเห็นผงใช้ผ้าสะอาดหรือสำลีม้วน ปลายแหลมๆเขี่ยออก
ข. สิ่งแปลกปลอมเข้าหู
เอียงหูข้างที่มีอะไรอยู่ลงต่ำ เคาะเบาๆบริเวณศีรษะ เพื่อให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา ถ้าเป็นมด หรือ แมลงเข้าหู ให้ใช้น้ำสะอาดหยอดหรืออาจจะใช้น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันอื่นๆหยอดก็ได้ ถ้าไม่ดีขึ้น ให้ไปหาหมอ
ค. ของติดคอ
ถ้าเป็นก้างปลาเล็กๆ ให้กลืนน้ำหรือข้าวปั้นเป็นก้อนๆ หรือขนมปังปอนด์ที่นุ่ม ก้างอาจหลุดเองได้
ถ้าไม่หลุด ให้ไปหาหมอ อย่าพยายามไปเขี่ยออก นอกจากจะเห็นได้ชัดเจนจึงคีบหรือดึงออก
ถ้าเป็นอาหารคำโตๆ เช่น เนื้อติดคอ ให้แบกผู้ป่วยใส่บ่าแล้วตบหลังแรงๆ เพื่อให้หลุดออกมา หรือวางผู้ป่วย บนโต๊ะ ให้หัวและตัวห้อยลงแล้ว ตบหลังแรงๆ หรือให้ล้วงคอเข้าไปลึกๆ อาจทำให้หลุดออกได้
ง. สิ่งแปลกปลอมเข้าจมูก
บีบรูจมูกข้างหนึ่งแล้วสั่งน้ำมูกอย่างแรง ของนั้นอาจออกเองได้ อย่าพยายามใช้นิ้วหรือของอะไร แคะออก เพราะของอาจถูกดันลึกเข้าไปถ้าไม่ดีขึ้น ให้ไปหาหมอ
จ. สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในกระเพาะอาหาร
ถ้ากลืนวัตถุหรือของที่ไม่มีคม เช่น เศษสตางค์ นกหวีด ของเด็กเล่นเข้าไป ไม่ต้องวิตกอะไร ปล่อยเฉยๆ จะออกมาทางอุจจาระเอง
ถ้ากลืนวัตถุหรือของมีคม เช่น เข็ม ไม้กลัด ตะปู เข้าไป ถ้าไม่มีอาการ เช่น ไม่เจ็บปวด กดไม่เจ็บที่ท้อง ไม่ต้องทำอะไร จะถ่ายออกมาเองพร้อมอุจจาระ ถ้ามีอาการเจ็บปวด กดเจ็บ ให้รีบไปหาหมอ ระหว่างที่ มีสิ่งของ อยู่ในท้อง ห้ามกินยาถ่าย จนกว่าสิ่งแปลกปลอม จะออกมาแล้ว
การปัจจุบันพยาบาลกระดูกหัก และ ข้อต่างๆ
หลักในการปัจจุบันพยาบาลกระดูกหักโดยทั่วไป
ก. ถ้ากระดูกหักร่วมด้วยอาการเจ็บหนัก ให้รักษาพยาบาล เรื่องเจ็บหนักก่อน จนอาการเจ็บหนักหายแล้ว จึงค่อยทำการปัจจุบันพยาบาลกระดูก
ข. ถ้ากระดูกหักหรือสงสัยว่ามีกระดูกหัก ให่วางอวัยวะส่วนนั้น ลงบนแผ่นไม้หรือกระดาน หรือของแข็ง อื่นๆ เช่น กิ่งไม้ ไม้ไผ่ ไม้รวกแล้วเอาผ้าพันส่วนนั้นไว้กับของแข็งนั้น เพื่อไม่ให้ส่วนที่หักเคลื่อนไหว
ค. ถ้ามีอาการเจ็บปวด ให้กินยาแก้ปวด แล้วรีบพาไปหาหมอ
ง. ถ้ากระดูกหัก และมีกระดูกโผล่ออกมาข้างนอก ให้ระวัง เรื่องความสะอาดให้มาก และอาจใช้เหล้า หรือ แอลกอฮอล์แรงๆ ราดบริเวณแผล
ก. ศีรษะแตก (หัวแตก)
ถ้าศีรษะแตก โดยไม่มีอาการหมดสติ ให้รักษาแผล เช่นเดียวกับการรักษาพยาบาลบาดแผลทั่วไป
ถ้าศีรษะแตกร่วมด้วยอาการหมดสติ ให้รีบพาไปหาหมอ
ข. กระดูกไหปลาร้าหัก
ให้ห้อยแขนข้างที่กระดูกไหปลาร้าหักไว้ด้วยผ้าคล้องคอ ให้ต้นแขนแนบลำตัว แล้วใช้ผ้าผืนโตๆ พันแขนนั้น ให้ติดกับทรวงอกไว้ ไปผูกที่ตอนใต้รักแร้ข้างดี เพื่อป้องกันไม่ให้แขนเคลื่อนไหว
ค. กระดูกซี่โครงหัก
ใช้ผ้าผืนโตๆสองผืน เช่น ผ้าขาวม้าพับให้แคบ จนมีความกว้างราว ๓ นิ้วมือ วางให้ตรงกลางของความยาว ของผ้าผืนนั้นอยู่บนซี่โครงที่หัก พันรอบอก แล้วมาผูกอีกข้างทางด้านที่ดี ก่อนผูกให้ผู้ป่วยหายใจออกเต็มที่เสียก่อน ส่วนอีกผืนหนึ่งพันและผูกเช่นเดียวกัน แต่ให้อยู่เหนือ และทับขอบผ้าผืนแรกเล็กน้อย เวลาให้ผู้ป่วยนอน ให้นอนทับข้างที่หัก
ง. กระดูกแขนหัก
ใช้ผ้าพันแขนติดกับลำตัวในท่างอข้อศอก แล้วพาไปหาหมอ
จ. กระดูกขาหัก
ใช้ผ้าพันขา พันกับไม้ เช่น ไม้กระดาน ไม้ฉำฉา หรือไม้ไผ่ แล้วพาไปหาหมอ
ฉ. กระดูกสันหลังหัก
ถ้าผู้ป่วยหกล้ม หรือประสบอุบัติเหตุแล้ว ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ และมีอาการปวดหลังมาก อย่า พยายามเคลื่อนไหวผู้ป่วย ให้พลิกผู้ป่วยทั้งตัวขึ้นนอนบนแผ่นกระดานหงาย หรือคว่ำก็ได้ ห้ามหิ้วหัวหิ้วท้าย หรืออุ้ม หรือแบกผู้ป่วย เพราะอาจทำให้กระดูกสันหลังที่หักไปกดทำอันตรายต่อไขสันหลัง อาจทำให้เกิด เป็นอัมพาตได้