บทที่ 7

ซื้อเมื่อไร? ขายเมื่อไร?

หลังจากที่เราได้ทราบถึง แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังบรรดา indicators ใน DMS แล้ว ตอนนี้เราจะมาว่ากันถึงเรื่อง การใช้ระบบ DMS เข้าทำการซื้อขาย ซึ่งสามารถแยกออกได้เป็น 2 กรณี คือ uptrend กับ downtrend

.Uptrend.

ในระบบ Directional Movement จะเข้าทำการซื้อก็ต่อเมื่อ PDI ตัด MDI ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า การเข้าทำการซื้อนั้น ควรจะเป็นไปในลักษณะของการทยอยเก็บของ มากกว่าการที่จะทุ่มเข้าไปซื้อทั้งหมดในจังหวะนั้น เหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องมาจากว่า โดยทั่วไปการตัดกันระหว่าง PDI กับ MDI อาจจะยังไม่มีนัยสำคัญ ซึ่งนั่นหมายถึงว่า ยังคงมีความเสี่ยง หรือมีค่าเสียโอกาสอยู่ ถ้าเราทุ่มซื้อทั้งหมดเข้าไป หากตลาดนั้นเป็นเพียง Sideways ดังนั้น เพื่อเลี่ยงกรณีดังกล่าว เราจึงจำเป็นต้องรอให้เส้น ADX นั้น เริ่มปรับตัวขึ้น หรือมีความชันเป็นบวกเสียก่อน เพื่อเป็นการยืนยันว่ามี trend เกิดขึ้นในขณะนั้นแล้ว ซึ่งตอนนี้ละครับ! ใครใคร่ซื้อ ซื้อ

สำหรับกรณีที่จะทำกรขายหุ้นออกใน DMS นั้น จะกระทำก็ต่อเมื่อ PDI ตัด MDI ลงมา แต่ผู้เขียนเห็นว่า น่าจะเป็นการทยอยทำกำไรออกไปมากกว่าที่จะขายออกไปทั้งหมด เพราะการที่เราจะขายหมดนั้น หมายถึงว่า ผู้เล่นจะต้องเชื่อว่าตลาดจะหมด trend และเข้าสู่ Sideway Market ซึ่งนั่นหมายถึงว่า การระบายของออกจากพอร์ทให้หมด จะกระทำต่อเมื่อเส้น ADX เริ่มปรับตัวลงตาม ซึ่งถ้าถึงตอนนั้นแล้ว ใครใคร่ขาย ขาย

.Downtrend.

ในระบบ Directional Movement จะทำการขาย ก็ต่อเมื่อ MDI ตัด PDI ขึ้นมา ซึ่งนั่นหมายถึงว่า หากผู้ลงทุนมีหุ้นอยู่ในมืออยู่แล้ว ก็จะเริ่มทยอยขายออกไป (ในกรณีนี้หมายถึงว่า ผู้ลงทุนที่ทำการขายหุ้นออกไปนั้น จะต้องมีหุ้นอยู่ในมืออยู่แล้ว ไม่ใช่สั่งขายออกไปโดยไม่มีหุ้นอยู่ในมือ ซึ่งถ้าทำโดยไม่มีหุ้นอยู่ในมือ จะถือว่ามีความผิด เพราะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ห้ามผู้ลงทุนทำการขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นอยู่ในมือ หรือพูดง่ายๆว่าห้ามทำ short sale) และจะระบายหมดก็ต่อเมื่อเส้น ADX มีการปรับตัวขึ้น หรือมีความชันเป็นบวก ซึ่งกรณีนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า ตลาดมี trend แต่เป็น trend ขาลง

เมื่อเวลาผ่านไป หากผู้ลงทุนผู้นั้น ยังคงมีความต้องการในหุ้นตัวนั้นอยู่ แน่นอน! จะต้องมีการช้อนซื้อกลับคืนเข้ามา โดยจะทำการทยอยช้อนซื้อกลับก็ต่อเมื่อ MDI ตัด PDI ลงมา และจะทยอยซื้อให้ครบตามที่เคยมีอยู่ก็ต่อเมื่อ เส้น ADX นั้น มีการปรับตัวลง เพราะตลาดเริ่มที่จะหมด trend ขาลงแล้วและเริ่มเข้าสู่ Sideway Market

ลองมาดูตัวอย่างการใช้ DMS ในการหาจังหวะซื้อขาย ตามตัวอย่างต่อไปนี้ครับ!

จากตัวอย่างที่ 7.7 จะเห็นได้ว่าแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยที่ส่วนบนนี้ จะแสดงให้เห็นถึงการทำงานของระบบ DMS ในขณะที่ส่วนล่างจะเป็นการแสดงการเคลื่อนไหวของ SET Index ซึ่งจะเห็นได้ว่า ณ จุด A เส้น PDI (เส้นทึบ) ได้ตัวเส้น MDI (เส้นไข่ปลา) ขึ้นมา จึงเกิดสัญญาณซื้อขึ้น แต่จากที่เคยกล่าวไว้ในตอนต้นว่า ควรเป็นการทยอยซื้อก่อน และค่อยเข้าลุยเต็มที่มากขึ้นตอนที่เส้น ADX มีการขยับและปรับตัวสูงขึ้น (เพื่อให้แน่ใจว่ามันเกิด trend ขึ้นแล้ว) ซึ่งในกรณีนี้เส้น ADX (เส้นประ) เริ่มขยับตัวขึ้น หลังจากที่เส้น PDI ตัดกับเส้น MDI ไม่นานนัก จึงทำให้การซื้อเกิดขึ้นที่จุด AA ใน SET Index

หลังจากจุด AA จะเห็นได้ว่า SET Index มีการขยับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องไปถึงจุด BB ซึ่งถือว่าเป็นจุดระบายหุ้น (SET Index) ออก เพราะเส้น PDI ตัด MDI ลงมา ในขณะที่เส้น ADX นั้นเริ่มปรับตัวลง (จุด B) ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่า trend หมดลงแล้ว และกำลังเข้าสู่ Sideway Market ซึ่งผู้อ่านคงเห็นว่า หลังจากที่ระบายหุ้นที่จุด BB แล้ว ปรากฏว่า SET Index ได้ดีดตัวกลับขึ้นไปอีก ท่านผู้อ่านก็คงมองว่า ที่ขายไปนั้น เป็นการเสียของ! แต่จริงๆแล้วเปล่าหรอกครับ เพราะหากผู้อ่านสังเกตให้ดี แม้ SET Index มีการขยับตัวขึ้น แต่การแกว่งตัวของมัน ค่อนข้างที่จะเริ่มเฉื่อยตัวลง และมีแนวโน้มเป็น Sideway Market ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง และลดเวลาที่ต้องไปนั่งหลังขดหลังแข็งกับมัน ในการหาจังหวะขายหลังจุด BB ซึ่งอาจจะไม่แตกต่างกับระดับของ BB มากนัก อย่างเช่น ผู้ลงทุนอาจจะมีจุดที่คาดหมายไว้ว่า จะทำการขายแต่กลับขายไม่ได้ หรือขายไม่ทัน เพราะ SET Index มีการปรับตัวลง จนต้องลงไปขายออกที่ระดับเดียวหรือใกล้เคียงกับ BB ดังนั้น จะไปเสียเวลากับมันทำไมละครับ!

หลังจากที่ผ่านพ้นช่วง Sideway (ช่วง BB ถึง CC) สมมติว่า ผู้ลงทุนมีหุ้นอยู่ในมือ ซึ่งจากระบบ DMS ได้ชี้ให้เห็นว่า เกิดสัญญาณขายขึ้น (จุด C) เพราะเส้น MDI ตัด PDI ขึ้นไป ขณะที่เส้น ADX นั้นเริ่มปรับตัวสูงขึ้น นั่นหมายถึงเกิด downtrend ขึ้นเต็มตัว ดังนั้น จึงทำการขายหุ้นออกไป ซึ่งจะเห็นได้ว่า หลังจาก SET Index ได้มีการปรับตัวลง และถ้าผู้ลงทุนยังคงมีความต้องการหุ้นนั้นกลับคืน คงต้องกลับมาช้อนซื้อ โดยจุดที่เกิดสัญญาณในการช้อนซื้อกลับนั้นอยู่ที่จุด D ใน DMS (จุด DD ใน SET Index) เพระเส้น PDI ตัดเส้น MDI ขึ้นมา ขณะที่เส้น ADX มีการปรับตัวลง เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า downtrend นั้นหมดลง และเตรียมเข้าสู่สภาพ Sideway Market

คำถามที่อาจจะเกิดขึ้นคือ ซื้อที่จุด DD แพงไปหรือเปล่า? คำตอบคือ หากผู้ลงทุนที่ไม่ต้องการเสียเวลากับ Sideway Market รอไว้ไปช้อนซื้อตอนบริเวณจุด EE ดีกว่าครับ ก็เพราะในช่วง DD ถึง EE เป็นช่วง Sideway ซึ่งราคาหุ้นเฉลี่ย ไม่แตกต่างจากระดับราคาหุ้นที่ซื้อที่จุด DD อย่างมีนัยสำคัญหรอกครับ ซึ่งไหนๆจะเล่นทั้งที ควรเล่นให้ได้กำไร หรือใช้เงินใช้เวลาไปช้อนซื้อหุ้นที่จุด EE ตามสัญญาณของ DMS ที่จุด E ดีกว่าครับ จริงไหม?

เนื้อหาต่อไป : บทที่ 8 ดัชนีวัดความแกว่งในปริมาณการซื้อขาย Volume Indicators

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : PDM MDM TR