บทที่ 7
Relative Strength Index (RSI)
เป็น indicator ที่ได้รับการพัฒนาโดยนาย J. Welles Wilder โดยมีพื้นฐานมาจาก Momentum แต่ได้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่มักจะเกิดกับ Momentum 2 ประการ คือ
1. ถ้าหากใช้ข้อมูลในอดีตที่ผิดปกติมากๆ ก็จะทำให้ Momentum ทีได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ ทั้งๆที่ราคาในปัจจุบันมีการขยับตัวน้อยมากก็ตาม และ
2. ปัญหาในการหาเขตมาตรฐานที่จะใช้จับเขต OB/OS ที่แน่นอน อย่าลืมว่า Momentum นั้นเรามีเพียงเส้นศูนย์เป็นตัวบอกเท่านั้นเอง (หรือเส้น 1 หรือ 100 ในกรณี Rate of Change) แต่เราบอกไม่ได้เลยว่า Momentum จะต้องขึ้นไปสูงเท่าไหร่ ถึงจะเรียกว่าสูงมากขนาด Overbought และต่ำแค่ไหนถึงจะเรียกว่าต่ำจน Oversold
ดังนั้น RSI จึงถูกคิดค้นขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีสูตรการคำนวณดังนี้
โดยที่
RS = คืออัตราส่วนระหว่าง ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบ exponential ของส่วนเสีย (losses) ในช่วง n วัน (ไม่คำนึงเครื่องหมาย) จำนวนวันที่ใช้ ก็เช่นเดียวกับ Oscillator ตัวอื่นๆ คือถ้าใช้จำนวนวันน้อยๆ RSI ก็จะมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงมาก เหมาะกับผู้ที่ชอบเล่นเก็งกำไรวันต่อวันหรือระหว่างวัน ที่เห็นนิยมเล่นก็มี 4, 9 และ 14 วัน นอกจากนี้ RSI ยังเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่ใช้วัดความแข็งของราคาหุ้นว่าขึ้นลงในลักษณะที่มีแรงหนุนหรือมีความเฉื่อย มากน้อยเพียงใด ค่า RSI สูง แสดงว่าในหลายวันที่ผ่านมานี้ ราคาได้ขยับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่มันลดลง ค่า RSI ต่ำแสดงว่าราคาในช่วงหลายวันที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยลดลงมากกว่าขึ้น
กฎเกณฑ์ที่ใช้กับ RSI ที่ใช้กันแพร่หลาย มีดังนี้
- Overbought, Oversold โดยเขตที่จัดว่า Overbought นั้นปกติเครื่องมักจะกำหนดไว้ว่าที่ระดับค่า RSI ที่สูงกว่า 70 ขึ้นไป ซึ่งหมายความว่าราคาได้ขยับตัวขึ้นไปสูงมาก และมีการซื้อกันมากเกินไปแล้ว ในทางตรงกันข้ามถ้าระดับที่อยู่ต่ำกว่า 30 ลงมาก็จะจัดว่า Oversold ซึ่งในตัวมันเองก็จะบอกถึงว่าราคาได้มีการปรับตัวลงมามากแล้ว
- บางคนก็อาจจะรอให้เริ่มมีการตัดเส้น 30 ขึ้นมาก่อนค่อยเข้าซื้อ แต่บางคนอาจจะวัยรุ่นใจร้อนหน่อย เพียงแต่ขอให้เส้นนี้เริ่มผงกหัวขึ้น ในเขต Oversold (หรือผงกหัวลงในเขต Overbought กรณีขาย) โดยใช้เส้นเฉลี่ยเคลื่อนที่ของ RSI เป็นตัวส่งสัญญาณ ก็เริ่มบรรเลงเพลงซื้อขายกันแล้ว เพราะเกรงว่ากว่าจะรอให้ขึ้นมาตัดเส้น 30 อาจจะช้าเกินไป (หรือตัดเส้น 70 ลงมา กรณีขาย) ซึ่งเทคนิคของแต่ละคนก็อาจจะแตกต่าง หรือพิสดารกันไป แต่จะใช้อย่างไรก็ควรที่จะพิจารณาถึงพฤติกรรมที่ผ่านมาของ RSI กับราคาของมันในช่วงเวลานั้นๆด้วย เพราะมีหลายครั้ง ที่การพิจารณาเพียงแค่นี้อาจจะให้ผลที่ผิดพลาดได้ จึงควรที่จะนำเอากฎเกณฑ์ที่จะกล่าวถัดไปมาพิจารณาควบคู่กันไปด้วย
- รูปแบบราคาซึ่งอาจจะไม่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดนัก (อาจจะหลบในอยู่) แต่มักจะแสดงออกหรือพบได้ก่อนใน RSI ซึ่งจะเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้า ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นั้นๆ ในการเคลื่อนไหวของราคา ลองดูตัวอย่างที่ 7.2 ข้างล่างนี้สิครับ จะเห็นได้ว่ามีการฟอร์มตัวแบบหัวและไหล่ (head and shoulders) ใน RSI ดังแสดงด้วยเส้น Neck Line แต่รูปแบบดังกล่าวไม่ได้ฟอร์มตัวในราคาเลย
- แนวต้าน หรือ แนวรับอาจจะถูกพบเห็นใน RSI ได้เด่นชัดกว่าในราคา อย่างเช่นตัวอย่างที่ 7.2 อีกเช่นกัน ท่านผู้อ่านคงจะเห็นได้ชัดว่า เส้นแนวโน้ม (trend line) ที่ลากขึ้นในส่วนของ RSI ได้ทำหน้าที่เป็นแนวรับ และแนวต้านให้กับ RSI ซึ่งแนวรับนั้น ก็จะกลายเป็นจุดที่เข้าทำการซื้อ หาก RSI สามารถยืนตัวถึงดีดตัวขึ้นได้ในระดับดังกล่าว ในทางกลับกันแนวต้านก็จะกลายเป็นจุดขาย หาก RSI ไม่สามารถที่จะทะลุแนวดังกล่าวขึ้นไป ลองสังเกตดูความสัมพันธ์ระหว่าง RSI กับราคา จะเห็นได้ว่า มันให้สัญญาณไม่เลวเลยทีเดียว
- การเกิดกรณีที่เรียกว่า Divergence ตัวอย่างเช่นราคาได้ทะลุผ่านยอดเดิม ขณะที่ตัวของ RSI เองนั้นไม่สามารถทะลุยอดเดิมของมันได้ ซึ่งจะเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าว่ามีโอกาสที่ราคาจะมีการปรับตัวลงได้ในอนาคต ทั้งนี้เป็นเพราะ RSI เป็นตัววัดแรงส่ง ซึ่งแม้ราคาจะยังคงสูงขึ้นแต่ RSI อาจจะลดลงตามความเฉื่อยของราคาได้
สัญญาณ Divergence ระหว่าง RSI กับราคามักจะพบเห็นได้จากการที่ RSI เกิด Failure Swing หรือล้มเหลวที่จะแกว่งตัวขึ้นหรือลงต่อไปตามแนวเดิม เช่น ในขณะที่ RSI กำลังอยู่ในทิศทางขึ้นและเหนือเส้น 70 (Overbought) แต่กลับไม่สามารถสร้าง Top ใหม่ที่สูงขึ้นกว่าเดิมได้ และ Bottom ใหม่ก็กลับต่ำลงกว่าเดิมด้วย แบบนี้เราจะเรียกว่า Top Failure Swing หรือในทางตรงกันข้าม ถ้า RSI อยู่ใต้เส้น 30 (Oversold) ในทิศทางลงแต่กลับสามารถสร้าง Top และ Bottom ใหม่ที่สูงกว่าเดิมได้ก็เรียกว่า Bottom Failure Swing ซึ่งจะเป็นสัญญาณกลับทิศที่สำคัญ
เราจะเห็นว่าสัญญาณสำคัญๆจะเกิดขึ้นในแถบ OB/OS เป็นส่วนใหญ่ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าบริเวณนี้ RSI จะทำงานได้ดีที่สุด และการ Divergence ที่สำคัญอีกลักษณะหนึ่งในเขต OB/OS ก็คือการที่ RSI ไม่สามารถฝ่าแนวต้านจากยอดหรือฐานเก่าไปได้ จะเป็นการเตือนถึงการกลับทิศที่จะตามมา
ตัวอย่างที่ 7.3 เป็นการแสดงการเกิด Divergence ขึ้น ทั้ง 2 แง่มุม มุมแรกคือ การเกิด Divergence ระหว่าง RSI กับราคา ณ บริเวณยอด (top) เช่นที่บริเวณหมายเลข 1 หรือ 3 จะเห็นได้ว่า ราคาหุ้นนั้นได้มีการสร้างยอดใหม่ที่อยู่สูงกว่ายอดเดิม (slope ของเส้นที่ลากเชื่อมกันระหว่างยอดของราคา มีค่าเป็นบวก) ขณะที่ยอดของ RSI ที่บริเวณดังกล่าว ไม่สามารถสร้างยอดใหม่ ที่อยู่สูงกว่ายอดเดิมได้ (slope ของเส้นที่ลากเชื่อมกันระหว่างยอดของ RSI มีค่าเป็นลบ) จึงเกิดการไม่ไปในทิศทางเดียวกัน diverge ขึ้น และโอกาสที่ราคาหุ้นจะมีการปรับตัวลงในเวลาต่อมา ยิ่งมีความเป็นไปได้มากขึ้น
สำหรับที่บริเวณหมายเลข 2 หรือ 4 ก็จะเป็นการเกิด Divergence ในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่เป็นการเกิดที่บริเวณส่วนล่าง (bottom) ลองดูที่บริเวณหมายเลข 4 จะเห็นได้ว่า ราคาได้สร้างจุดต่ำสุดใหม่ ลึกกว่าจุดต่ำสุดเดิม ขณะที่ RSI นั้นไม่ได้สร้างจุดต่ำสุดตามราคา ทำให้ความชัน (slope) ของเส้นที่เชื่อมระหว่างจุดต่ำสุดของราคา กับความชันของเส้นที่เชื่อมระหว่างจุดต่ำสุดของ RSI เบนแยกออกจากกัน ซึ่งเป็นการบอกให้เราทราบว่า ราคาหุ้นมีโอกาสที่จะดีดตัวกลับ
เส้น 70-30 จะสามารถใช้เป็นจุดตัดสินใจสำหรับนักลงทุนได้ง่ายๆ คือ ถ้า RSI ตัดผ่านเส้น 30 ขึ้นก็เป็น Buy Signal และในช่วงที่ RSI ตัดผ่านเส้น 70 ลงมาก็จะเป็น Sell Signal ส่วนระดับ 70, 30 นี้ บางท่านอาจจะเปลี่ยนแปลงขยับช่วงไปเป็น 80, 20 แทนก็ได้ ในกรณีที่ใช้จำนวนวันในการคิดค่า RSI น้อยลง อย่างเช่น จากเดิม 14 วัน เหลือเพียง 9 วัน อาจจะทำให้มีการแกว่งตัวมากขึ้น หรือราบเรียบน้อยลง ดังนั้น การใช้เส้น 70 เพื่อแสดงการ Overbought อาจจะด่วนเกินไปในกรณีนี้ จึงทำให้บางคนมีการขยับเส้น 70 ออกไปเป็น 80 และขยับเส้น 30 ลงไปเป็นเส้น 20 ในการแสดง Oversold
ส่วนในเขตกึ่งกลางระหว่าง 2 เส้นนี้จะถือเป็นช่วงที่ตลาดยังอยู่ในทิศทางเดิมไม่ว่าเป็น uptrend, downtrend หรือ sideways ก็ตาม จะไม่สามารถบอกอะไรได้ชัดเจน ดังนั้นก็อาจจะมีการทำ moving average ของ RSI เสริมเข้ามาเพื่อเป็นตัวกรอง (Filter) ความผันผวนของ RSI ให้เรียบขึ้นอีกทีเพื่อป้องกันสัญญาณหลอกที่อาจเกิดขึ้นเพราะ RSI มักจะมีความไวมาก และผู้ใช้ที่ชอบเล่นเร็วก็มักจะบีบให้ RSI วิ่งเร็วขึ้นอีกโดยการเลือกจำนวนวันที่ใช้ให้น้อยลงเพื่อหวังผลกำไรระยะสั้น