บทที่ 7

กฎทั่วไปในการอ่านค่า Indicators

1. ถ้า Indicators ไต่ขึ้นถึงบริเวณแถบบนหรือล่างของเครื่องชี้หรือที่เรียกว่า Overbought และ Oversold จะแสดงว่าหุ้นมีการซื้อหรือขายออกมามากเกินไป

2. ถ้า Indicators กับราคาเคลื่อนไหวในทิศทางที่แยกจากกัน (Divergence) มักจะเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญว่าอาจจะมีการกลับทิศ (Reversal) ตามมา ซึ่งสัญญาณที่สำคัญจะเกิดขึ้นเมื่อ Oscillator อยู่ในเขต OB/OS

3. สำหรับ Indicators บางตัว การตัดของ Indicators ขึ้นหรือลงผ่านเส้นศูนย์ (Zero line) จะเป็นสัญญาณให้ซื้อหรือขายตาม Trend

.Momentum และ Rate of Change.

เป็น Indicators ตัวหนึ่งที่วัดจากการเปลี่ยนแปลงของราคาปัจจุบัน กับราคาในช่วงเวลา N วันที่ผ่านมา

M = P - Pn

โดยที่

P = ราคาปิด ณ ปัจจุบัน

Pn = ราคาปิด ณ n วันก่อนหน้า

และบางครั้ง Momentum อาจจะวัดได้จาก

R = P/Pn

ซึ่งในกรณีหลังนี้ เราเรียกว่าเป็นการวัด Rate of Change ซึ่งก็เป็นการวัดการเปลี่ยนแปลงอีกแบบหนึ่ง เพราะอันที่จริงแล้วเราสามารถพิสูจน์ได้ว่า R มีค่าเท่ากับ 1 + M/Pn กล่าวคือ ถ้าเราลบ R ออกด้วย 1 เราก็จะได้เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของราคา ในขณะที่ M เป็นตัววัดการเปลี่ยนแปลง หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ R เป็นการวัดเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของราคาบวกด้วย 1 นั่นเอง (งงไหมครับ) ดังนั้นบางท่านก็เลยเอา 1 ไปลบออกจากสูตร ในการคำนวณ Rate of Change กลายเป็น R* = P/Pn -1 ก็ได้เหมือนกัน ซึ่งในกรณีนี้ก็จะเป็นการวัด Rate of Change รอบค่า 0 แทนที่จะวัดรอบค่า 1 ครับ

ในบางครั้ง บางท่านก็มักจะคูณ R ด้วย 100 เพื่อให้เป็นเปอร์เซ็นต์จริง แทนที่จะเป็นจุดทศนิยม แต่ทุกอย่างก็เหมือนกันแหละครับ ในทางปฏิบัติแล้ว Rate of Change (R) กับ Momentum (M) มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมาก และการอ่านค่าต่างๆก็เหมือนกัน เพียงแต่ว่า Momentum จะวัดจากเส้นศูนย์ แต่ Rate of Change จะวัดจากเส้น 1 (หรือ 100 ถ้าเราคูณด้วย 100) ในที่นี้ก็จะขอเรียกรวมๆว่า Momentum แล้วกันนะครับ สะดวกปากคนเขียนครับ

เส้น Momentum ที่สร้างจากจำนวนวันน้อยๆจะมีความไวหรืออ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคา มากกว่าเส้นที่ใช้เวลานานมากกว่า ซึ่งจะมีความเรียบและผันผวนน้อยกว่า ถ้าหากว่าราคายังเคลื่อนที่ไปตาม uptrend และสูงขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอดีต Momentum ก็จะยังคงบวกสูงขึ้นตามได้ แต่ถ้าราคาบวกขึ้นในอัตราที่เท่าเดิม Momentum ก็จะเคลื่อนไปในทิศทางข้างๆ แต่ถ้าราคาบวกขึ้นในอัตราที่ลดลงก็จะทำให้ Momentum อ่อนแรงลงมา ดังนั้นเราจึงใช้ Momentum เป็นตัววัดความเร่งของราคาและชี้นำราคาได้

.การอ่านค่า Momentum.

- ถ้าราคากำลังขึ้นและ Momentum ตัดผ่านขึ้นเหนือเส้นศูนย์และกำลังเคลื่อนที่ขึ้นด้วยเช่นกันจะเป็นการยืนยัน uptrend (ใช้เส้น 1 หรือ 100 แทน ในกรณีของ Rate of Change)

- ถ้าราคากำลังลง Momentum ตกลงและตัวผ่านเส้นศูนย์ลงมาด้วยเช่นกัน จะเป็นการยืนยัน downtrend

ดังนั้น สัญญาณซื้อ จะเกิดขึ้น เมื่อ Momentum ตัดผ่านเส้นศูนย์ขึ้นไปและราคาอยู่ใน uptrend สัญญาณขายจะเกิดขึ้นเมื่อ Momentum ตัดผ่านเส้นศูนย์ลงมา และราคาอยู่ใน downtrend (เช่นเดียวกันครับ ใช้เส้น 1 หรือ 100 แทนเส้นศูนย์ ในกรณีของ Rate of Change)

ตัวอย่างการใช้ Momentum เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ สามารถพิจารณาได้จากตัวอย่างที่ 7.1 ซึ่งกรอบบนของรูปเป็นส่วนของ Momentum กรอบล่างเป็นส่วนของการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นกับเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ จุด buy ที่ปรากฏ ก็คือจุดที่ Momentum มากกว่า 100 และเพิ่มสูงขึ้นกว่าวันก่อน พร้อมๆกับราคาหุ้นก็สูงกว่าเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ขึ้นไปด้วยเช่นกัน (ซึ่งน่าจะมีนัยสำคัญ หรือเป็นตัวกรองได้ดีกว่าเพียงแค่เทียบราคาวันนี้กับราคาวันก่อนหน้า) ในทางกลับกัน จุด sell ก็คือจุดที่ Momentum น้อยกว่า 100 และลดลงกว่าวันก่อน พร้อมๆกับราคาหุ้นก็ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ลงไปด้วย แต่ข้อสังเกตที่ได้เพิ่มเติมคือ กำไรที่ได้ในแต่ละช่วงจะมากน้อยต่างกัน เพราะในช่วงที่ 1 นั้น ความเป็น uptrend มีค่อนข้างมาก สังเกตจากเส้น ema 25 วัน ที่มี slope เป็นบวก ส่วนในช่วงที่ 2 ค่าความชัน slope ของเส้น ema 25 วัน น้อยลง แต่ยังคงความเป็น uptrend อยู่ ส่วนช่วงที่ 3 นั้น เส้น ema 25 วัน นั้น แทบจะเป็นศูนย์ หรือ flat ดังนั้น กำไรในช่วงนี้อาจจะไม่คุ้มก็ได้ หากพิจารณาค่าธรรมเนียมด้วย

เนื้อหาต่อไป : Relative Strength Index (RSI)

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : เครื่องชี้ที่เกี่ยวข้องกับราคา Price Indicators