บทที่ 7

เครื่องชี้ที่เกี่ยวข้องกับราคา Price Indicators

การวิเคราะห์ทางเทคนิคในยุคหลังๆ เป็นการนำเอาเทคนิคเกี่ยวกับสถิติและคณิตศาสตร์ มาประยุกต์ใช้กันมากขึ้น ซึ่งกลายมาเป็นดัชนีชี้ภาวะ (indicators) ของราคาหุ้นในรูปแบบต่างๆกันหลายรูปแบบ ซึ่งในที่นี้จะพูดถึงบางส่วนของดัชนีเหล่านี้ สำหรับผู้ที่สนใจในดัชนีอื่นๆนอกเหนือจากที่กล่าวในที่นี้ สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้เพราะส่วนใหญ่จะใช้แนวความคิดที่ใกล้เคียงกัน

ในการใช้เครื่องมือทางเทคนิควิเคราะห์หุ้นนั้น ส่วนหนึ่งที่เรามักจะได้ยินได้ใช้กันบ่อยๆคือ ตัววัดความแกว่ง (Oscillator) ซึ่งตัววัดความแกว่งนี้ มีอยู่หลายตัวด้วยกันที่เราคุ้นชื่อกันบ่อยๆ ก็เช่น RSI กับ Stochastic เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้เป็นตัวชี้ทิศทางของตลาดในระยะสั้นถึงปานกลางได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดเคลื่อนที่แบบไร้ทิศทางหรือที่เรียกว่า sideway หรือมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอยู่ในช่วงแคบๆแถบหนึ่ง เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว Oscillators จะสามารถเกาะติดราคาได้อย่างใกล้ชิดกว่าเครื่องมืออื่นๆ ทำให้นักลงทุน สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการซื้อขายระยะสั้นแบบเข้าเร็ว-ออกเร็ว แม้ในสภาพตลาดที่ไม่เป็น uptrend หรือ downtrend อย่างชัดเจนก็ตาม และแม้แต่ในช่วงที่ตลาดกำลังมีแนวโน้มที่ชัดเจน Oscillators ก็สามารถช่วยตรวจสอบว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงเข้มแข็งต่อไปหรือกำลังจะอ่อนแรงลงไปแล้วได้อีกด้วย

.ความเข้าใจเบื้องต้นว่าด้วย.

Overbought, Oversold, Convergence และ Divergence

Indicators ส่วนใหญ่จะเป็นอนุพันธ์ (Derivatives) ซึ่งใช้ในการวัดการเปลี่ยนแปลงของราคา อุปมาง่ายๆก็เหมือนกับถ้าเราเปรียบราคาเป็นความเร็วของรถ indicators ก็จะเป็นเหมือนกับความเร่งของรถในกรณีที่เราเหยียบคันเร่งเพิ่ม (หรือความหน่วง ในกรณีที่เราเหยียบเบรก) ซึ่งเป็นการให้ภาพในอีกแง่มุมหนึ่ง ถ้าเราเร่งคันเร่ง ความเร่งสูงขึ้นก็จะทำให้รถวิ่งเร็วขึ้น ในกรณีนี้ เราจะเห็นว่าความเร่งกับความเร็วสูงขึ้นพร้อมๆกัน

ทีนี้ ถ้าเราถอนคันเร่ง เราจะพบว่ารถยังคงวิ่งไปข้างหน้า ตามแรงเฉื่อย แต่ความเร่งเท่ากับศูนย์แล้ว (ก็ถอนคันเร่งแล้วนี่) พอเราเริ่มแตะเบรกเบาๆ (เดี๋ยวหัวทิ่ม) รถก็ยังวิ่งไปข้างหน้าอยู่ แต่แรงเบรกค่อยๆดึงรถให้ช้าลง ในกรณีความเร่งติดลบ (เพราะเราเหยียบเบรกแล้ว) แต่รถก็ยังคงวิ่งไปข้างหน้าได้อีกนิดหน่อย ก่อนที่จะหยุดสนิท ในกรณีนี้ ความเร่งกับความเร็วจะไปกันคนละทิศแล้ว เพราะรถยังวิ่งไปข้างหน้าได้อีก แต่ความเร่งติดลบ (กลายเป็นความหน่วง) ไปเรียบร้อยแล้ว

ราคาหุ้นก็เหมือนกัน บางครั้งเราอาจจะเห็นว่าราคามันยังขึ้นอยู่ แต่ความจริงตลาดขาดแรงส่ง (ซึ่งก็คือความเร่งนั่นเอง) แล้วลักษณะแบบนี้เราเรียกว่าตลาดมันเริ่ม Overbought เพราะคุณหันไปถามเพื่อนนักเล่นหุ้นข้างๆตัว ก็พบว่าซื้อเก็บกันไว้แล้วเกือบทุกคน ใครๆก็มีของ คนที่ซื้อเพิ่มก็มีอีกนิดหน่อย และคนที่มีอยู่ก็ยังยึกยักไว้ยังไม่รีบขาย แต่คนอยากได้ของชักมีน้อยลง ในทำนองกลับกัน ช่วงตลาดตก ทุกคนแห่ขายกันครึกโครม (แต่ไม่ค่อยครื้นเครง) ราคาจะตกเร็วมาก เพราะมีแรงขายเป็นตัวเร่ง แต่พอขายกันถึงจุดๆหนึ่ง แรงขายก็เริ่มหด (ก็ขายกันหมดแล้วนี่ จวนจะหมดของกันแล้ว) แม้ว่าราคาจะยังคงลดลงอยู่ แต่คุณจะพอสังเกตเห็นได้ว่า แรงขายชักจะหดไปเยอะแล้ว กรณีนี้เรียกว่า Oversold คุณหันไปทางไหนก็เจอแต่คนบอกว่า “พอร์ทสะอาดแล้วเฟ้ย ขายเกือบจะเหี้ยนแล้ว”

Indicators ก็เป็นความพยายามที่จะวัดแรงซื้อหรือแรงขาย ซึ่งเป็นตัวกำหนดทิศทางของราคาอีกทีหนึ่ง ดังนั้นในช่วงที่ตลาดยังมีแรงเร่ง Indicators ก็จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคา (เหมือนกับเราเหยียบคันเร่งให้แรงขึ้น แล้วรถก็วิ่งเร็วขึ้น) ซึ่งเรียกว่าเป็น Convergence แต่พอถึงช่วงที่ตลาดเริ่มหมดแรงเร่ง (เหมือนกับเราถอนคันเร่ง) แม้ว่าราคาจะยังคงวิ่งไปในทิศทางเดิม แต่ Indicators บางตัวจะเริ่มวิ่งไปคนละทิศทางกับราคาแล้ว อันนี้เราเรียกว่าเกิด Divergence เป็นสัญญาณเตือนว่า ตลาดเริ่มจะหมดแรงแล้วนะ ระวังๆกันไว้หน่อย เพราะถ้าไม่มีแรงหนุนอื่นเข้ามาเสริม ตลาดอาจจะเปลี่ยนทิศทาง (Reversal) เร็วๆนี้

บางคนที่เล่นเร็วมากๆ ก็เลยประยุกต์หลักการทางเทคนิคอื่นๆไปบนตัว Indicators มันซะเลย เพราะให้สัญญาณรวดเร็วทันใจดี เช่น การใช้ Trend line charting technique หรือ การหาเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของตัว Indicators เป็นตัวบอกสัญญาณซื้อขาย ซึ่งก็ไม่ผิดกติกาหรอกครับ ให้สัญญาณเร็วดี แต่ทางที่ดี ควรจะเริ่มทยอยซื้อหรือขายบ้างทีละน้อย เมื่อมีสัญญาณบอกจากการใช้เครื่องมือทางเทคนิคอื่นกับ Indicators และทยอยซื้อหรือขายไปจนถึงเมื่อเจอสัญญาณจริงๆ (ตัวจริง ของจริง แต่อาจจะช้าหน่อย) แต่บางคนก็เว่อร์ไปหน่อย แค่ Indicators หักหัวเปลี่ยนทิศนิดเดียว แห่ซื้อแห่ขายกันเอิกเกริก ยังงี้ก็มากไปหน่อยครับ

เนื้อหาต่อไป : กฎทั่วไปในการอ่านค่า Indicators

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : Stop And Reverse (SAR)