บทที่ 7

Relative Momentum Index (RMI)

ข้อด้อยอย่างหนึ่งของ RSI คือ ตัว RSI เองมักจะไม่ค่อยกระจายระหว่างเขต Overbought และ Oversold เท่าๆกัน เนื่องจาก ผลของการคำนวณค่าตัวตั้ง และ ตัวหารในสูตร ซึ่งบางครั้งอาจทำให้การกระจายของ RSI เบ้ไปทาง Overbought หรือ Oversold ทางใดทางหนึ่งมากเกินไป ทำให้สัญญาณ ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในระยะสั้น ซึ่งบางคนก็แก้ปัญหานี้ ด้วยการใช้ moving average มาเป็นตัวเสริมในการส่งเสริมในการส่งสัญญาณซื้อขาย บางท่านก็ใช้ trend line charting technique มาเสริม

เพื่อแก้ข้อด้อยอันนี้ Roger Altman เสนอแนวความคิดที่จะปรับปรุง RSI ให้มีพารามิเตอร์เพิ่มอีกตัวหนึ่ง คือ แทนที่จะวัดการเปลี่ยนแปลงของราคาวันนี้เทียบกับเมื่อวานนี้ การหา gain หรือ loss ก็จะวัดการเปลี่ยนแปลงของราคาวันนี้ เทียบกับราคาเมื่อ y วันที่ผ่านมา ซึ่งก็คือเป็นการวัด y-day Momentum นั่นเอง ดังนั้น Altman จึงเรียก RSI ที่ปรับปรุงใหม่นี้ว่า Relative Momentum Index (RMI)

เราสามารถพูดได้อีกอย่างว่า RSI เป็นกรณีพิเศษ (Special Case) ของ RMI กล่าวคือ RSI ก็คือ RMI ในกรณีที่ y=1 ทั้งนี้ เนื่องจาก RSI เทียบราคาวันนี้กับราคาเมื่อวานนี้ ค่าของ RMI จะอยู่ในช่วงระหว่าง 0 ถึง 100 และการตีความหรือวิเคราะห์ ก็เหมือนกับ RSI ทุกประการ แต่มีข้อดีตรงที่ ถ้าเลือกค่า y ที่ใช้ในการคำนวณ Momentum ดีๆ ก็จะช่วยให้ RMI กระจายตัวได้ดี ในช่วง Overbought และ Oversold และส่งสัญญาณทีถูกต้องมากขึ้น

.Stochastic.

เป็นเครื่องมือที่นิยมใช้กันมาก สำหรับตลาดที่แกว่งตัวแบบ sideway และสำหรับคนที่ชอบเล่นเร็ว คนที่ทำให้ Stochastic เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางคือ George Lane จนหลายๆคนคิดว่า Lane เป็นคนคิดค้นขึ้น ความจริงแล้ว indicator ตัวนี้คิดกันขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แน่ะครับ ในนามของบริษัท Investor Educators โดยใช้ชื่อบทความว่า Stochastic Process ซึ่งอันที่จริงแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นการอธิบาย Stochastic Process ของราคา แต่มีเรื่องของ indicator แถมท้ายมาด้วย ปรากฏว่าทำไปทำมา ชื่อบทความเลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของชื่อ indicator ไป ทั้งๆที่ความจริง Stochastic indicator ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Stochastic Process ในทางทฤษฎีโดยตรงเลย

Stochastic มีพื้นฐานมาจากข้อสังเกตที่ว่า ขณะที่ราคากำลังสูงขึ้นนั้น ราคาปิดจะมีแนวโน้มขยับสูงเข้าไปหา High หรือกรอบบนของราคามากขึ้น แต่ในช่วงที่ราคากำลังลดต่ำลงนั้น ราคาปิดก็จะลงมาใกล้กับ Low หรือกรอบล่างของราคามากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นเครื่องมือนี้จึงใช้การวัดสัดส่วนของราคาปิดที่ขึ้นมาสูงกว่า Low ต่อช่วงกว้างของราคาทั้งหมดจาก High ถึง Low ในช่วงเวลา N วันที่ผ่านมา ซึ่งโดยปกติจะเป็น 5 วัน (N = 5)

โดยที่

C คือ ราคาปิด ณ ปัจจุบัน

HN คือ ราคาสูงสุดในช่วง N วันที่ผ่านมา

LN คือ ราคาต่ำสุดในช่วง N วันที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ค่า % K ที่ได้นั้น อาจจะมีการแกว่งตัวที่เร็วเกินไป ดังนั้น จึงอาจมีการปรับให้เกิดความเรียบในตัวเอง (internal smoothing) มากขึ้น หรือทำการแปลง % K ให้เป็น % K slowing ดังสูตรต่อไปนี้

โดยที่

n = จำนวนวันที่ใช้ในการปรับค่าให้เรียบ (ซึ่งปกติมักใช้ 3 วัน)

ผลรวมของ (C - L5) ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา

ผลรวมของ (h3 - L5) ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา

นอกจาก %K ทีกล่าวมาข้างต้นแล้ว Stochastic ยังประกอบด้วยเส้นอีกเส้นหนึ่ง ที่เรียกว่า %D ซึ่งก็คือ moving average ระยะเวลา M วัน (โดยทั่วไปใช้ 3 วัน) ของ %K (หรือ %K slowing) อีกทีนั่นเอง จึงมีความเรียบกว่าและเคลื่อนไหวช้า (แต่มีนัยสำคัญ) กว่า %K ดังนั้น ในกราฟจึงมีทั้งเส้น %K (เส้นทึบ) และเส้น %D (เส้นประ) เคลื่อนตัวอยู่

สมมติว่าถ้าเราคำนวณได้ค่า %K เท่ากับ 0.38 ก็หมายความว่าราคาปิดวันนี้อยู่ที่ระดับ 38% สัมพัทธ์เมื่อเทียบกับช่วงการซื้อขาย 5 วันที่ผ่านมา

เส้นเกณฑ์ที่จะกำหนดเขต OB/OS ของ Stochastic จะอยู่ที่เส้น 80 และเส้น 20 ตามลำดับ สำหรับการอ่านค่าของ Stochastic นั้น ว่ากันว่า สัญญาณซื้อ ที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้นขณะที่เส้น %D อยู่ระหว่างช่วง 10-15 และ สัญญาณขาย ที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้นขณะที่เส้น %D อยู่ระหว่างช่วง 85.90

วิธีการที่นิยมในการนำมาพิจารณาจังหวะซื้อหรือขายมี 7 แบบคือ

1. ซื้อ เมื่อ Oscillator ปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 20 และกลับมาขยับตัวขึ้นเหนือระดับนั้น และ ขาย เมื่อปรับตัวกลับขึ้นมาเหนือระดับ 80 และวกตัวกลับมาตัดระดับที่ 80 ในทิศทางลง

2. ซื้อ เมื่อ %K ตัด %D ขึ้น และขาย เมื่อ %K ตัด %D ลง กรณีนี้ ยังแยกได้เป็นอีก 2 กรณีย่อย คือ %K ตัด %D โดยที่ %K (ซึ่งเร็วกว่า) วกหัวมาตัดก่อน (ดังนั้นจะตัดด้านซ้ายของเส้น %D เรียกว่า Left Crossing) กับกรณีที่ %K ตัดกับ %D ก็จริง แต่ %D (ซึ่งช้ากว่า) วกหัวก่อน (%K ก็เลยตัด %D ทางด้านขวาของเส้น %D เรียกว่า Right Crossing) ทั้งสองกรณีอ่านค่าได้เหมือนกัน แต่กรณีหลังจะชัวร์กว่ากรณีแรก เพราะการที่ %D วกหัวก่อน แสดงว่าเป็นการเปลี่ยนทิศทางแบบไม่หวือหวาและมีเสถียรภาพมากกว่า

3. การ Divergence ก็จะเกิดขึ้นได้เมื่อ %D อยู่เหนือเส้น 80 แต่ไม่สามารถสร้าง Top ใหม่ที่สูงขึ้นกว่าเดิมได้ ขณะที่ราคายังคงไต่ไปตาม uptrend อยู่ ในทางตรงข้ามสัญญาณกลับทิศจาก downtrend มาเป็น uptrend ก็จะเกิดขึ้นขณะที่เส้น %D อยู่ใต้เส้น 20 และสร้าง bottom ใหม่ที่สูงขึ้นกว่าเดิม อันนี้เป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้า ราคาอาจจะวิ่งไปตามทิศทางเดิมได้อีกนิดหน่อย ดังนั้น รีบหาโอกาสขาย (เมื่อเกิด Divergence ที่บริเวณ top) หรือซื้อ (เมื่อเกิด Divergence ที่บริเวณ bottom) ซะ เพราะอีกไม่นานอาจจะมีการเปลี่ยนทิศได้ ลักษณะนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Set up

4. การเฉื่อยลงของ %K หรือ %D อย่างเห็นได้ชัด (ซึ่ง George Lane แกเรียกว่า Hinge) แสดงให้เห็นว่าตลาดอ่อนตัวแล้ว เป็นสัญญาณให้ระวังตัวว่าตลาดพรุ่งนี้อาจจะเปลี่ยนทิศทางได้

5. การหักหัวเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็วของ %K (ซึ่งเร็วกว่า) และเป็นไปแบบรุนแรง (2-12%) เป็นสัญญาณเตือนว่าตลาดจวนจะหมดแรงเต็มแก่แล้ว ทิศทางเดิมของราคาจะยืนอยู่ได้อย่างเก่งก็ไม่เกิน 2 วัน

6. ค่า %K จะอยู่ในช่วง 0 ถึง 100 เมื่อ %K วิ่งไปถึงจุดปลายสุด (Extremes) ทั้งสองจุดนี้ มักจะเป็นสัญญาณให้เก็บของ (%K=0) หรือ ระบายของ (%K=100) ได้ ทั้งนี้ เพราะการที่ %K จะวิ่งไปถึงจุดปลายสุดเหล่านี้ได้ ราคาจะต้องปิดที่สูงสุดหรือต่ำสุดติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 วัน (ดูจากสูตรของ %K ก็จะเข้าใจครับ) และจำนวนวันอาจจะต้องมากกว่านี้ ถ้าเราใช้ Stochastic ที่ช้าลง

7. ถ้า %K ตัด %D ไปแล้ว แล้วพยายามวกหัวกลับมาหา %D ใหม่ แต่วกมาได้ไม่ถึง (หรืออาจจะแค่แตะ แต่ไม่ทะลุ) %D อันนี้เป็นการยืนยันสัญญาณที่ชัดเจน ว่าที่มันเพิ่งตัดกันไปคราวก่อนนั้น เป็นสัญญาณชัวร์แล้วครับ

ตัวอย่างที่ 7.4 ที่จะนำเสนอ (แหม! ดูเป็นทางการเชียว) เป็นการนำเอา Stochastic มาใช้ในการหาจังหวะเข้าออกกับ SET index ซึ่งหัวลูกศรชี้ลง หมายถึงสัญญาณซื้อ หรือเก็บของเพิ่ม ส่วนหัวลูกศรชี้ขึ้น หมายถึงสัญญาณขาย หรือทยอยทำกำไรระยะสั้น (แล้วแต่กรณี) ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า ข้างๆลูกศรจะมีคำว่า Buy หรือ Sell กำกับอยู่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าบางครั้งมีจังหวะซื้อหรือขายได้มากกว่า 1 จุด คำถาม (ที่ไม่น่าจะเป็นคำถาม) ก็คือว่า ทำไมต้องมีหลายจุด คำตอบมันอยู่ที่หลักที่จะนำมาใช้ในการหาจังหวะตัดเท่านั้นเอง (ตั้งหลายข้อ ที่เพิ่งจะกล่าวมา) เพราะบางคนเห็นแค่ตัดขึ้น (แต่ไม่มีการยืนยัน จากอีกสักจังหวะ) ก็ลุยกันแล้ว ระวังจะเจอตอแล้วกัน! เพราะจากที่กล่าวมาข้างต้น เครื่องชี้ตัวนี้ ค่อนข้างเคลื่อนที่เร็ว จึงอาจจะเกิดสัญญาณหลอกขึ้นได้ ดังนั้น บางคนจึงใช้จังหวะการตัดกันของเส้น ค่อยๆทยอยเก็บหรือระบายหุ้นไป คล้ายกับการให้สัญญาณในเรื่องของ moving average ที่เคยกล่าวมาแล้ว ลืมหรือยัง?

นอกจากนี้ ไม่เพียงแค่ RSI เท่านั้นที่จะมีการ Divergence การกับการเคลื่อนไหวของราคา แต่ Stochastic ก็สามารถที่จะเกิด Divergence กับราคาได้เช่นกัน (ไม่ยอมให้น้อยหน้า) ตามตัวอย่างที่ 7.5 ต่อไปนี้

เนื้อหาต่อไป : William’s %R

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : Relative Strength Index (RSI)