บทที่ 6

Moving Averages Convergence Divergence

MACD

อันที่จริงแล้ว MACD ก็เป็นอีกเครื่องชี้หนึ่ง ซึ่งควรจะจัดอยู่ในหมวดของเครื่องชี้ประเภท indicator แต่เนื่องจากมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับระบบค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ จึงนำมารวมกันไว้ในบทนี้

ดังที่ได้เรียนไว้ตอนก่อนหน้านี้ว่า ระบบที่ใช้ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่สองเส้นนั้น มักจะให้สัญญาณที่ช้ากว่า แต่เนื่องจากค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่นั้นเรียบกว่า จึงทำให้สามารถกรองสัญญาณหลอกได้ดี มีข้อผิดพลาดน้อยกว่า Gerald Appel จึงได้พยายามหาระบบที่จะมีส่วนดีในการกรองสัญญาณหลอก และในขณะเดียวกัน ก็ต้องให้สัญญาณที่เร็วกว่าระบบค่าเฉลี่ย 2 เส้น ซึ่งกลายเป็นที่มาของ MACD ในที่สุด

Appel ให้ข้อสังเกตว่า ในระบบค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 2 เส้นนั้น ก่อนที่ค่าเฉลี่ย 2 เส้นใกล้จะตัดกัน (ก็คือส่งสัญญาณซื้อหรือขายนั่นเอง) เส้นทั้งสองจะวิ่งเข้ามาใกล้กันมากขึ้น จนตัดกันในที่สุด ระหว่างที่เส้นทั้งสองวิ่งเข้ามาหากันนั้น ระยะห่างระหว่างเส้น 2 เส้นก็จะหดตัวลงโดยปริยาย ดังนั้น เขาจึงเสนอให้นำเอาระยะห่างระหว่างเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 2 เส้นมา Plot เป็นเส้น MACD เมื่อเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นตัดเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาวขึ้นไปข้างบน (Buy Signal ในระบบค่าเฉลี่ย 2 เส้น) MACD ก็จะตัดเส้น 0 ขึ้นข้างบน และเมื่อเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นตัดเส้นระยะยาวลงข้างล่าง (Sell Signal) MACD ก็จะตัดเส้น 0 ลงมาข้างล่าง

Appel เสนอให้ใช้ค่าเฉลี่ยแบบ EMA ระยะเวลา 12 วัน (smoothing constant = 0.15) เป็นค่าเฉลี่ยระยะสั้น และค่าเฉลี่ย EMA ระยะเวลา 26 วัน (smoothing constant = 0.075) เป็นค่าเฉลี่ยระยะยาว ดังนั้น MACD จึงคำนวณได้จาก

MACD = EMA(12) - EMA(26)

ซึ่งจากสูตร ท่านผู้อ่านคงจะเห็นได้ว่า MACD นี้เป็นกรณีเฉพาะ (special case) ของ price oscillator ที่ได้กล่าวไปแล้วและจากการ Plot เส้น MACD ดังกล่าว จะพบว่า เส้น MACD นี้จะเปลี่ยนแนวโน้มของตัวเองได้ กล่าวคือ ในบางครั้ง แม้ว่าราคาจะยังคงสูงขึ้นอยู่ แต่ระยะห่างระหว่างเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 2 เส้นนั้นกลับลดลง ส่งผลให้ MACD มีแนวโน้มลดลง ซึ่งทำให้เกิดการ Divergence ขึ้นกับราคา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ราคากับเครื่องชี้ (คือ MACD) มีแนวโน้มสวนทางกัน ดังนั้น MACD จึงสามารถให้สัญญาณเตือนของการเปลี่ยนทิศทางได้

นอกจากนี้ ยังสามารถนำหลักการของ Moving Averages มาประยุกต์เข้ากับ MACD ได้อีก เพื่อใช้เป็นสัญญาณซื้อขาย (แทนที่จะแค่เตือน) แบบรวดเร็วขึ้น Appel เสนอให้ใช้เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของ MACD แบบ EMA ระยะเวลา 9 วัน (dotted line) ซึ่งมี smoothing constant 0.2 เป็นตัวบอกสัญญาณ กล่าวคือ ถ้าเส้น MACD ตัดเส้น EMA 9 วันของตัวมันเอง ขึ้นไปข้างบน จะเป็นสัญญาณซื้อ แต่ถ้า MACD ตัดเส้น EMA 9 วันลงข้างล่าง เป็นสัญญาณขาย

ดังนั้น MACD จึงมีสัญญาณซื้อขายได้ 2 ระดับ ระดับแรกเป็นระดับที่ให้สัญญาณเร็ว คิดจากการตัดกันของเส้น MACD กับค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบ EMA ของตัวมันเอง ระยะเวลา 9 วัน ระดับที่สองเป็นระดับที่ให้สัญญาณที่ช้าแต่ค่อนข้างชัวร์ คือดูว่า MACD ตัดกับเส้น 0 เพราะสัญญาณนี้เป็นสัญญาณเดียวกับระบบเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่สองเส้น

ลองดูตัวอย่างกันสักหน่อย เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ตัวอย่างที่ 6.6 จะเป็นรูปร่างหน้าตาของ MACD, dotted line และ zero line ของหุ้นในช่วงเวลาที่พิจารณา ดังนั้น ถ้าพิจารณาในช่วงเวลาอื่น มันก็จะมีหน้าตาที่แตกต่างกันไป (ยกเว้นเส้นศูนย์)

ตัวอย่างที่ 6.7 แสดงให้เห็นจุดที่จะเข้าทำการซื้อ (buy) และ ขาย (sell) โดยอาศัยทั้งเส้นศูนย์ และ dotted line เป็นตัวให้สัญญาณ ซึ่งจะเห็นได้ว่า แต่ละครั้งไม่เลวเลยทีเดียว! แต่สิ่งที่จะได้เพิ่มเติมจากรูปข้างล่างนี้คือ เรื่องของ Divergence กล่าวคือ ในช่วงเดือนมีนาคม ราคาหุ้นได้สร้างยอดใหม่ที่สูงกว่ายอดเดิม ที่เคยปรากฏในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ MACD กลับไม่สามารถสร้างยอดใหม่ได้ แถมดันเกิด reversal pattern ที่เรียกว่า double tops ขึ้นมา จึงเป็นการเตือนผู้เล่นให้เพิ่มความระมัดระวัง เพราะอาจจะมีการปรับตัวลงได้ในช่วงเวลาถัดมา ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ราคาหุ้นก็ได้มีการปรับตัวลงมาจริง

นอกจากนี้ zero line ยังสามารถที่จะใช้เป็นแนวรับหรือแนวต้านได้ เพราะการที่เส้น ema 10 วัน ไม่ตกทะลุเส้น zero line ลงมา แถมยังมีการดีดตัวขึ้นได้ ก็เท่ากับว่าสัญญาณขายไม่เกิดขึ้น แถมยังมีแรงซื้อเข้ามาช้อน หรือหนุนอีก บางคนจึงใช้เป็นจุดเข้ามาช้อนหุ้นอีกครั้ง แต่ถ้าทะลุลงไป นั่นหมายถึงตอนนั้น zero line จะกลายเป็นแนวต้านแล้ว

เนื้อหาต่อไป : Parabolic Time / Price System

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : Price Oscillator