บทที่ 6

Price Oscillator

เป็นเครื่องชี้ (indicator) ประเภทหนึ่ง ซึ่งที่จริงแล้ว น่าจะไปกล่าวไว้ในส่วนของ indicator แต่ที่นำมากล่าวไว้ในส่วนนี้ เพราะเครื่องมือชนิดนี้ มีส่วนช่วยในการพิจารณาว่า ราคาตัดกับเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่หรือยัง คำถามที่เกิดขึ้นในใจท่านผู้อ่านคงเป็นเรื่องที่ว่า อะไรกัน! ดูจากรูปยังไม่รู้อีกหรือว่า ราคาตัดเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ หรือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ตัดเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่อีกเส้นหรือยัง?

คำตอบอยู่ที่ว่า บางครั้งราคากับเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่นั้น มันอยู่ใกล้กันค่อนข้างมาก แม้จะเพ่งพิศดู ก็ใช่ว่าจะบอกได้เต็มปากเต็มคำว่า มันตัดขึ้นหรือตัดลงแล้ว เชื่อเถอะครับ เพราะเจอบ่อยครั้งมากทีเดียว เอาละ! ท่านผู้อ่านคงอยากทราบแล้วว่า เครื่องชี้ดังกล่าวมันคำนวณมาจากสูตรอะไร? และมีรูปร่างอย่างไร? ตัวอย่างที่ 6.5 ข้างล่างนี้จะเป็นการอธิบายได้อย่างดี

สูตรที่ใช้คำนวณ คือ

Price Oscillator = MA ระยะสั้น - MA ระยะยาว

ในส่วนของกรอบบนนั้นจะเป็นส่วนของ indicator ซึ่งในที่นี้ก็คือ price oscillator สำหรับกรอบล่างจะเป็นการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น MCC รวมถึงเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบ exponential ทั้ง 10 และ 25 วัน ส่วนนั้นสัมพันธ์กันอย่างไร?

ในกรอบล่างนั้นคงไม่ต้องกล่าวซ้ำ เพราะเคยกล่าวมาแล้ว (ดูรูปก็น่าจะคุ้นๆตากันบ้างน่า) จึงจะมาว่ากันในส่วนของกรอบบน ที่เป็นส่วนของ price oscillator ซึ่งจริงๆแล้ว price oscillator ที่จะกล่าวนี้ ไม่ใช่ของใหม่อะไรนัก ที่กล่าวอย่างนี้เพราะการสร้าง price oscillator นั้น จากสูตรจะเห็นได้ว่า เป็นความแตกต่างระหว่างเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 2 เส้นที่มีระยะเวลาต่างกัน ดังนั้น เราต้องระบุระยะเวลาในการคำนวณเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 2 เส้น ทีมีระยะเวลาต่างกันเข้าไปในโปรแกรมซึ่งในที่นี้คือ 10 และ 25 วัน (เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบล่างในการเปรียบเทียบ ก็ต้องบอกโปรแกรมด้วยว่าให้คำนวณแบบ exponential) เครื่องมันจะจัดการสร้างรูปให้เสร็จ จะเห็นได้ว่ามีทั้งเส้นยึกยัก กับเส้นศูนย์ (zero line) โดยที่เส้นยึกยัก แท้จริงก็คือเส้นค่าเฉลี่ยที่ (ema) 10 วันนั่นเอง ขณะที่ zero line ก็คือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (ema) 25 วัน แต่แทนที่จะเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (ema) 25 วันนั้นยึกยักไปมา มันก็จะถูกโปรแกรมจัดการดึงให้มันตรงและนำไปวางไว้ที่ศูนย์ โดยปล่อยให้เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (ema) 10 วันยึกยักไปมาแทน ซึ่งระยะห่างของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (ema) 10 วันกับเส้นศูนย์นั้น ยังไงๆก็เท่ากับระยะห่างของเส้น ema 10 วันกับเส้น ema 25 วันในกรอบล่างจริงไหม? ลองนึกดูให้ดี เพราะมันเป็นสิ่งเดียวกัน

ดังนั้น จุดซื้อ (buy) หรือจุดขาย (sell) จะเป็นจุดเดียวกันทั้งกรอบล่างและบน แต่การพิจารณาว่ามันตัดกันหรือยังจะทำได้ง่ายกว่า เพราะเครื่องจะคำนวณค่าบวก ค่าศูนย์ หรือลบ ออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งเราสามารถเรียกดูได้ เพราะถ้าได้ค่าเป็นบวก ก็หมายถึง เส้น ema 10 วัน ตัดเส้น ema 25 วันขึ้นมา แต่ถ้าเป็นลบ ก็หมายถึงเส้น ema 10 วัน ตัดเส้น ema 25 วันลงมานั่นเอง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้เพิ่มเติมอีกประการหนึ่งจากกการสังเกต คือ บางครั้งความห่างระหว่างเส้น ema 10 วันกับ zero line นั้น สามารถบอกถึงแนวรับแนวต้านได้ ดังเช่นบริเวณเส้นไข่ปลาที่ 1 ซึ่งกรณีนี้จะเป็นแนวต้าน และหุ้นก็ได้มีการปรับตัวลงจริง สังเกตดูในกรอบล่างด้วย

เนื้อหาต่อไป : Moving Averages Convergence Divergence (MACD)

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : การเคลื่อนย้ายค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ตามแนวนอน Displaced Moving Average