บทที่ 5

แผนภาพ Point & Figure

แผนภาพ Point-and-Figure เป็นวิธีการวิเคราะห์ทางเทคนิคอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาช้านาน รูปแบบของแผนภาพสำหรับการวิเคราะห์แบบ Point-and-Figure นี้ จะมีข้อแตกต่างจากแผนภาพที่ใช้ในการวิเคราะห์ทางเทคนิคประเภท Bar Chart ที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่อยู่พอสมควร เพราะใน bar chart นั้น แกนนอนจะแสดงให้เห็นถึงเวลา ซึ่งเวลาเราดูรูปเราก็จะรู้ทันทีว่า ณ วันหนึ่งวันใดในอดีต ราคาเปิดสูงสุดต่ำสุดของวันนั้นเป็นเท่านี้ และแท่ง Bar Chart แท่งหนึ่งก็แทนการซื้อขาย 1 วัน (ในกรณี daily chart) หรือ อาจจะ 1 สัปดาห์ (ในกรณี weekly chart) ซึ่งจะแน่นอนตายตัว

แต่ในแผนภาพแบบ Point-and-Figure นั้น จะแสดงการเกิดขึ้นของราคาด้วยตัวอักษร O และ X ดังแสดงในรูปที่ 5.1

แม้กราฟที่เห็นจะดูเป็นแท่งๆ เหมือนกัน แต่เราก็บอกไม่ได้ว่าแต่ละแท่งกราฟนั้น กินเวลานานเท่าใด เพราะตราบใดที่ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือกลับทิศทาง การเคลื่อนไหวของราคา ก็ยังคงแสดงอยู่ในแท่งกราฟ (O หรือ X ) อันเดิม ดังนั้น แท่งกราฟหนึ่งแท่ง อาจจะแสดงข้อมูลหลายวันก็ได้ ซึ่งนี่เป็นเสมือนกลไกของการบีบอัดข้อมูล ( compression) เพื่อให้เห็นแนวโน้มของราคาในอีกรูปแบบหนึ่ง ผลพลอยได้ที่สำคัญก็คือกลไกการบีบอัดข้อมูลนี้ จะช่วยกรองเอาการเคลื่อนไหวของราคาที่เป็นการเคลื่อนไหวแบบสุ่ม (noise) และไม่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มออกไป ทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนนั้น

.การสร้างแผนภาพ Point-and-Figure.

มาถึงตอนนี้ คงจะต้องเริ่มเข้าสู่วิธีการในการสร้างแผนภาพ พ้อย แอนด์ ฟิกเกอร์ กันแล้ว โดยมีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการสร้างแผนภาพ คือ สมุดกราฟ (ซึ่งมีตารางเป็นช่องๆ ที่เคยใช้ในสมัยเด็กๆ เวลาที่คุณครูให้เขียนกราฟ นั่นแหละครับ) แต่ท่านผู้อ่านบางท่าน อาจจะบอกว่าเดี๋ยวนี้มีคอมพิวเตอร์ ตลอดจนถึงโปรแกรมที่จะจัดการสร้างแผนภาพ พ้อย แอนด์ ฟิกเกอร์ แล้วทำไมยังต้องใช้อีก (ล้าสมัยไปหรือเปล่าผู้เขียน) แต่ในความเห็นของผู้เขียน เห็นว่า การเข้าใจในหลักการขั้นพื้นฐาน คงไม่ทำให้เกิดความเสียหายอะไรขึ้นมา ดังนั้น การลงมือทำการสร้างแผนภาพด้วยตนเอง ให้มีความเข้าใจและชำนาญก่อน แล้วค่อยไปใช้เครื่องคอมพิวเตอร์มาช่วยในการสร้างแผนภาพทีหลัง นำจะเป็นการเสริมให้ผู้ใช้มีความชำนาญมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่าแผนภาพที่เครื่องคอมพิวเตอร์สร้างให้บางครั้งนั้น ยากต่อการพิจารณา เพราะรูปมันเล็กจนเกินไป สำหรับผู้ที่เคยผ่านการใช้สมุดกราฟในการสร้างแผนภาพ คงมีหนทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวอยู่บ้าง

ขั้นแรกในการลงมือสร้างแผนภาพ คงเป็นเรื่องการกำหนดขนาดช่อง (box size) ว่าแต่ละช่องมีค่าเท่ากับเท่าไร วิธีที่ง่ายที่สุดคือ กำหนด box size เท่ากับช่วงการเปลี่ยนแปลงของราคา หรือ spread ในการซื้อขายหุ้นนั่นเอง ตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าราคาหุ้นอยู่ระหว่างราคาตั้งแต่ 100 ถึง 199 บาท ขนาด box size จะเท่ากับ 1 บาท ซึ่งเท่ากับช่วงการเปลี่ยนแปลงของราคาในตอนซื้อขายหุ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การกำหนด box size นั้น เป็นไปตามที่ผู้ศึกษาจะพิจารณาเห็นสมควร เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีข้อฝากเตือนใจนิดหนึ่งว่า ขนาดของ box size นั้น จะมีผลต่อความไวในการเปลี่ยนแปลงทิศทางของราคา โดยถ้ายิ่งมีค่าน้อย การเปลี่ยนแปลงทิศทางก็จะยิ่งไวขึ้น ดังนั้น การจะเลือกขนาดของ box size ควรที่จะมีความสัมพันธ์ต่อช่วงที่ใช้ในการศึกษาด้วย อาทิ ถ้าต้องการศึกษาการเคลื่อนไหวของราคาในช่วงระยะยาว การเลือกขนาดของ box size นั้น ก็ควรที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าปกติ เป็นต้น

ขั้นที่ 2 ควรที่จะเข้าใจวิธีการบันทึกราคาลงไปในตาราง ตลอดจนถึงกฎเกณฑ์ที่จำเป็นต้องทราบในการสร้างแผนภาพเพื่อที่จะให้เข้าใจในหลักเกณฑ์ รวมถึงกฎไปพร้อมๆ กัน ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้

สมมติว่า ขณะนี้ราคาหุ้นอยู่ที่ราคา 150 บาท เราก็บันทึกค่า 150 บาทลงไป แต่ไม่ใช่ในลักษณะที่เป็นค่าตัวเลข แต่จะใช้สัญลักษณ์ Xหรือ O แทน การจะใช้เครื่องหมายใดควรดูว่า หลังจากราคาที่ 150 บาทแล้ว ราคาหุ้นมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด เพราะสัญลักษณ์ Xและ O มีความหมายแตกต่างกัน กล่าวคือ ถ้าหากว่า ราคามีการเคลื่อนไหวในทิศทางขึ้น ก็จะใช้สัญลักษณ์ X สมมติว่า ราคาเคลื่อนตัวขึ้นไปถึงระดับราคาสูงสุดที่ 160 บาท และปิดที่ระดับราคานี้ด้วยเราก็จะได้สัญลักษณ์ X เพิ่มขึ้นอีก 10 ตัวจริงไหม (รูปที่ 5.2) เพราะแต่ละช่องที่ใช้บันทึกค่า X นั้นมี box size เท่ากับ 1 บาท ดังนั้น เมื่อราคาสูงสุดเปลี่ยนแปลงไปถึง 10 บาท จำนวน X ที่ได้เพิ่มเข้ามาจึงมี 10 ตัว

ในทางกลับกัน หากราคาหุ้นมีการอ่อนตัวลงจากระดับราคา 150 บาท ลงไปที่ระดับราคาต่ำสุดที่ 140 บาท และปิดที่ระดับราคานี้ด้วย ก็จะทำการใช้สัญลักษณ์ O ในการบันทึกค่าลงไป(รูปที่ 5.3)

มาถึงตรงจุดนี้ ทำให้เราทราบได้ว่า สัญลักษณ์ใดที่ใช้ในกรณี ไหน และเพื่อความสะดวกในการอธิบาย จะขออธิบายในกรณีที่หุ้นมีการเริ่มต้นด้วยแถว X ก่อน สมมติว่าในวันที่ 2 ราคายังคงปรับตัวขึ้น โดยมีราคาสูงสุดอยู่ ที่ 170 บาท เราก็ไม่ต้องทำอะไรมาก นอกจากบันทึกราคาต่อขึ้นไปจนถึงระดับราคา 170 บาททั้งนี้เพราะราคาสูงสุดอยู่สูงกว่าวันก่อน (170>160)

แต่ถ้าหากว่าราคาสูงสุดวันที่ 3 ไม่เกินราคาสูงสุด (170) เช่นอยู่ที่ 170 บาท ก็ต้องหันกลับมาพิจารณาว่า ราคาต่ำสุดวันที่ 3 อยู่ต่ำกว่าราคาสูงสุด (170) อย่างน้อยสามช่วงการเปลี่ยนแปลงของราคาหรือไม่ ? ซึ่งในที่นี้ สมมติให้ราคาต่ำสุดเท่ากับ 169 บาท ซึ่งไม่น้อยกว่าสามช่วงของการเปลี่ยนแปลงราคา ซึ่งมีค่าในที่นี้เท่ากับ 3 บาท ก็นั่งอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องบันทึกอะไร

ในทางกลับกัน หากราคาต่ำสุดวันที่ 3 อยู่ที่ 166 บาท ซึ่งอยู่ต่ำกว่า 170 บาทลงมามากกว่า 3 บาท กรณีนี้ก็เริ่มบันทึกสัญลักษณ์ O ลงไปในคอลัมน์ที่อยู่ทางขวามือของคอลัมน์ X โดยเริ่มบันทึกในช่องที่อู่ต่ำกว่าช่องราคาสูงสุด X ลงไปหนึ่งช่อง ดังรูปที่ 5.4

ท่านผู้อ่านคงสงสัย ว่า 3 บาท ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา การเปลี่ยนการใช้สัญลักษณ์ Xมาเป็น O นั้นมาจากไหน? แท้จริงแล้วมันเป็นกฎที่นิยมใช้กัน ซึ่งกฎดังกล่าวเรียกกันว่า Three-box reversal ซึ่งได้มาจาก ค่าสามเท่าของ box size ซึ่งจากข้างต้นที่กำหนด box size เท่ากับ 1 บาท ดังนั้น Three-box reversal มีค่าเท่ากับ 3 บาทนั่นเอง แต่ถ้าใครอยากจะเปลี่ยนกฎ reversal นี้ เป็นค่าอื่นนอกจากค่า 3 เท่าของ box size ก็ได้ แต่ควรที่จะดูว่า เมื่อเปลี่ยนไปแล้ว แผนภาพที่ได้ออกมานั้น มีนัยสำคัญในการพิจารณาเคลื่อนไหวของราคาหรือไม่ ? หรือให้รูปแบบราคาที่เกิดสัญญาณซื้อหรือขายที่เชื่อถือได้หรือไม่ ?ถ้าใช้ได้ดีกว่า ก็คงไม่มีใครห้าหรอกครับ

นอกจากนี้สิ่งที่ท่านผู้อ่านสังเกตได้อีกอย่างหนึ่งคือ ในการบันทึก พ้อย แอนด์ ฟิกเกอร์ นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับราคาปิดเลย ซึ่งเป็นไปตามหลักการของ พ้อย แอนด์ ฟิกเกอร์ ที่จะพิจารณาเพียงเฉพาะราคาสูงสุด กับราคาต่ำสุดเท่านั้น

แต่ถ้าสมมติว่า ในวันที่ 1 เรากำลังอยู่ในคอลัมน์ O อยู่ แทนที่จะอยู่ในคอลัมน์ X ข้างต้น อันเป็นผลเนื่องมาจาก การที่ราคาได้ปรับตัวลงจาก 150 บาท ลงไปที่ระดับ 140 บาท และถ้าหากราคาต่ำสุดในวันที่ 2 อยู่ที่ 130 บาท เราก็บันทึกสัญลักษณ์ O ต่อลงไปจนถึง 130 บาท อย่างไรก็ตาม หากราคาต่ำสุดในวันที่ 3 อยู่ที่ 130 บาท ซึ่งไม่ต่ำกว่าราคาต่ำสุด (130)ต้องมาพิจารณาว่า ราคาสูงสุดเกินค่า Three-box reversal หรือไม่ ซึ่งกรณีที่ราคาสูงสุดในวันที่ 3 อยู่ที่ 131 บาท (ยังน้อยกว่า 3บาท) ก็ไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้าหากว่า ราคาสูงสุดในวันที่ 3 อยู่ที่ 134 บาท ก็เริ่มเกิดการ reversal โดยในการบันทึกนั้น จะเปลี่ยนสัญลักษณ์ จาก O มาเป็น X ซึ่งเริ่มบันทึกในคอลัมน์ถัดมาทางขวามือของคอลัมน์ O และเริ่มในช่องที่อยู่สูงกว่าช่องที่บันทึกสัญลักษณ์ O ขึ้นมาหนึ่งช่อง (ดังรูปที่ 5.5 ในหน้าที่แล้ว)

อย่างไรก็ตาม บางครั้งการเปลี่ยนแปลงของราคาค่อนข้างที่จะมีวงกว้าง เช่น ราคา สูงสุดในวันที่ 10 อยู่กว่าราคาสูงสุดของ X ที่กำลังบันทึกอยู่ ในวันที่ 9 แต่หากมองถึงราคาสต่ำสุดในวันที่ 10 แล้ว พบว่า มีค่ามากกว่า Three-box reversal ถ้าปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ แล้ว ก็คงจะบันทึกจำนวน X ต่อไปจนถึงจุดสูงสุดที่ได้ในวันที่ 10 โดยไม่เหลียวแลต่อค่าต่ำสุดที่เกิด แต่ถ้าทำเช่นนั้น อาจจะดูเหมือนว่าเป็นการเพิกเฉยต่อสิ่งที่อาจจะกลายมาเป็นสัญญาณวกกลับ ที่มีนัยสำคัญก็ได้ หนทางในการจัดการต่อสถานการณ์เช่นนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคน อาทิ บันทึก X จนถึงราคาสูงสุดก่อน แล้วจึงเลื่อนคอลัมน์มาทางขวามือเพื่อบันทึกสัญลักษณ์ O หรือบางทีอาจจะใช้วิธีบันทึก X จนถึงราคาสูงสุด และเลื่อนคอลัมน์มาทางขวามือ และบันทึกเป็นสัญลักษณ์ไข่ปลาลงไปก็ได้ แทนที่จะใช้สัญญาณ O เพื่อเป็นการเตือนว่า การกลัยทิศทางที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้ปรากฏขึ้นในระหว่างวัน

เนื้อหาต่อไป : รูปแบบสัญญาณซื้อ และสัญญาณขาย

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : Gaps