บทที่ 4

Gaps

อ้าว ไหนเมื่อตะกี้บอกว่า Inverted Head& Shoulders เป็นรูปแบบสุดท้ายแล้วไง ทำไมยังมี gaps อะไร โผล่ออกมาอีก Inverted Head& Shoulders เป็นรูแบบสุดท้ายของ continuous pattern ที่เราพูดถึงจริงๆ แต่มันยังมีอีกรูปแบบหนึ่ง คือ gaps หรือช่องว่าง ซึ่งบางท่านก็เรียกว่า windowsหรือ หน้าต่าง รูปแบบของ Gaps นี่ ความจริง ไม่ได้จัดเป็น continuous pattern หรือ reversal pattern อย่างแน่นอนตายตัวหรอกครับ คือมันสามารถเป็นไปได้หลายแบบ ทั้ง continuous และ reversal สุดท้ายแล้ว ผู้เขียนก็เลยไม่รู้จะเอาไปไว้ในบทไหนดี ก็เลยขอ ต๊ะ เอาไว้ที่นี่แล้วกัน เพื่อความสมบูรณ์ในเนื้อหามากขึ้น

คำว่า Gaps อย่างเราๆ ท่านๆ คงทราบกันดีว่า มันมีความหมายคือ ช่องว่าง หรือช่องว่าง ซึ่งในทาง technical analysis นั้นก็มีความหมายเช่นเดียวกัน เพียงแต่มีการบ่งชี้อีกนิดว่า ช่องว่างดังกล่าวนั้น เป็นผลมาจาก แรงซื้อ (demand ) และแรงขาย (supply) ไม่สามารถกำหนดราคาขึ้นมาได้ เมื่อเทียบกับช่วงราคาของวันก่อน และกว่าที่แรงซื้อและแรงขายจะพบกัน ก็จะทำให้ราคาที่ตกลงกันนั้น อยู่ห่างจากช่วงราคาของวันก่อนออกไป และการเคลื่อนไหวของราคาในวันนั้น ก็ไม่สามารถมาปิดช่องว่างดังกล่าวได้ จึงทำให้เมื่อเราพิจารณารูปกราฟในการวิเคราะห์บางช่วง จะเห็นได้ว่า มันมีลักษณะเป็นช่องว่างเกิดขึ้น

ท่านผู้อ่านลองจินตนาการถึง การที่ราคาเปิดในวันนี้ อยู่เหนือราคาสูงสุดของเมื่อวานขึ้นไปสักช่วงสิครับ จะพบว่า มันจะเกิดช่องว่างขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย และการเคลื่อนไหวของราคาในวันนั้น ก็ไม่ได้ลงมาปิดช่วงดังกล่าว หรือในทางกลับกันหากราคาสูงสุดในวันนี้ อยู่ต่ำกว่าราคาต่ำสุดของเมื่อวานนี้สักช่วง ท่านผู้อ่านคงจะรูได้เลยว่า ช่วงดังกล่าวคือ gaps นั่นเองละครับ

โดยปกติแล้ว gaps ในช่วงขาขึ้น จะเป็นสัญญาณที่แสดงถึงความแข็งแรงของตลาด ขณะที่ gaps ในช่วงขาลง จะเป็นสัญญาณที่แสดงถึงความอ่อนตัวของตลาด อย่างไรก็ตาม gaps นั้นมีหลายแบบ ซึ่งบางแบบมีความสำคัญ บางแบบก็ไม่ค่อยมี รวมถึงการปิด gaps ที่อาจจะมีขึ้นได้ในบางรูปแบบ จึงทำให้นัยสำคัญในการคาดการณ์แตกต่างกันไป ซึ่งผู้เขียนอยากจะอธิบายชนิดของ gaps ตลอดจนความหมายที่ซ่อนอยู่ภายในแต่ละ gap ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบดังนี้

ชนิดของ gaps โดยทั่วไป จะมีอยู่ 4 ลักษณะ กล่าวคือ Common Gap (ไม่มีอะไรในกอไผ่), Breakaway Gap (ทะลุทะลวง), Runaway Gap (มาเท่าไหน ต่ออีกเท่านั้น) , และ Exhaustion Gap (หมดแรงแล้ว)

รูปที่ 4.7 ชี้ให้เห็นถึง ลักษณะของการเกิด gaps ในรูปแบบต่างๆ โดยสมมติว่า การเคลื่อนไหวเดิมนั้นเป็นขาขึ้น

รายละเอียดของ gap แต่ละประเภท

.1. Common Gap.

ว่ากันว่าเป็น gap ที่มีความสำคัญน้อยที่จะนำไปใช้ในการคาดการณ์เพราะ gap ลักษณะนี้มักเกิดในช่วงที่มีการซื้อขายเบาบาง แรงซื้อหรือแรงขายที่เข้ามาจึงมีโอกาสผลักดันให้ราคาขยับตัวขึ้นจนเกิด gap ได้ อย่างไม่ยากเย็นนัก หรือมักจะเกิดอยู่ในช่วงการซื้อขายที่เรียกว่า sideways ซึ่งโดยปกติแล้ว technicians จะไม่ค่อยสนใจ gap ชนิดนี้มากนัก หรือพูดง่ายๆ ก็คือไม่มีอะไรในกอไผ่นั่นเอง

.2. Breakaway Gap.

ปกติมักเกิดขึ้นหลังจาก การฟอร์มตัวของราคาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และมักจะเป็นจุดเริ่มการเคลื่อนตัวอย่างมีนัยสำคัญ หรือทะลุ ทะลวงได้ต่อไป ตัวอย่างเช่น ราคามีการปรับตัวลงมาทดสอบ neckline (หลังจากที่ฟอร์มตัวแบบ head and shoulders ) ซึ่งปรากฏว่า ราคาได้ทะลุ neckline ลงมาในลักษณะที่เกิด Breakaway Gap ซึ่งเป็นสัญญาณการปรับตัวลงอย่างเด่นชัด หรือในกรณีที่ราคาได้ฉีกทะลุเส้นแนวโน้มหลักที่เป็นขาขึ้น ( major uptrend line) ลงมา ลักษณะของ gap แบบนี้ ก็จะถูกเรียกว่าเป็น Breakaway Gap ด้วยเช่นกัน ซึ่ง Breakaway Gap ดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่จะใช้ในการพิจารณาว่า gap ดังกล่าวนั้น มีนัยสำคัญหรือไม่ (หรือว่าเป็นสัญญาณหลอก) ควรจะใช้วอลุ่มเข้ามาช่วยในการพิจารณา เพราะ ถ้าเป็นสัญญาณจริงแล้ว วอลุ่มจะค่อนข้างหนาเอาการทีเดียวอีกทั้งเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าเป็น Breakaway Gap จริง การเคลื่อนไหวของราคาจะไม่สามารถปิด gap ดังกล่าวได้ ดังนั้น หากว่า gap ดังกล่าวถูกปิดลง ด้วยการเคลื่อนไหวของราคาในลักษณะย้อนกลับ ก็มีความเป็นไปได้ที่ว่า สัญญาณดังกล่าวเป็นสัญญาณหลอก

นอกจากที่กล่าวข้างต้น ท่านผู้อ่านบางท่าน คงกำลังนั่งนึกอยู่ว่า Breakaway Gap ดังกล่าวนี้ จะทำหน้าที่ในการเป็นแนวรับแนวต้านได้หรือไม่ ? คำตอบก็คือ เป็นได้ครับ เพราะ Breakaway Gap ในช่วงขาขึ้นนั้นจะทำหน้าที่เป็นแนวรับหากตลาดมีการปรับตัวลง ในทางกลับกัน Breakaway Gap ในช่วงขาลงนั้น จะทำหน้าที่เป็นแนวต้าน หากตลาดมีการดีตัวขึ้น

.3. Runaway Gap.

การที่ผู้เขียนได้ให้นิยามช่วยในการจำว่า “มาเท่าไหน ต่ออีกเท่านั้น “ ก็เนื่องจากว่า Runaway Gap นี้เป็น gap ที่จะเกิดขึ้นในช่วงบริเวณกึ่งกลางของการเคลื่อนไหว กล่าวคือ สมมติว่า ราคาเคลื่อนตัวขึ้นจากที่ระดับราคา 100 บาท (หลัง breakaway gap) และได้เคลื่อนตัวต่อเนื่องขึ้นมาจนเกิด gap อันที่ 2 (runaway gap ) ซึ่งสมมติว่าอยู่บริเวณ 150 บาท ดังนั้น ตามนิยามช่วยจำข้างต้น คงจะพอคาดการณ์ได้ว่า เป้าหมายราคา (target ) หรือแนวต้านที่จะเกิดขึ้นนั้น จะอยู่หลังจาก runaway gap ไปอีกประมาณ 50 บาท หรือที่บริเวณ 200 บาท นั่นเอง เพราะ runaway gap นั้น จะเกิดขึ้นที่ช่วงกึ่งกลางของการเคลื่อนไหว และด้วยเหตุที่ gap ดังกล่าว สามารถใช้เป็นเครื่องช่วยการวัดระยะทางการเคลื่อนตัวได้ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า measuring gap

ในสถานการณ์ของ runaway gap นี้ ว่ากันว่า เพียงวอลุ่มปกตินั้น ก็สามารถทำให้ตลาดเคลื่อนตัวได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ซึ่งในเชิง uptrend ก็หมายถึงหลังเกิดgap นี้ก็สามารถเคลื่อนตัวต่อได้ แต่ในทางกลับกัน หากเป็น downtrend ก็คงลงอย่างไม่ต้องสงสัย

เช่นเดียวกับ breakaway gap ในกรณีของ runaway gap นั้น ก็สามารถที่จะทำหน้าที่เป็นแนวรับแนวต้านได้ แต่ พึงสังเกตไว้ว่า หากเป็นสัญญาณจริงแล้ว gap ดังกล่าวจะต้องไม่ถูกปิดลง หมายความว่า ราคาในวันหลังๆ จะต้องไม่ปรับลงมาปิดตัว gap ในกรณีที่เป็นแนวโน้มขึ้นเพราะ ถ้าเมื่อไหร่ที่ gap ถูกปิดสัญญาณที่เกิด จะเป็นไปทิศทางที่กลับกัน คือจากเดิมที่ว่าซื้อ ก็จะเป็นขายแทน

.4. Exhaustion Gap (หมดแรงแล้ว).

ชื่อมันก็บอกเป็นนัยๆ อยู่แล้ว เพราะ gap ที่ว่านี้ เกิดในช่วงปลายๆ ของการเคลื่อนไหว สมมติว่า gap ดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นในช่วงปลายการเคลื่อนไหวในเชิงขาขึ้น ก็จะเป็นการเตือนว่า การขยับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น เริ่มจะหมดแรงลงแล้ว หรือในทางกลับกัน หากราคามีการปรับตัวลงติดต่อกันมานาน และได้เกิด gap นี้ขึ้น จะมีความเป็นไปได้สูง ที่ราคาหุ้นจะตีกลับขึ้นมา

ข้อแตกต่างประการหนึ่งของ gap นี้ ก็บรรดา gaps ที่กล่าวมาข้างต้น จะอยู่ตรงที่ว่า Exhaustion Gap อาจจะถูกปิดหรือไม่ก็ได้ สมมติว่า เดิมการเคลื่อนไหวของราคาเป็นขาขึ้น การที่ gap ไม่ถูกปิดนั้น ไม่ได้หมายความว่า ราคาไม่ได้ปรับตัวลงแต่การปรับตัวลงจะเป็นลักษณะที่เกิด gap ขึ้นมา (แทนที่ราคาจะไหลลงมาอย่างต่อเนื่อง) ดังนั้น คงจะขาดเสียมิได้ ที่จะไม่กล่าวถึงเรื่องการติดเกาะ (Island reversal) เพราะหลังจากที่เกิด Exhaustion Gap ขึ้นมาในช่วงปลาย uptrend ราคามักจะขยับตัวแคบๆ ที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงมีลักษณะคล้ายเกาะที่ห้อมล้อมไปด้วยน้ำ ซึ่งชี้ถึงการเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาได้เกิดขึ้นแล้ว(กรณีนี้จากเดิมที่เป็นขาขึ้น ก็จะเป็นขาลงแทน) อย่างไรก็ตาม นัยสำคัญ ของการเปลี่ยนทิศนั้น คงต้องพิจารณาควบคู่กับเรื่องของ trend และ pattern ด้วย เพราะความสำคัญในแต่ละสิ่ง อาจจะเสริมหรือหักล้างกันก็ได้

.ส่งท้าย.

มาถึงจุดนี้ (หวังว่าคงจะยังไม่หมดแรงนะครับ ) ผู้อ่านก็ได้เรียนรู้ วิธีการบางประการที่จะใช้ในการวิเคราะห์ทางเทคนิคแล้ว วิธีเหล่านี้ เป็นวิธีพื้นฐานของการวิเคราะห์ทางเทคนิค ซึ่งจะช่วยให้ท่านเข้าใจเทคนิคอื่นๆ ได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญทีเดียว เพราะถ้าพื้นฐานแน่น การนำมาประยุกต์และพลิกแพลง กับเครื่องมือ อื่นๆ ที่จะได้กล่าวถึงในต่อไป ก็จะมีความแม่นยำมากขึ้น

และแน่นอน การเรียนรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางเทคนิค ไม่ได้จบอยู่เพียงแค่นี้ เพราะยังมีเครื่องมือที่สำคัญอีกหลายอย่างรวมทั้งดัชนี( indicators) อีกมากมาย แต่ก็คงต้องรอไว้อ่านในบทถัดไป ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านเหนื่อยแล้ว จะพักผ่อนก่อนก็ได้ แล้วค่อยมาอ่านต่อเมื่อจิตใจปลอดโปร่ง อย่างไรก็คงต้องขอบคุณครับที่ติดตามมาตั้งแต่ต้น

เนื้อหาต่อไป : บทที่ 5 แผนภาพ Point & Figure

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : Wedge