บทที่ 3
Triple Top และ Triple Bottoms
พูดถึง triple top ก่อนแล้วกันครับ ความหมายกว้างๆของมันคือ การที่ราคาหุ้นพยายามที่จะดันให้ผ่านแนวต้านตามแนวนอน แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ยังผลให้เกิดการปรับตัวลงในระยะเวลาต่อมา ฟังดูแล้วอาจจะยังไม่กระจ่างชัด เอาอย่างนี้แล้วกัน ลองอ่านต่อไปก่อน และดูรูปที่ 3.2 ตามไปด้วยนะครับ
ในรูปที่ 3.2a สมมติว่าราคากำลังมีการขยับตัวขึ้น และได้เคลื่อนตัวมาถึงจุด a แล้ว ก็มีแรงขายถล่มออกมา จนทำให้เกิดการปรับตัวลงมายังจุด b แต่จำนวนหุ้นในช่วง b นั้น จะยังไม่ค่อยมากนัก เนื่องจาก ทุกคนมองว่าเป็นการปรับตัวย่อยใน trend ใหญ่ที่ยังคงไว้ซึ่งความเป็น uptrend อยู่ เรื่องอะไรจะขายล่ะ! จากนั้นราคาก็ได้มีการดีดตัวขึ้นอีกครั้งจากความต้องการซื้อและมีการไล่ราคาขึ้นไปจรใกล้เคียงกับยอด a ที่เพิ่งจะผ่านมา ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะยังเคลื่อนตัวในเชิง uptrend อยู่ ทำให้จำนวนหุ้นที่มีการตะลุยกันในช่วงนี้มีค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม จากที่เคยกล่าวมาข้างต้นแล้ว ถึงความหมายของการเป็นแนวต้าน ทำให้ราคามีการปรับตัวลงมาจากจุด c และไหลลงต่อเนื่องไปจนถึงจุด d ซึ่งเป็นแนวรับ การคาดหวังของผู้เล่นยังคงลุ้นว่าอาจจะมีการดีดตัวขึ้น ดังนั้น ในช่วง d นั้นจำนวนหุ้นที่ปรากฏจึงมีน้อยกว่าในตอนขาขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพราะยังมีความกังวลว่าขายไปแล้วจะซื้อคืนไม่ได้ (ซื้อคืนในราคาที่สูงกว่าขายไป) แต่พอเอาเข้าจริงในการขยับตัวขึ้นไปยังจุด e นักลงทุนบางคนเริ่มปอดแล้ว เพราะ 1 ครั้งที่ผ่านมา ยังไม่เคยทะลุผ่านขึ้นไปได้เลย จึงไม่กล้าเคาะซื้อไล่ตามขึ้นไป จำนวนหุ้นในช่วงนี้จึงไม่ค่อยจะแตกต่างในช่วงที่เพิ่งผ่านมา หรือพูดง่ายๆว่าขึ้นไปคราวนี้ก็หลวมเต็มที ดังนั้นเมื่อมาถึงจุด e จึงทำให้ค่อนข้างเปราะ การปรับตัวจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความพยายามของราคาถึง 3 ครั้ง (ภาษาฝรั่งจึงใช้คำว่า triple) ก็ยังไม่สามารถที่จะทะลุผ่านแนวต้านตามแนวนอนได้
ความสมบูรณ์ของรูปแบบจะเกิดขึ้น เมื่อราคามีการปรับตัวลง จนทะลุแนวรับในแนวนอนที่เคยหนุนจุด b และ d ลงมา ในที่นี้ระดับดังกล่าวมองว่าเป็น neckline คล้ายๆกับในกรณีของ head & shoulders ก็แล้วกัน แต่ความจริงเขาเรียกกันว่า base line นะครับ จำนวนหุ้นในช่วงนี้จะเพิ่มขึ้นมาก อันเป็นผลมาจากการทำกำไร หรือหนีตายจากการติดหุ้น ที่จะเกิดขึ้นตามมา
เอ้า! จะเลิกเล่นกันเลยหรือ? เปล่า! แต่จะคอยไปตั้งรับ ณ ระดับที่ห่างจาก neckline ลงไปเท่ากับหรือใกล้เคียงกับระยะที่วัดจากยอดที่ 2 ถึง neckline โดยหลักการอาจจะมีการดีดตัวขึ้นมาได้บ้าง แต่นั่นเป็นเพียงแค่การดีดตัวไม่ใช่การขยับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเล่นในช่วงนี้ อาจจะเป็นการเล่นกันนิดหน่อยพอหอมปากหอมคอ และไปรอทำกำไรที่ระดับก่อน หรือใกล้เคียงกับ neckline (จุด g) การปรับตัวลงครั้งหลังจะทำให้เห็นว่า ได้เกิด downtrend ขึ้นอย่างชัดเจนสอดคล้องกับจำนวนหุ้นที่ถล่มขายออกมาอย่างมากมาย เห็นไหมครับว่าตอนเริ่มต้นอธิบายการเคลื่อนไหวของหุ้นยังเป็น uptrend อยู่ แต่ในตอนหลัง trend มันกลายเป็น downtrend ไปแล้ว นี่แหละจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของ reversal patterns
ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ขอให้ลองอ่านทวนไปทวนมาอีกที ใจเย็นๆก็แล้วกัน มันไม่ยากอย่างที่คิดหรอก! ถ้าเข้าใจแล้วก็ลองมาช่วยกันอธิบายในส่วนของ triple bottoms กัน ก่อนอื่นต้องรู้ว่าการเกิด triple bottoms นั้น เกิดเพื่ออะไร หรือบอกอะไรแก่เรา? ผู้อ่านบางท่านอาจจะเริ่มร้องอ้อออกมาแล้ว ว่ามันเป็นรูปแบบที่ทำให้แนวโน้มเดิม downtrend มีความน่าจะเป็นที่จะเปลี่ยนเป็น uptrend ใช่ครับ! โดยหลักการเขาว่ากันอย่างนี้ ลองมาดูคำอธิบายประกอบกันหน่อยดีไหม คืออย่างนี้ครับ
เดิม trend ของราคายังคงเป็น downtrend กล่าวคือ เมื่อราคาอ่อนตัวลงมาจนถึงจุด a ในรูป 3.2b ก็มีแรงซื้อเข้ามาช่วยกันดันให้ราคามีการดีดตัวกลับขึ้นมา เพราะเห็นว่าราคาที่จุด a นั้นมันถูกไป แต่เมื่อราคามาถึงจุด b บางพวกบอกว่า ขอขายทำกำไรเอาไว้ก่อน เพราะ trend ใหญ่นั่นมันยังคงเป็น downtrend อยู่ แรงขายนี้เอง เป็นตัวกดให้ราคามีการอ่อนตัวกลับลงไปที่ฐาน ตามความหมายของแนวรับตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงทำให้ราคามีการดีดตัวจากจุด c กลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จนมาถึงจุด d ก็โดนอีกทุบลงไปอีก ก็กลิ้งลงไปตามระเบียบ จนมาถึงจุด e ก็ขอฮึดขึ้นมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ น่าที่จะได้นับความสนใจในการเข้าช่วยซื้อมากขึ้น เพราะทุบลงไป 2 ครั้งก็ไม่ต่ำกว่าจุด a และ c ก็ต้องขอลุยกันบ้างละ!
ถ้าสามารถทะลุแนวต้าน base line ขึ้นมาได้อีก ก็จะได้รับแรงเสริมเข้ามาอีกขนานใหญ่ จำนวนหุ้นที่ถูกซื้อขายจะเพิ่มสูงขึ้น เป็นการยืนยันการขึ้นครั้งนี้ว่าแข็งแรงพอ และหลายฝ่ายก็เริ่มที่จะเห็นแล้วว่านั่นเป็น รูปแบบของ triple Bottoms แม้ว่าอาจจะมีการปรับตัวลงมาบ้างจากการ take profit (ทำกำไรระยะสั้น) จำนวนหุ้นที่ออกมาจะไม่มากเท่าไหร่ ดูได้จากช่วงก่อนถึงจุด g เทียบช่วง a และ c เพราะเป็นการปรับตัวเพื่อเตรียมที่จะเป็น uptrend ใครจะขายละครับ! เอ้อ เกือบลืมไป รูปแบบของ triple tops หรือ triple bottoms นั้น ตอนที่กำลังฟอร์มตัวจะเห็นได้ว่า ราคาของหุ้นนั้นมีการเคลื่อนไหวตัวเป็นไปในเชิง sideway (ไม่เชื่อก็ลองไปเปิดดูรูป sideway ที่ได้กล่าวมาในช่วงก่อนหน้า) และเพื่อไม่ให้น้อยหน้าตัวอย่างที่ผ่านๆมา เราก็มีตัวอย่างที่ 3.2 ที่แสดงให้เห็นการเกิด triple tops ในหุ้นจริงๆให้เห็น เป็นหุ้นตัวไหนให้ดูที่ขอบบนของรูปในตัวอย่างก็แล้วกัน