บทที่ 3

Double Tops and Double Bottoms

เอา double tops ก่อนแล้วกัน รูปแบบเป็นอย่างไร? มันบอกอะไรกับเรา? รูปแบบของมันลองดูจากรูปที่ 3.3a จะเห็นว่าหลังจากที่ราคาได้เคลื่อนตัวมาถึงจุด c ก้อเริ่มที่จะมีแรงขายออกมา จึงทำให้ราคาหุ้นมีการปรับตัวลงสู่เส้น uptrend ตรงจุด d จากนั้นก็มีการดีดตัวขึ้นจากแรงซื้อ แต่การขยับตัวขึ้นช่วง e นั้นไม่สามารถที่จะเลยหรือผ่านยอด c ไปได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าระดับที่จุด c วางตัวนั้นในขณะนี้ ทำหน้าที่เป็นแนวต้าน (resistance) การปรับตัวจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยที่ครั้งนี้ราคาไม่สามารถดีดตัวขึ้นได้บนเส้น uptrend เนื่องจาก มีแรงขายออกมามากกว่าแรงซื้อ ทำให้ราคาตกทะลุผ่านเส้น uptrend ลงมา

ถึงตอนนี้นักลงทุนเริ่มรู้แล้วว่าจะต้องทิ้งของกัน ก็เลยระบายหุ้นออกมากันเป็นจำนวนมาก และถ้าหากว่า baseline (หรือจะคิดว่าเป็น neckline ก็แล้วแต่สะดวก หรือง่ายต่อการจดจำ) รับไว้ไม่อยู่อีก ก็จะมีการถล่มขายลงมาอีกครั้ง ระดับที่เขาคาดกันว่าน่าจะมีการดีดตัวขึ้น จะอยู่ต่ำกว่า baseline ลงไปประมาณ หรือใกล้เคียงกับระยะที่วัดจาก double tops ลงมาที่ baseline (ดูรูปเอาไว้อย่าให้งง) เพระฉะนั้นพวกที่เก็งกำไร ก็อาจจะไปลุยกันใหม่ในช่วงนั้น แต่เป็นเพียงแค่หอมปากหอมคอ เพราะพวกนี้จะเตรียมไปตั้งขาย ไว้ใกล้ๆบริเวณ baseline ใครที่เผลอตัวตามเข้าไป อาจจะกลายเป็นแมงเม่าบินเข้ากองไฟ เพราะจากรูปจะเห็นได้ว่า ราคาได้รูดลงมาอีกครั้งหลังจุด g ดังนั้น พึงระลึกไว้ว่า การเกิด double tops เป็นรูปแบบหนึ่งที่เกิดในช่วงการเปลี่ยนแนวโน้ม uptrend มาเป็น downtrend

ก่อนที่จะไปดูรูปร่างหน้าตาของ double bottoms ลองดูตัวอย่างที่ 3.3a ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นการเกิด double tops ของ SET index ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงกลางเดือนมกราคม ถึงปลายกุมภาพันธ์ โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกบางประการคือ ในช่วงระหว่าง 2 ถึง 3 นั้น จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนตัวของ SET index แม้ว่าจะพยายามเคลื่อนตัวขึ้น แต่ยังคงอยู่ใต้เส้นแนวโน้มขาขึ้นตลอดเวลา จึงทำให้เส้นแนวโน้มขาขึ้นเส้นนี้ เป็นแนวต้านไปโดยปริยาย และเมื่อ SET index ขึ้นมาถึงระดับยอดเดิม (เบอร์ 3 อยู่ในแนวเดียวกับเบอร์ 1) แต่ไม่สามารถทะลุขึ้นเหนือแนวที่ 1 ไปได้ จึงมีการปรับตัวลงมา ยังผลให้เกิดรูปแบบของ double tops

แล้ว double bottoms ล่ะ! หน้าตามันเป็นอย่างไร? ง่ายมากครับที่ผู้อ่านจะช่วยผู้เขียนอธิบาย ลองมาช่วยกันคิดนะครับ ย้อนกลับไปดูรูป 3.3b จะเห็นว่าแนวโน้มเดิมนั้นจะเป็น downtrend พอเกิด double bottoms ขึ้น แนวโน้มใหม่ที่ตามมาจะกลายเป็น uptrend (ตรงกันข้ามกับ double tops) ดังนั้นผู้อ่านจะรู้ทันทีว่าราคานั้น จะต้องลงมาสร้างฐาน 2 ครั้งที่จุด c กับ e แล้วก็มีการดีดตัวกลับจนทะลุ downtrend line ขึ้นไป และพร้อมที่จะเคลื่อนตัวต่อไปในเชิง uptrend (เห็นไหมว่ามันจะง่ายขึ้นเรื่อยๆ)

จากตัวอย่างที่ 3.3b นี้ แสดงให้เห็นถึงการเกิด double bottoms ของราคา KK ซึ่งจะเห็นได้ว่า ลำดับของตัวอักษร a ถึง d นั้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงรูปแบบขาลง (downtrend) เพราะจุด d อยู่ต่ำกว่า b ขณะที่ c ก็อยู่ต่ำกว่า a ด้วย แต่เมื่อราคาของ KK ก็เริ่มทรงตัวถึงดีดตัวขึ้น (ซึ่งทำให้เกิดจุด e ขึ้นมา) อย่างๆไรก็ตาม จุดที่พึงสังเกตก็คือ การดีดตัวในวันถัดมา สามารถข้ามเส้นแนวโน้มขาลงได้ โดยมี volume หนุนตามจึงทำให้การเกิด double bottoms เริ่มมีนัยสำคัญมากขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มการเปลี่ยนแนวโน้มขาลงเป็นแนวโน้มขาขึ้น ซึ่งคนที่ไม่อยากพลาดรถไฟขบวนนี้ ก็ต้องรีบตีตั๋วขึ้นขบวนกัน เมื่อเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมีนัยสำคัญแล้ว

เนื้อหาต่อไป : Saucer

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : Triple Top และ Triple Bottoms