บทที่ 2

แนวโน้ม trend

หลังจากเข้าใจวิธีการเขียนกราฟเบื้องต้นแล้ว สิ่งที่น่าจะรู้ต่อไป ก็คือเรื่องของแนวโน้ม (trend) ที่ราคาหุ้นหรือดัชนีจะเคลื่อนตัวไป ซึ่งปกติจะมี 3 รูปแบบคือ uptrend , downtrend และ sideways ว่ามันหมายความว่าอย่างไร และดูอย่างไรกัน

.1. Uptrend.

คือแนวโน้มขึ้น ซึ่งผู้อ่านอาจจะจินตนาการไปในรูปของชั้นบันไดขาขึ้น ที่ทุก ๆ คนพร้อมที่จะก้าวกันขึ้นไป ไปไหน ก็ไปในระดับที่อยู่สูงกว่าตอนนี้ไง ในเชิงของหุ้น ก็เป็นการชี้ถึง ราคาหุ้นมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจากกราฟก็สามารถได้ดังรูปที่ 2.7 ในทางเทคนิค เขาบอกว่า จะเป็น uptrend นั้นต้องมีบุคลิกเฉพาะตัวดังนี้ กล่าวคือ “ยอดใหม่สูงกว่ายอดเดิม ก้นบึ้งใหม่สูงกว่าก้นบึ้งเดิม” ฟังแล้วอาจจะเริ่มเวียนหัว ลองพิจารณาจากรูป 2.7 อาจจะช่วยให้หายมึนไปได้บ้าง

.2. downtrend.

เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาข้างต้น คือเป็นบันไดขาลงในเชิงหุ้น ก็เป็นการแสดงถึง ราคา หุ้นมีแนวโน้มอ่อนตัวลงอยู่ (รูปที่ 2.8 ) ในทางเทคนิค downtrend มีบุคลิกเฉพาะตัวคือ “ยอดใหม่อยู่ต่ำกว่ายอดเดิม ก้นบึ้งใหม่อยู่ต่ำกว่าก้นบึ้งเดิม”

เพื่อให้เห็นภาพที่เด่นชัดมากขึ้นลองมาดูตัวอย่างที่ 2.1 จะเห็นได้ว่า หลักการมองแนวโน้มขึ้น (Uptrend) กับ แนวโน้มขาลง (downtrend) สามารถนำมาใช้ได้อย่างไม่ต้องสงสัย

.3. sideways.

เป็นการเคลื่อนตัวไปข้างๆ เพื่อรอดูทิศทางที่แน่ชัด รูปแบบของ sideways ก็มีลักษณะคล้ายฟันปลา (รูปที่ 2.9) โดยที่การขยับตัวของมันนั้น สังเกตได้จากการที่ยอดใหม่ ก็ยังไม่กล้าเกินหน้าเกินตา หรือยังไม่เลยบรรดายอดเพื่อนๆ ที่เพิ่งจะผ่านมา แต่ขอเพียงแค่อยู่ในระดับเดียวกันก็พอ เช่นเดียวกัน เวลาขาลง เรื่องอะไรที่จะลงไปต่ำกว่าบรรดาก้นบึ้งข้างเคียงที่ผ่านมา จึงขอแค่มาวางตัวเท่ากัน หรือใกล้เคียงกันก็พอ

เช่นเดียวกัน ตัวอย่างการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น แบบเคลื่อนตัวไปข้าง ๆ (sideways ) เราก็มีตัวอย่างให้ดูด้วยเช่นกัน ซึ่งในตัวอย่างที่ 2.2 ผู้อ่านคงจะเห็นได้ว่า รูปแบบโดยรวมนั้นเป็น sideways แต่ก็อาจจะมีบางท่านที่เห็นว่ายอดที่ 2 และ 3 ไม่เห็นจะเท่ากับยอดที่ 1 หากแต่ลองมองมาทางขวามือเล็กน้อยหลังจากยอดที่ 2 ก็จะพบว่า การเคลื่อนไหวของราคานั้นยังคงอยู่ใกล้เคียงแนวของยอดที่ 1 อยู่ ดังนั้น ในแง่ปฎิบัตินั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ที่การเคลื่อนไหวของราคา จะมีการเท่ากันพอดิบพอดีตรงกับหลักการ แต่หากภาพโดยรวมยังคงรักษาแนวดังกล่าวไว้ได้ ก็เท่ากับว่า เราสามารถนำหลักที่กล่าวมาข้างต้นมาประยุกต์ใช้ได้

เนื้อหาต่อไป : เส้นแนวโน้ม

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : รูปแบบง่ายๆกับแท่ง Bar