บทที่ 2
หลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับการสร้างกราฟ Charting Fundamentals
การสร้าง Chart
นักวิเคราะห์ทางเทคนิค อาศัยรูปกราฟ หรือ Chart เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำมาหากิน ดังนั้น ก่อนที่เราไปถึงจุดที่จะหัดอ่านกราฟ หารูปแบบต่าง ๆ เราคงจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการเบื้องต้นของการสร้าง Chart เสียก่อน
หลายๆ ท่าน คงจะเคยเห็นแผนภาพกราฟ หรือ Chart ทางด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคมาแล้ว จะเห็นว่าภาพนั้นประกอบด้วย แท่งที่ตั้งฉากกับแนวนอนหลายแห่ง ซึ่งแต่ละแท่งก็มีขนาดไม่เท่ากัน แท่งเหล่านั้น แท้ที่จริงเป็นการแสดงข้อมูลทางสถิติของราคาที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา โดยหนึ่งช่วงเวลา (เช่น หนึ่งวัน) จะแสดงด้วยแท่งหนึ่งแท่ง แท่งนี้ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Bar ดังนั้น แผนภาพทางเทคนิคนี้ บางครั้งเราจึงเรียกว่า Bar Chart
ความยาวของแท่งแต่ละแท่ง ขึ้นอยู่กับพิสัย (range) หรือช่วงของการซื้อขาย จากราคาสูงสุดไปหาต่ำสุด ดังนั้น ถ้าวันนั้นราคาวิ่งหวือหวามาก แท่งก็จะยาว แสดงให้เห็นว่าตลาดวันนั้นแกว่งตัวแรง แต่ถ้าวันนั้นตลาดซึม ๆ ไม่ค่อยหวือหวา มาก เราจะพบว่าแท่งนั้น สั้นจิ๊ดเดียว และถ้าวันไหนทั้งวันซื้อขายมันอยู่ที่ราคาเดียว (หรือทั้งวันซื้อขายกันแค่รายการเดียว) แท่งก็จะกลายเป็นจุดไป เพราะราคาสูงสุดกับต่ำสุดมันเท่ากับราคาปิดก็ถูกแสดงอยู่บนแท่งเหมือนกันครับ แสดงเป็นติ่งอยู่ทางขวามือของแท่ง เพื่อช่วยให้เราดูแปล๊บเดียวก็รู้เลยว่า วันนี้ราคาปิดใกล้ราคาสูงสุด หรือปิดใกล้ราคาต่ำสุด นอกจากนี้ ราคาเปิดก็แสดงเป็นติ่งอยู่ทางซ้ายมือ เพื่อให้เราดูรู้ว่า เปิดกับปิดมันต่างกันแค่ไหน ดังแสดงในรูปที่ 2.1 จะเห็นว่า สิ่งที่แสดงในหนึ่งแท่งนั้น สามารถให้ข้อมูลเราได้มากมาย และง่ายกว่าดูข้อมูลดิบ และเมื่อนำเอาแท่งเหล่านี้มาเรียงกันตามวันที่มีการซื้อขาย เราก็จะได้ Bar Chart ซึ่งสามารถบอกอะไรเราได้ มากมายขึ้นไปอีก