บทที่ 1
มีอะไรในหนังสือเล่มนี้
ในหนังสือเล่มนี้ เราจะพูดถึงเครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิคต่างๆ ที่เป็นที่นิยมใช้กัน โดยพยายามที่จะครอบคลุมเครื่องมือให้มากที่สุด เท่าที่ปัญญาและเวลาของผู้เขียนจะสามารถทำได้ โดยแบ่งออกเป็น 5 ภาคใหญ่ๆ
ภาคแรก เป็นการปูพื้นฐานของการวิเคราะห์ทางเทคนิคประเภท Trendline Charting Technique ซึ่งเป็นแบบดั้งเดิมที่นิยมใช้กันมาช้านาน และเป็นรูปแบบพื้นฐาน ที่กลายเป็นต้นแบบของการวิเคราะห์ทางเทคนิคยุคหลังๆ โดยในบทที่ 2 จะเป็นการอธิบายถึงวิธีการเขียน Chart ทางเทคนิค รูปแบบของ Bar Chart อย่างง่าย ที่ใช้แท่ง Bar เพียงไม่กี่วัน ตลอดจนการทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวโน้ม ในบทที่ 3 จะเป็นการอธิบายถึงแนวความคิดเกี่ยวกับรูปแบบต่างๆของการเปลี่ยนแนวโน้ม (Reversal Patterns) บทที่ 4 จะเป็นเรื่องของรูปแบบต่อเนือง (Continuous Patterns) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ตลาดหยุดพักตัวชั่วคราว ก่อนที่จะเดินต่อไปทิศทางเดิม และบทที่ 5 เป็นการวิเคราะห์แผนภูมิแบบ Point and Figure
ภาคที่สอง จะพูดถึงดัชนีเครื่องชี้ (Indicators) แบบต่างๆและเครื่องมือทางเทคนิคยุคหลังๆโดยเริ่มจากบทที่ 6 ซึ่งเป็นการปูพื้นเกี่ยวกับระบบค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นแม่แบบที่แตกต่างออกเป็นเครื่องชี้แบบต่างๆ และสามารถนำไปใช้คู่กับเครื่องชี้ต่างๆได้มากมาย บทที่ 7 จะพูดถึงเครื่องชี้ที่เกี่ยวข้องกับราคา (Price Indicators) บทที่ 8 เป็นเรื่องของเครื่องชี้ที่เกี่ยวข้องกับปริมาณการซื้อขาย (Volume Indicators) และบทที่ 9 จะพูดถึง Market Indicators ซึ่งเป็นเครื่องชี้ที่ใช้ประกอบการมองสภาพตลาดโดยรวม
ภาคที่สาม จะเป็นเรื่องของทฤษฎีคลื่นและวัฏจักร โดยในบทที่ 10 เป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเลขของฟิโบนาชี่ ซึ่งเป็นที่มาของสัดส่วนทองคำ (Golden Ratio) ที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในเรื่องของการดีดตัว (Retracement) และมีความสอดคล้องอย่างใกล้ชิดกับทฤษฎีคลื่นอีเลียต (Elliot Wave Theory) ซึ่งเป็นหัวข้อถัดไปที่เราจะพูดถึงในบทที่ 11 ส่วนบทที่ 12 จะพูดถึงแนวความคิดและการประยุกต์ใช้ของทฤษฎี Gantt และบทที่ 13 จะเป็นเรื่องการวัดวัฎจักร (Cycles) และการประยุกต์ใช้วัฎจักรกับเครื่องมือทางเทคนิคอื่นๆ
ภาคที่สี่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวิเคราะห์แผนภูมิแท่งเทียนแบบญี่ปุ่น ซึ่งแม้จะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เพิ่งจะเป็นที่นิยมกันไนโลกตะวันตก เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยบทที่ 14 จะเกริ่นนำถึงวิธีการเขียนแผนภูมิแบบแท่งเทียนและความหมายของการอ่านแท่งเทียนอย่างง่าย บทที่ 15 อธิบายถึงรูปแบบการเปลี่ยนแนวโน้ม (Trend Reversal) ในแผนภูมิแบบแท่งเทียน และบทที่ 16 เป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวในทิศทางเดิม (Continuous Patterns)
ภาคสุดท้าย ซึ่งมีบทเดียว คือบทที่ 17 เป็นกรณีศึกษาของการนำเอาเครื่องมือต่างๆของการวิเคราะห์ทางเทคนิค มาใช้ในทางปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วยกรณีต่างๆ 77 กรณี จึงเรียกชื่อของบทสุดท้ายนี้ว่า 77 กระบวนยุทธ์