บทที่ 14

การเขียนกราฟแบบแท่งเทียน

เราสองนึกถึงการวาดกราฟ สำหรับวิเคราะห์ทางเทคนิคทั่วๆ ไปก่อนนะครับ ก็ Bar Chart ที่เราเรียนกันในบทที่ 2 ไงครับ ยังจำได้บ่ เอ้าทบทวนนิดหน่อย ตามปกติตัว Bar จะแสดงให้เห็นถึงพิสัย หรือ ช่วงการเคลื่อนไหวของราคา จากต่ำสุดไปหาสูงสุดของวัน โดยมีราคาปิดแต้มเป็นติ่งอยู่ทางขวามือ และราคาเปิดแต้มเป็นติ่งอยู่ทางซ้ายมือ

ในแผนภูมิแบบแท่งเทียนนั้น ก็คล้ายๆ กัน เพียงแต่ว่าแทนที่จะเขียนเป็นแค่ Bar แท่งเดียว เราจะแยกออกเป็น 2 ส่วน ตามรูปที่ 14.1 คือ

1. ส่วนของตัวเทียน(Real Body) ซึ่งเป็นแท่งสี่เหลี่ยมแสดงช่วงระหว่างราคาเปิดและราคาปิด วันไหนที่ราคาปิด สูงกว่าราคาเปิด (แสดงว่าตลาดน่าจะดี) จะเขียนตัวเทียนเป็นแท่งสีขาว (ความจริงในสมัยก่อน เขาเขียนด้วยหมึกแดง แต่เขียนเป็นแท่งกลวง ก็เลยเห็นเป็นสีขาวกรอบแดง สีแดง อั่งอั๊ง นี่ถือเป็นสีดี และเป็นมงคลนะครับ) แต่วันไหนที่ราคาปิดต่ำกว่าราคาเปิด (จัดว่าตลาดไม่ค่อยดีเท่าไหร่) จะเขียนแท่ง เทียนด้วยสีดำ และระบายแท่งเทียนทึบ (ไว้ทุกข์มันซะเลย)

2. ส่วนของไส้เทียน (Shadow) ซึ่งแสดงเป็นเส้นโผล่ขึ้นมาจากตัวเทียนทั้งด้านบนและด้านล่าง ไส้เทียนนี้แสดงถึงพิสัย หรือ ช่วงราคาต่ำสุด ไปถึงสูงสุด ของตลาดวันนั้น ไส้เทียนส่วนบนเรียกว่า Upper Shadow ส่วนล่างเรียกว่า Lower Shadow

จะเห็นว่าแผนภาพแท่งเทียนนี้ ให้ภาพรวมของตลาดในแต่ละวันได้มากกว่า Bar Chart แม้ว่าจะดูยากขึ้น เพราะเราต้องดูสีก่อน ถึงจะรู้ว่าราคาปิดมันอยู่ส่วนบนหรือล่างของตัวเทียน ซึ่งต่างจาก Bar Chart ที่เรารู้ว่าราคาปิดเป็นติ่งอยู่ทางขวาเสมอ แต่ถ้าใช้มันบ่อยๆ ก็จะชินไปเอง แล้วก็จะได้ภาพรวามที่มากขึ้นด้วย

ในการวิเคราะห์ แผนภูมิแบบแท่งเทียนนี้ เราจะถือว่าตัวเทียน (Real Body) แสดงความเคลื่อนไหวอันสำคัญของราคาส่วนไส้เทียน (Shadow) นั้น แสดงถึงปลายขั้วของราคาเท่านั้น เนื่องจากราคาสูงสุด หรือต่ำสุดนั้น อาจมีการซื้อขายแค่นิดเดียว แต่ส่วนสำคัญของตลาดน่าจะเป็นตอนปิด หรือ(การทำราคา) ตอนปิด ซะมากกว่า แต่ก็มีบางกรณีนะครับ ที่ส่วนไส้เทียนมีความสำคัญในการกำหนดรูปแบบเหมือนกัน

นอกจากนี้แผนภูมิแบบแท่งเทียนยังให้ความสำคัญกับระยะระหว่างราคาเปิดกับปิด เมื่อเทียบกับราคาสูงสุดและต่ำสุดพูดง่ายๆ ก็คือ ความยาวของแท่งเทียนกับไส้เทียนนั่นเอง โดยมีอยู่ 2 กรณีปลายสุด (Extreme cases) เป็นกรณีที่สำคัญ อันแรกคือกรณ๊ที่ไส้เทียนไม่มีเลย มีแต่ตัวแท่งเทียน (ซึ่งหมายความว่าเปิดต่ำปิดสูง หรือเปิดสูงปิดต่ำ) ที่เรียกว่า Bozu กับกรณีที่สอง คือ กรณีที่แท่งเทียน หดสั้นจนกลายเป็นเส้นตรง (ซึ่งหมายถึงราคาเปิดกับราคาปิดเท่ากัน) ซึ่งเรียกว่า Doji แน่นอนครับ นอกจาก 2 กรณีนี้แล้ว ยังมีกรณีอื่นๆ เรียกชื่อต่างๆ กันอีกมาก แต่มีความสำคัญไม่เท่ากับ 2 กรณีนี้ เพราะเมื่อเกิดหนึ่งใน 2 กรณีนี้ขึ้นพร้อมๆ กับรูปแบบต่างๆ (ที่จะพูดถึงในบทถัดไป) จะเป็นการยืนยันสัญญาณต่างๆ ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ขออธิบายเฉพาะ 2 กรณีสำคัญนี้

เนื้อหาต่อไป : เทียนตัดหัว (Bosu) / Doji

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : การวิเคราะห์แผนภูมิแบบแท่งเทียนเบื้องต้น