บทที่ 14

เทียนตัดหัว Bosu / Doji

เทียนตัดหัว (Bosu)

Bosu คือกรณีที่ราคาสูงสุดหรือต่ำสุดของมัน เท่ากับราคาเปิดหรือราคาปิด ส่งผลให้ไม่มีไส้เทียนส่วนบนหรือ ส่วนล่างแท่งเทียนวันนั้นจะกลายเป็นแท่งเทียนตัดหัว(Shaven Head หรือ Closing Bozu) หรือ เทียนตัดหาง (Shaven Bottom หรือ Open Bozu) และในกรณีที่เปิดสูงสุดปิดต่ำสุดปิดสูงสุด ก็จะได้แท่งเทียนที่ไม่มีไส้เลย เรียกว่า เทียนตัดหัวตัดหาง (Bozu)

ในกรณีที่ราคาปิดสูงกว่าราคาเปิด (แท่งเทียนสีขาว)และราคาเปิดเป็นราคาต่ำสุด ซึ่งเทียนจะเป็นแบบ Shaven Bottom สีขาว ซึ่งเราเรียกว่า Bullish Belt Hold Line ซึ่งถ้าเกิดขึ้นในช่วงที่ราคาตกลงไปต่ำมากๆแล้ว ถือว่าเป็นสัญญาณ Bullish ส่วนกรณีตรงกันข้ามก็คือ ราคาปิดที่ต่ำกว่าราคาเปิด ซึ่งเปิดที่สูงสุด อันนี้เรียกว่า Bearish Belt Hold line ซึ่งถ้าเกิดตอนที่ราคาขึ้นไปสูงลิ่ว จะเป็นสัญญาณ Bearish ครับ

.Doji ชื่อจุ๋มจิ๋ม แต่ความสำคัญมหาศาล.

ในกรณีที่ราคาเปิดและราคาปิดเท่ากัน (หรือใกล้กันมากจริงๆ) แท่งเทียนจะบีบเหลือเป็นเส้นๆ เดียว (ดูรูป 14.2 ประกอบนะครับ) กรณีนี้เราเรียกว่า Doji ซึ่งDoji นี่นะครับ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดทีเดียว เพราะว่าการเกิด Doji นั้น ท่านว่าไว้ว่า มันมักจะเกิดขึ้นตอนที่ตลาดหาทิศทางของตัวเองไม่ได้ เช่นตลาดเปิดที่ระดับราคาหนึ่ง แล้วก็พุ่งปรู๊ด ขึ้นไปสูงสุด แล้วก็ตกป๊าดลงมาต่ำสุด และก็ดีตัวกลับมาปิดที่เดิม อย่างนี้เป็นต้น

ลักษณะอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้คนที่เล่นกันอยู่ในตลาด ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าราคาน่าจะวิ่งไปทางไหน ลองวิ่งสุ่มสี่สุ่มห้ากันไปผลสุดท้ายแล้ว ราคาก็ไม่ได้ไปไหนไกลหรอกครับ ลักษณะแบบนี้ เมื่อใช้ประกอบกับรูปแบบต่าง ๆ (ที่จะกล่าวถึงต่อไป) จะเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มของตลาด อาจจะเปลี่ยนทิศทางได้ในอนาคตอันใกล้นี้

Doji มีอยู่หลายรูปแบบ และเรียกชื่อต่างๆกัน ดังแสดงในรูป 14.2 ซึ่งรูปแบบต่างๆ ของDoji นี้เกิดจากการผสมรูปแบบของ Doji เข้ากับ Bozu ก่อให้เกิด Doji ที่ตัดหัวเป็นรูปตัว T (ซึ่งหมายความว่าเปิดแล้วราคาร่วงและก็มีแรงลากกลับไปปิดที่ราคาเปิด มีชื่อเฉพาะว่า Dragonfly Doji) หรือตัดหางกลายเป็นรูปตัวT กลับหัว (ที่มีเฉพาะว่า Gravestone Doji) หรือ อาจจะตัดทั้งหัวตัดทั้งหางกลายเป็นเส้นตรงเส้นเดียว (ซึ่งหมายถึงตลาดวันนั้นแคบมาก ซื้อขายกันอยู่ราคาเดียว เรียกว่า Four Price Doji)

เอาล่ะครับ ถึงตอนนี้ผู้อ่านคงจะพอเข้าใจวิธีการเขียนแผนภูมิแบบแท่งเทียนบ้างแล้ว ในบทต่อๆไป เราจะพูดถึงรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มกันของแท่งเทียน 2-3 วัน ซึ่งจะให้สัญญาณการบอกทิศทางของตลาดได้ โดยเราจะแบ่งเป็นบทที่เกี่ยวกับรูปแบบเปลี่ยนทิศทาง หรือ Reversal Patterns (บทที่ 15 ) และบทที่เกี่ยวกับรูปแบบต่อเนื่อง หรือ Continuous Patterns (บทที่ 16)

เนื้อหาต่อไป : บทที่ 15 รูปแบบการเปลี่ยนทิศทางของการวิเคราะห์แบบแท่งเทียน

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : การเขียนกราฟแบบแท่งเทียน