บทที่ 13

วัฏจักรกับ Stochastic

คล้ายกันกับในกรณีของ RSI มากครับ สูตรที่เหมาะสมก็ยังคงเป็น ครึ่งรอบวัฏจักรเหมือนเดิม แต่คราวนี้ เนื่องจาก Stochastic เป็นเครื่องมือสำหรับการซื้อขายในระยะเวลาค่อนข้างสั้น และเหมาะสำหรับตลาดที่ค่อนข้างเคลื่อนตัวแบบ sideway ดังนั้น วัฏจักรที่จะนำมาใช้ควรจะเป็นวัฏจักรขนาดสั้น หรืออาจจะเป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว แต่ว่าสามารถสะท้อนการเคลื่อนไหวของราคาได้ ซึ่งในกรณีนี้เครื่องมือการวัดวัฏจักรที่เหมาะสมควรจะเป็นประเภท Maximum Entropy Spectral Analysis ซึ่งการคำนวณจะยุ่งยากหน่อย แต่ก็มีโปรแกรมสำเร็จรูปขายอยู่เหมือนกัน ก็พอจะหามาใช้ได้ถ้ามีกะตังค์

ทบทวนสูตร Stochastic ซะหน่อยว่ามันคำนวณมาจาก (C - Li) / (Hi - Li) พูดง่ายๆก็คือ ราคาปิดในวันนี้ อยู่ในช่วงไหน (C - Li) เมื่อเทียบกับช่วงราคาที่ผ่านมาในรอบ i วัน (Hi - Li) ค่าของ Stochastic จะอยู่ในช่วง 0 (เมื่อเวลาปิด ณ ระดับต่ำสุดในรอบ i วันที่ผ่านมา) ถึง 100 (เมื่อราคาปิด ณ ระดับสูงสุดในรอบ i วันที่ผ่านมา George Lane เสนอจำนวนวันที่เหมาะสมในการคำนวณ Stochastic ที่ 5 วัน

สมมติก่อนนะครับ ว่า Hi กับ Li วัดจากราคาปิดสูงสุดและต่ำสุดในรอบ i วัน เราจะพบว่า อันที่จริงแล้ว ถ้าหากเราใช้จำนวนวันในการคำนวณ Stochastic เท่ากับ ครึ่งรอบวัฏจักร ตัว Stochastic เองจะมีความเร็วเท่ากับราคาพอดี ทำไมเหรอครับ สมมติว่าวัฎจักรมีขนาด 20 วัน (ลง 10 และขึ้นอีก 10 วัน) เราจะพบว่า Stochastic 10 วัน (ครึ่งรอบวัฎจักร) มีค่าเท่ากับ 0 ที่ระดับราคาต่ำสุดพอดี เพราะว่าโอกาสที่ราคาจะต่ำลงเรื่อยๆ (make a lower low) ติดต่อกันมีแค่ 10 วันใน 1 รอบวัฏจักร และเราวัด Stochastic โดยใช้ระยะเวลา 10 วันพอดี หลังจากนั้น Stochastic จะเริ่มผงกหัวขึ้นตามราคา จนถึงจุดที่ราคาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ 10 วันติดกัน Stochastic จะเท่ากับ 100 พอดี

แต่ในความเป็นจริง เราไม่ได้วัด Hi กับ Li จากราคาปิดสูงสุดต่ำสุดในรอบ i วัน แต่เราวัดจากราคาที่สูงที่สุดของราคาสูงสุดในแต่ละวัน กับราคาที่ต่ำที่สุดของราคาต่ำสุดในแต่ละวัน ดังนั้น Stochastic จริงๆ อาจจะเคลื่อนไหวเร็วกว่าหรือช้ากว่าราคาก็ได้ ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของราคาในแต่ละวัน แต่ถ้าเราสมมติว่าราคามีการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องตามวัฏจักรจริงๆ ก็พอกล้อมแกล้มได้ว่า Stochastic ที่ใช้จำนวนวันเท่ากับ ครึ่งรอบวัฎจักร จะเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของราคา

ด้วยสาเหตุนี้ ประกอบกับการพยายามอิงหลักการของ Overbought/Oversold ทำให้นักวิเคราะห์ทางวัฏจักรบางท่านอย่าง John Ehlers แนะนำให้ใช้ระยะเวลาในการคำนวณ Stochastic เท่ากับครึ่งรอบวัฏจักร เพราะราคาจะไม่กระจุกตัวมากเกินไปและไม่ห่างจาก Overbought/Oversold zones เกินไป (คล้ายๆกับกรณีของ RSI) อย่างไรก็ดี แนวความคิดแบบนี้ ลืมพิจารณาหลักสำคัญอันหนึ่งของ Stochastic กล่าวคือ เครื่องมือนี้ ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับตลาด sideway ที่เราจะต้องเข้าเร็วออกเร็ว ดังนั้นแนวความคิดของ Ehlers จะเหมาะสำหรับวัฏจักรที่มีระยะเวลายาวพอสมควร และการเคลื่อนไหวของราคาในแต่ละวันไม่ค่อยรุนแรงนัก

แต่ในตลาดที่เคลื่อนไหวรวดเร็วและรุนแรง และรอบวัฏจักรค่อนข้างสั้น การใช้ระยะเวลาเท่ากับครึ่งรอบวัฏจักร จำทำให้เราเคลื่อนไหวช้าเกินไป เนื่องจากตัว Stochastic จะเคลื่อนไหวเร็วเท่ากับราคา แต่สัญญาณของ Stochastic จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการตัดเส้นเฉลี่ยของมัน ซึ่งมักนะเกิดขึ้นหลังจากที่ Stochastic วกตัวกลับแล้ว ดังนั้น เราจะเข้าช้ากว่าเดิม และออกช้ากว่าเดิม ถ้าการเคลื่อนไหวของราคารวดเร็ว เราอาจจะเข้าหรือออกไม่ทันตามสัญญาณได้ ในกรณีนี้ เราควรจะยอมให้ราคากระจุกตัวได้บ้าง เพื่อให้สัญญาณเร็วขึ้น โดยการใช้ระยะเวลาที่อาจจะต่ำกว่าครึ่งรอบวัฏจักรเล็กน้อย แต่ทั้งนี้ต้องคอยดูด้วยว่า การกระจุกตัวจะต้องไม่มีมากเกินไป

เนื้อหาต่อไป : บทที่14 การวิเคราะห์แผนภูมิแบบแท่งเทียนเบื้องต้น

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : วัฏจักรกับ Relative Strength Index (RSI)