บทที่ 13

วัฏจักรกับ Relative Strength Index (RSI)

ทบทวนความจำนะครับ ว่า RSI คำนวณมาจาก 100[U/(U+D)] โดยที่ U และ D คือค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของส่วนต่างของราคาปิดที่สูงกว่าวันก่อน และค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของส่วนต่างของราคาปิดที่ต่ำกว่าวันก่อน ตามลำดับ จำนวนวันที่ใช้ในการทำค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ ซึ่ง Wilder แนะนำไว้คือ 14 วัน แต่ถ้าเรารู้ว่าวัฏจักรมีความยาวกี่วัน เราสามารถนำมาปรับปรุงจำนวนวันให้เหมาะสมขึ้นได้

ถ้าเราพิจารณาให้ดีๆ จะพบว่า U กับ D นั้น ความจริงมันก็เป็น Momentum ประเภทหนึ่ง เพราะมันวัดจากส่วนต่างของราคาปิดวันนี้กับเมื่อวานนี้ ซึ่งก็คล้ายกับ 1-period momentum จะเป็น phase lead อยู่ 90 องศา แล้วเราก็พูดไปก่อนหน้านี้ในเรื่องเกี่ยวกับ moving average ด้วยว่า simple moving average ที่มีระยะเวลาเท่ากับครึ่งรอบวัฏจักร จะเป็น phase lag อยู่ 90 องศาเหมือนกัน ดังนั้น RSI ที่มีระยะเวลาเท่ากับครึ่งรอบวัฏจักร ก็น่าจะไม่ lead และไม่ lag เพราะทั้งสองส่วนมันจะเจ๊ากันพอดี ใช่ไหมครับ

เกือบใช่ครับ แต่ความจริงแล้ว วิธีการเฉลี่ยเคลื่อนที่ ซึ่ง Wilder แนะนำนั้น ไม่ใช่ simple moving average นะครับ สัจธรรมข้อนี้อาจจะเห็นไม่ชัดนัก แต่ถ้าเราพิจารณาให้ดีๆ จะพบว่าวิธีการเฉลี่ยเคลื่อนที่ของ Uและ D ใน RSI นั้น อันที่จริงมันเป็น exponential moving average แบบหนึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีความไวมากกว่า simple moving average (แม้ว่าในทางทฤษฎีแล้ว เวลาเราคำนวณ exponential moving average เราจะพยายามกำหนดว่า smoothing Constant จากจำนวนวัน โดยให้มีผลในการใกล้เคียงกับ moving average ก็ตาม) ดังนั้น ในโลกของความเป็นจริง exponential moving average เองเป็น phase lag ไม่ถึง 90 องศาหรอกครับ ผลสรุปก็คือ RSI จะมีความสามารถในการเป็น leading indicator อยู่บ้างพอสมควร ถ้าเราเลือกจำนวนวันที่ใช้ในการคำนวณ RSI เท่ากับครึ่งหนึ่งของรอบวัฏจักร และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่า ทำไมเราจึงมีโอกาสที่จะเห็น Divergence ระหว่าง RSI กับราคาได้

ทีนี้บางท่านอาจจะแย้งว่า ถ้าอย่างนั้น เราใช้ระยะเวลาน้อยกว่าครึ่งรอบวัฏจักรไม่ดีกว่าเหรอ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราใช้ระยะเวลาเท่ากับ ¼ รอบวัฏจักร moving average จะเป็น phase lag แค่ 45 องศาเท่านั้น เมื่อรวมกับ phase lead ขนาด 90 องศา ของ 1-period momentum แล้ว เราจะได้ RSI ที่เป็น leading indicator ที่เร็วขึ้นมาก เพราะจะเป็น phase lead ขนาด 45 องศาเมื่อเทียบกับราคา

ก็ถูกนะครับ ถ้าคุณทำแบบนั้น คุณได้ RSI ที่ให้สัญญาณ Divergence เร็วขึ้น แต่อย่าลืมนะครับว่า RSI ไม่ได้มีไว้ดู Divergence อย่างเดียว อันที่จริง หลักการสำคัญอันหนึ่งของ RSI คือเรื่องของการใช้ Overbought / Oversold ในการตัดสินใจซื้อขาย Divergence เป็นเพียงแค่สัญญาณเตือนให้ระวังตัว ซึ่งบางท่านอาจจะใช้เป็นสัญญาณให้ระบายของบางส่วนไปก่อนก็ได้ และถ้าคุณจะพิจารณาใช้หลักการเกี่ยวกับ Overbought / Oversold ในการตัดสินใจซื้อขาย Divergence เป็นเพียงแค่สัญญาณเตือนให้ระวังตัว ซึ่งบางท่านอาจจะใช้เป็นสัญญาณให้ระบายของบางส่วนไปก่อนก็ได้ และถ้าคุณจะพิจารณาใช้หลักการเกี่ยวกับ Overbought/Oversold แล้วละก้อ คุณจะพบว่า RSI ที่ใช้จำนวนวันน้อยกว่าครึ่งรอบวัฏจักร จะให้สัญญาณ Overbought/Oversold ที่ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก

ลองย้อนกลับไปดูสูตรการคำนวณ RSI นะครับ เรารู้ว่าค่า RSI อยู่ในช่วงระหว่าง 0 กับ 100 RSI จะเท่ากับ 0 ถ้า U=0 ซึ่งนั่นหมายความว่าตลอดระยะจำนวนวันที่ใช้คำนวณ RSI นั้น หุ้นไม่ได้ขึ้นเลย ตกตลอด และ RSI=100 ถ้า D=0 ซึ่งหมายถึงหุ้นขึ้นตลอด ไม่มีตกเลย ทีนี้สมมติว่าถ้าราคาเป็นคลื่นวัฎจักรขนาด 20 วัน เราจะพบว่ามีอยู่ 10 วันที่หุ้นขึ้นตลอด และอีก 10 วันที่หุ้นลงตลอด ถ้าเราใช้ระยะเวลาเท่ากับ 10 วันในการคำนวณ RSI เราจะพบว่า RSI จะอยู่ที่ 0 ในช่วงหุ้นลงตลอด และจากนั้นจะค่อยๆขยับตัวขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงช่วงที่หุ้นขึ้นตลอด 10 วัน จะได้ RSI เท่ากับ 100

แต่ถ้าเราใช้ระยะเวลาในการคำนวณ RSI น้อยกว่า 10 วัน สมมติว่า 5 วัน เราจะพบว่ามีช่วงที่ RSI=0 ติดต่อกันเยอะมาก เพราะ RSI จะเท่ากับ 0 เมื่อหุ้นตกติดต่อกัน 5 วัน แต่หุ้นตกติดต่อกันจริงๆ 10 วัน ดังนั้น RSI จะกระจุกตัวอยู่ที่ระดับ 0 นานถึง 5 วัน ในทางกลับกัน เราจะพบว่า RSI ก็จะกระจุกตัวอยู่ที่ 100 อยู่นานถึง 5 วันเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าเราใช้จำนวนวันในการคำนวณ RSI น้อยเกินไป แม้ว่ามันจะเร็วขึ้น แต่มันก็จะเร็วเกินไป เผลอเดี๋ยวเดียว Overbought แล้ว เผลออีกเดี๋ยวเดียว Oversold อีกแล้ว และในช่วงที่มันกระจุกตัวอยู่ที่ 100 หรือ 0 นั้น มันแทบจะให้สัญญาณ Divergence ไม่ได้เลย เนื่องจากความที่มันกระจุกตัวอยู่นั่นเอง

ในทางกลับกัน ถ้าเราใช้ระยะเวลาในการคำนวณ RSI ยาวเกินไป (เกินกว่าครึ่งรอบวัฏจักร) ผลที่ได้ก็คือ RSI จะเคลื่อนไหวช้ากว่าหรือใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของราคา ซึ่งคุณจะมีโอกาสเห็น Divergence ได้ยากมาก ในขณะเดียวกัน มันก็จะให้สัญญาณ Overbought/Oversold ช้าด้วย และถ้าคุณเลือกระยะเวลายาวเกินไปมากๆ คุณอาจจะเห็น RSI อยู่ในช่วง Overbought/Oversold แค่แป๊บเดียว ทำไมเหรอครับ ลองมาดูกัน

ตามตัวอย่างเมื่อตะกี้ สมมติว่าราคาเคลื่อนไหวเป็นวัฏจักรขนาด 20 วัน ถ้าคุณใช้ RSI ขนาด 15 วัน หมายความว่า ราคาต้องตกติดต่อกัน 15 วัน RSI ถึงจะมีค่าเป็น 0 แต่เหตุการณ์นี้ไม่เกิดขึ้น เพราะวัฏจักรจะวิ่งลงติดต่อกันแค่ 10 วัน และจากนั้นจะวิ่งขึ้น ดังนั้น RSI ของคุณจะไม่มีวันถึง 0 หรือ 100 ได้เลย นอกจากนั้น อย่าว่าแต่ถึง 0 หรือ 100 เลย ถ้าคุณเลือกระยะเวลานานเกินไปจริงๆ มันอาจจะไม่วิ่งไปถึง 70/30 zones เลยก็เป็นไปได้

เราอาจจะใช้แนวความคิดนี้ในการปรับค่า RSI ที่เหมาะสม แม้ว่าเราจะไม่รู้ระยะเวลาวัฏจักรเลยก็ได้ กล่าวคือ ถ้าระยะเวลาในการคำนวณ RSI ที่คุณใช้ มันทำให้ RSI วิ่งช้าเกินไป และไม่ค่อยจะไต่ไปแถว Overbought/Oversold zones เลยคุณก็พอจะรู้ได้ว่า คุณใช้จำนวนวันในการคำนวณ RSI มากเกินไป และควรจะลดจำนวนวันลง ในทางตรงกันข้าม ถ้า RSI ของคุณวิ่งเร็วจี๋ไปชน 100 หรือ 0 แล้วกระจุกตัวอยู่แถวๆนั้นนานเกินไป คุณก็ควรจะรู้สึกตัวว่าใช้จำนวนวันในการคำนวณ RSI น้อยเกินไป แล้วค่อยๆปรับ จนกระทั่ง RSI มีการกระจายตัวในช่วง 0 - 100 ที่เหมาะสม

เนื้อหาต่อไป : วัฏจักรกับ Stochastic

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : วัฏจักรกับ Momentum