บทที่ 13
วัฏจักรกับ Momentum
หลักการโดยทั่วไปของผู้เชี่ยวชาญทางด้านทฤษฎีวัฏจักร จะนิยมใช้ระยะเวลาในการคำนวณเครื่องชี้เท่ากับครึ่งรอบวัฏจักร แต่ก็มีข้อยกเว้นบ้างเหมือนกัน และ Momentum ก็เป็นข้อยกเว้นอันหนึ่ง
อย่างที่ได้อธิบายไว้ในบทก่อนๆแล้ว ว่า n-day Momentum วัดได้จากอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาวันนี้ กับราคาเมื่อ n วันที่ผ่านมา ถ้ามองแบบนี้แล้ว จะพบว่า อันที่จริงแล้ว Momentum ก็เป็นเหมือนกับการวัดแรงเร่งหรือแรงเฉื่อยของราคานั่นเอง ซึ่งข้อดีของมันก็คือมันจะเคลื่อนไหวรวดเร็วกว่าราคา และสามารถเตือนถึงการเปลี่ยนแนวโน้มได้ก่อนที่ราคาจะเปลี่ยนแนวโน้มจริงๆ
เราเริ่มจากตัวอย่างในการวัด Momentum ระยะเวลา 1 วัน ซึ่งมันก็เท่ากับอัตราการเปลี่ยนแปลงราคาวันนี้กับราคาเมื่อวานนี้นั่นเอง เราจะพบว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคานี้เป็น phase lead ราคาอยู่ 90 องศา ดังแสดงไว้ในรูปที่ 13.14 กล่าวคืออัตราการเปลี่ยนแปลง (ไม่นับเครื่องหมายนะครับ) จะน้อยที่สุด (เข้าใกล้ 0) ในตอนที่ราคาหักหัวเปลี่ยนทิศทาง ดังนั้น ถ้ายึดตามแนวความคิดนี้ เมื่อ 1-Day Momentum วิ่งจากบวกไปเป็น 0 เป็นเวลาที่ควรจะขาย เพราะอัตราการเพิ่มขึ้นใกล้จะติดลบแล้ว และถ้า 1-Day Momentum วิ่งจากลบไปเป็น 0 ก็เป็นเวลาที่ควรจะซื้อ แต่ในโลกของความเป็นจริงแล้ว มันไม่ง่ายอย่างนั้น หรอกครับ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังว่าทำไม
ทีนี้ ลองคิดกันเล่นๆต่อไป ถ้าหากเราใช้เวลาในการคำนวณ Momentum สูงขึ้น เราจะพบว่า phase lead ของ Momentum จะเริ่มลดลง จะกระทั่งถึงจุดที่จำนวนวันในการคำนวณ Momentum เท่ากับครึ่งรอบวัฏจักรแล้ว Momentum จะไม่เป็น phase lead อีกต่อไป กล่าวคือมันจะไม่วิ่งเร็วไปกว่าราคาแล้วแต่จะมีความเร็วเท่ากับราคาพอดี ซึ่งถังจุดนี้ Momentum ก็แทบจะไม่มีความหมายเหลืออยู่เลย เพราะมันคงไม่สามารถให้สัญญาณเตือนล่วงหน้าที่ดีได้แล้ว
ทำไม Momentum ทีมีระยะเวลาเท่ากับครึ่งรอบวัฏจักร ถึงวิ่งเร็วเท่ากับราคา บางท่านอาจจะยังสงสัย คำตอบก็คือ Momentum n วัน จะมีการเคลื่อนไหวเหมือนกับ N-day moving average ของ Momentum 1 วัน และก็เท่ากับ Momentum 1 วันของ N-day moving average ของราคา ฟังแล้วเป็นงง แต่จริงๆแล้วเป็นเรื่องของการคำนวณง่ายๆครับ
สมมติว่าราคาในรอบ 4 วันที่ผ่านมาเท่ากับ a, b, c และ d ตามลำดับ Momentum 3 วัน ณ วันที่ 4 ก็เท่ากับ
3-day Momentum = d - a
ทีนี้ถ้าเราคำนวณ 3-day moving average ของ Momentum 1 วันจะเท่ากับ
3-day MA of 1-day Momentum = [(b-a)+(c-b)+(d-c)]/3
= (d-a)/3
และ 1-day Momentum ของ 3-day Price MA
1-day Momentum of 3-day MA = [(b+c+d)/3 - (a+b+c)/3]
= (d-a)/3
จะเห็นได้ว่าทั้งสามตัวเกือบจะเหมือนกัน ต่างกันแค่เรื่องของ scaling คือ n-day Momentum จะมีค่าเป็น n เท่าของ n-day moving average of 1-day Momentum แต่ในเรื่องของการเคลื่อนไหวแล้ว จะเคลื่อนไหวเหมือนกัน
ทีนี้ เราได้พูดไปแล้วว่า 1-day Momentum จะมี phase lead กับราคาเท่ากับ 90 องศา (ยังจำได้รึเปล่า) คราวนี้ถ้าเราเอา 1-day Momentum มาคำนวณ moving average ขนาดเท่ากับครึ่งรอบวัฏจักร ซึ่งเป็น phase lag ขนาด 90 องศาเหมือนกัน ผลก็คือ มันหักล้างกันหมดไป ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า n-day moving average of 1-day momentum นั้น มีการเคลื่อนไหวรวดเร็วเท่ากับราคา (ภาษาสถิติเรียกว่า in phase กับราคา)
แต่เนื่องจากเราเพิ่งพิสูจน์กันไปตะกี้นี้เอง ว่า n-day moving average ของ 1-day momentum มีการเคลื่อนไหวเหมือนกับ n-day momentum ดังนั้น เราจึงสรุปได้เหมือนกันอีกว่า momentum ที่มีระยะเวลาเท่ากับครึ่งรอบวัฏจักร จะไม่เป็น leading indicator อีกต่อไป และถ้าใช้จำนวนวันมากกว่าครึ่งรอบวัฏจักรแล้ว แทนที่จะได้ leading indicator กลับจะได้ lagging indicator ที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย
ดังนั้น จำนวนวันที่ใช้ในการคำนวณ Momentum ควรจะต้องน้อยกว่าครึ่งรอบวัฏจักร ยิ่งน้อยเท่าไหร่ ความเร็วของ Momentum ในการบอกสัญญาณก็มากขึ้นเท่านั้น แต่พอเราใช้จำนวนวันที่น้อยมากๆคือ 1 วัน มันก็จะมีข้อเสียตรงที่ว่า Momentum มันจะแกว่งมากเหลือเกิน จนเราแทบจะดูอะไรไม่ออก และสัญญาณก็ตะน่าเชื่อถือน้อยลง เนื่องจากการแกว่างที่รุนแรง
บางท่านอาจจะบอกว่า ถ้ามันแกว่งซิกแซกมากนัก ก็คำนวณค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของมันสิ มันจะได้แกว่งน้อยลงเพราะการเฉลี่ยเคลื่อนที่ช่วยกรองสัญญาณได้ไม่ใช่เหรอ ใช่ครับ แต่อย่าเพิ่งลืมสิครับว่า N-day moving average ของ 1-day Momentum จะมีการเคลื่อนไหวเหมือนกัน N-day Momentum ดังนั้น ถ้าคุณอยากให้มันแกว่งช้าลง แทนที่จะต้องมานั่งเฉลี่ยเคลื่อนที่ให้เมื่อยตุ้ม ใช้จำนวนวันในการคำนวณ Momentum ให้มันเยอะหน่อยก็สิ้นเรื่อง
ส่วนที่ว่าจะใช้จำนวนวันเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมนั้น พูดยากเหมือนกันครับ เรารู้แต่ขอบเขตว่า จำนวนวันควรจะต้องมากกว่า 1 พอสมควร เพื่อไม่ให้มันแกว่งจนดูไม่รู้เรื่อง และมันควรจะต้องน้อยกว่าครึ่งรอบวัฎจักรพอสมควร เพื่อให้มีผลในการเป็น leading indicator แต่ค่าที่เหมาะสมนั้น คงจะต้องใช้วิธีทดลองเอาครับ