บทที่ 12
เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทิศทาง
ประเด็นนี้ จะเป็นการหาเวลาที่ราคาจะเริ่มเปลี่ยนทิศทางในการเคลื่อนที่ โดยใช้วิธีการ square กันของราคาและเวลา ดังนั้น คงต้องลงไปว่ากันในรายละเอียดบางประการของ 2 ตัวแปรนี้ก่อน
.เวลา (Time).
สองตัวแปรที่มีความสำคัญในทฤษฎีนี้ คือ เวลา และ ราคา แต่ Gann เองเห็นว่า เวลา เป็นตัวแปรทีมีนัยสำคัญมากที่สุด เพราะจะเป็นตัวกำหนดช่วงระยะเวลา ที่จะให้ราคาเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดิมก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแนวโน้มเกิดขึ้น กล่าวคือ เมื่อใดก็ตามที่ตัวแปรทางด้านเวลา ได้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแนวโน้มแล้ว ราคามักจะมีการเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆและไม่นานนัก ราคาจะเกิดการปรับตัวไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามแนวโน้มเดิม ดังนั้น ตัวแปรทางด้านเวลานี้ จึงเป็นการตอบคำถามว่า เมื่อไรที่ราคาจะมีการเปลี่ยนแนวโน้ม
นอกจากนี้ Gann ยังพบอีกว่า การเกิดยอด (tops) หรือก้นบึ้ง (bottoms) ที่สำคัญๆมักจะเกิดขึ้นในช่วงทุกๆ 49 ถึง 52 วัน และการเปลี่ยนแนวโน้มในช่วง intermediate term มักจะปรากฏระหว่าง 42 ถึง 45 วัน (ใครอยากจะรู้ว่ามันจะใช้ได้กับบ้านเราหรือเปล่า? ก็ลองนั่งนับวันดูก็ได้ครับ) อ้อ..เกือบลืมบอกไปว่า ไม่ได้มีเฉพาะที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้นนะครับ แต่ยังมีช่วงเวลาอื่นๆอีกหลายตัวอย่าง (แต่จะไม่กล่าวในที่นี้) ที่ตัวของ Gann เองเห็นว่า เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มได้ครับ
.ราคา (Price).
สำหรับตัวแปรถัดมา ที่จะมาว่ากันต่อ ก็คือ ราคา (Price) ซึ่งมันมีความสำคัญ คือ เป็นการบอกว่า ระดับราคาตรงไหนที่จะเกิดการดีดหรือวกตัวลง ซึ่งในทฤษฎีของ Gann จะเกี่ยวพันกับเรื่องของ percentage retracements โดยที่ Gann ได้แบ่งช่วงราคา ซึ่งวัดจากฐานถึงยอดออกเป็น 8 ส่วน เริ่มตั้งแต่ระดับ 1/8, 2/8, ... ไปจนถึงระดับ 8/8 อีกทั้งยังได้นำ speed line ณ ระดับ 1/3 และ 2/3 เข้ามาเป็นตัวเสริมในการพิจารณาเพิ่มด้วย แน่นอน! ระดับต่างๆเหล่านี้ย่อมจะทำหน้าที่ในการเป็นแนวรับและแนวต้านไปโดยปริยาย
ตัวอย่างการแบ่ง percentage retracements ของ Gann มีดังนี้
1/8 = 12.5%
2/8 = 25.0%
1/3 = 33.0%
3/8 = 37.5%
4/8 = 50.0%
5/8 = 62.5%
2/3 = 67.0%
6/8 = 75.0%
7/8 = 87.5%
ท่านผู้อ่านคงจะคุ้นเคยกับตัวเลข 33%, 37.5%, 50%, 62.5% และ 67% กันเป็นอย่างดี อย่างเช่น ที่ระดับ 37.5% และ 62.5% ก็เป็น Fibonacci Retracement ขณะที่ระดับ 33% และ 67% เป็น Dow theory minimum และ maximum retracement benchmarks ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของ Gann มองว่า ปฏิกิริยา (reaction) ของราคา มักจะเกิดที่ระดับ 50% ซึ่งตัวเขาเรียกว่าเป็น จุดสมดุล (balancing point)
แต่ก่อนที่จะแสดงให้เห็นถึงนับสำคัญในการใช้ระดับ 50% retracement ของ Gann ขอย้อนกลับมาที่หัวข้อ เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทิศทางก่อน (เดี๋ยวจะลืม) ซึ่งภายใต้หลักการ square กันระหว่างราคาและเวลานั้น Gann จะมองหาจุดยอด (จุดต่ำสุดแล้วแต่กรณี) ที่มีนัยสำคัญ แล้วทำการแปลงราคาหุ้น ให้อยู่ในรูปของหน่วยเวลา (หรือพูดง่ายๆว่า แปลงจากหน่วยเงินตราให้เป็นหน่วยของเวลา โดยการ squaring ตัวอย่างเช่น 1 หน่วยราคา เท่ากับ 1 หน่วยเวลา) แล้วทำการคาดการณ์ไปในอนาคต ซึ่งเมื่อราคาหุ้นเคลื่อนตัวมาถึงเวลาที่คำนวณได้ ก็หมายถึง มีความเป็นไปได้ที่ราคาหุ้น จะเปลี่ยนแปลงทิศทางในการเคลื่อนไหว
ลองดูตัวอย่าง 12.2 กันซะหน่อยครับ รูปนี้เป็นการเคลื่อนไหวของ SET index ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยเคลื่อนตัวขึ้นจากจุด A ไปจนถึงจุด B ก่อนที่จะมีการปรับตัวลง โดยระยะทางในแนวดิ่งระหว่างจุด B กับ A จะเท่ากับ 173.43 จุด ซึ่งถ้าจะทำการ squaring จาก 1 หน่วยเงินตราไปยัง 1 หน่วยเวลา จะดูไม่ค่อยเหมาะเท่าไรในความเห็นของผู้เขียน เนื่องจาก SET index เคลื่อนตัวในระดับ 800 กว่าจุดขึ้นไป ถ้ามองเป็นหุ้น ก็เป็นหุ้นที่มีราคา 800 กว่าบาทขึ้นไป ดังนั้น ในความเห็นของผู้เขียนการ squaring จากหน่วยเงินตราไปยังหน่วยเวลา จึงนำ spread มาช่วยปรับให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งหมายถึง การทำ squaring ในที่นี้ จะแปลง 4 จุดของการเคลื่อนไหวไปเป็น 1 หน่วยเวลา ซึ่งผลที่ได้ก็คือ ส่วนต่าง 173.43 จุดจะเท่ากับ 44 วันโดยประมาณ
เมื่อเราทราบว่าการ squaring ใช้เวลา 44 วัน ดังนั้น เราจะใช้จุด B เป็นจุดเริ่มต้น โดยนับไป 44 วัน (ถึงจุด D) จะเห็นได้ว่าราคาหุ้นที่อ่อนตัวลงมาจากจุด C เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางการเคลื่อนไหว เมื่อ SET index เคลื่อนตัวมาถึงเวลาที่จุด D ซึ่งกรณีนี้เป็นการดีดตัวขึ้นสวนทางกับการปรับตัวลง และวิธีการดังกล่าวนี้ ได้ถูกนำมาใช้ทำ squaring กับที่จุด C โดยผลของการ squaring จะอยู่ ณ เวลาที่จุด E ซึ่งจากรูปจะเห็นได้ว่า หลังจากที่ราคาหุ้นได้ดีดตัวขึ้นจากจุด D จนมาถึง ณ เวลาที่สอดคล้องกับจุด E SET index เริ่มมีการเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ตอนนี้ SET index หัวปักลงครับ