บทที่ 12

Cardinal square

Cardinal square คืออะไร? รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร? ใช้ประโยชน์อะไรได้? หลายคำถามจริง เอาเป็นว่าลุยคำถามแรกก่อนแล้วกัน! Cardinal square คือ กระบวนการในการได้มาซึ่งแนวรับแนวต้านในอนาคต โดยอาศัยราคาต่ำสุดในอดีตเป็นศูนย์กลางในการนับ และใช้หลักการนับแบบทวนเข็มนาฬิกา พูดเฉยๆแค่นี้ ท่านผู้อ่านอาจจะยังนึกไม่ออกก็ได้ครับ ลองมาดูรูปร่างหน้าตาของมันซะหน่อย ว่าหล่อหรือสวยแค่ไหนดีกว่าครับ ซึ่งดูได้จากรูปที่ 12.1

จากรูป จุดศูนย์กลางของการกระจายตัวเลขจะอยู่ที่ 808 จุด (จุดนี้ได้มาจากจุดต่ำสุดของ SET index ในช่วงที่ทำการพิจารณา) การกระจายตัวของมันเกิดขึ้นได้ดังนี้ครับ คือจากจุด 808 จะเริ่มกระจายตัวออกไปทางขวามือก่อน ซึ่งในที่นี้สมมติให้มี spread ทีละ 1 จุด ดังนั้น ช่องทางขวามือของ 808 จุด ย่อมเท่ากับ 809 จุด

หลังจากที่เราได้ 809 แล้ว เราจะเริ่มทำการนับเพิ่มขึ้นในลักษณะของการทวนเข็มนาฬิกา ดังนั้น จะได้ 810, 811, 812, 813, … จนถึงจุดที่ 816 (ดูจากรูปประกอบ) ซึ่งหลังจาก 816 แล้ว เราก็ขยับช่องมาทางขวามืออีกหนึ่งช่องเพื่อใส่ค่า 817 และก็เริ่มนับเพิ่มในลักษณะของการทวนเข็มนาฬิกา และทำต่อเนื่องเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ขนาด (size) ของตารางจะขยายตัวเพิ่มขึ้น

มาถึงจุดนี้ เราจะใช้ประโยชน์อะไรได้จากตารางข้างต้น? คำตอบคือ ค่าที่ปรากฏในตารางบางตำแหน่ง จะทำหน้าที่เป็นแนวรับแนวต้านในอนาคต โดยตำแหน่งที่เห็นว่ามีนัยสำคัญมากหน่อย จะอยู่ในแนวตั้งและแนวนอน รวมถึงเส้นทแยงมุมที่ออกจากจุดศูนย์กลาง (จากรูปก็จะเป็นตำแหน่งต่างๆที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมนั่นเอง) ซึ่งถ้าลองมาเปรียบเทียบกับจุดปรับตัวและดีดตัวของ SET index ใน bar chart ตัวอย่างที่ 12.1 ข้างล่างนี้ จะเห็นได้ว่า ระดับที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางการเคลื่อนไหวของ SET index ทุกๆตัวอักษรจาก A ไปจนถึง N จะเป็นตัวเลขที่ปรากฏอยู่ (หรือใกล้เคียง) ในแนวตั้งและแนวนอน รวมถึงเส้นทแยงมุมที่ออกจากจุดศูนย์กลาง

แน่นอน! ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะบอกว่า แนวรับแนวต้านที่ได้มันอยู่ใกล้กันมาก ซึ่งมันก็ต้องถูกสักแนวน่ะ ในเรื่องนี้ท่านอาจจะใช้ spread ที่ต่างจากนี้ไปได้ ไม่เห็นมีใครว่า อย่างเช่น กรณีของราคาหุ้นที่อยู่ระหว่าง 200-600 บาท spread ที่ใช้ก็อาจจะเป็นทีละ 2 บาทก็ได้ แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือ ควรจะลองทดสอบดูว่า แนวรับแนวต้านที่ได้นั้น สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นตัวนั้นๆในช่วงที่ผ่านมาด้วยหรือไม่ เพราะถ้าสอดคล้องกันมาก ก็น่าจะมีนัยสำคัญมากกว่าตารางที่ไม่สอดคล้องกัน จริงไหมครับ

เนื้อหาต่อไป : เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทิศทาง

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : ทฤษฎีแกนน์ Gann's Theory