บทที่ 12

การสร้าง Retracement zone

จากนิยามข้างต้น เราจะมาลองเริ่มหา Retracement zone กัน โดยขั้นแรกเริ่มนั้นเราต้องหาจุด P1, P2 และ P3 ก่อน โดยอาศัยนิยามของจุดเหล่านี้ ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากตัวอย่างที่ 12.3 ในหน้าถัดไป

สำหรับขั้นต่อไป ก็จะเริ่มนำจุด P2 และ P3 มาใช้ โดยเป็นจุดเริ่มในการลากเส้น ทั้ง L1, L2 และ L3 แต่เส้นไหนจะคู่กับจุดไหน? ดูได้จากนิยามที่ได้ให้ไว้ ซึ่งการตัดกันของเส้น L1 กับ L3 (จุด A) จะเกิดเป็น Retracement zone high ซึ่งอยู่ที่ระดับ 8,200 จุด ขณะเดียวกัน การตัดกันของเส้น L2 กับ L3 (จุด B) ก็จะเป็น Retracement zone low ซึ่งอยู่ที่ระดับ 7,750 จุด

ที่จุด P3 นอกจากจะลากเส้น L3 แล้ว เรายังทำการลากเส้น S4 ซึ่งเป็น stop loss line ด้วย นอกจากนี้ ยังกำหนดให้จุด X เป็น Minor low ในการลากเส้น 45 องศา ซึ่งเป็น stop loss line (S5) อีกเส้น (แม้ว่าท่านผู้อ่านบางท่าน อาจจะเห็นว่ามีจุดอื่นที่อาจจะเป็นจุด Minor low ที่ดีกว่า แต่ในที่นี้ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการอธิบาย รวมถึงไม่ต้องการให้มีเส้น trend มากเกินไปในรูป จนเกิดความยุ่งเหยิง ในการดูหรือการอธิบาย จึงได้ทำการเลือกจุด x นี้ ให้เป็น Minor low

จากรูปจะเห็นได้ว่า FIN index นั้น ได้มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงต้นเดือนมิถุนายน ก่อนที่จะเริ่มมีการดีดตัวกลับ โดยมีแนวต้านในช่วง 7,7500 - 8,200 จุด จาก Retracement zone ภายใต้ Gann’s 50% Retracement Rule ที่กล่าวมาข้างต้น นัยสำคัญของ zone นี้ จุดแรกจะเห็นได้จาก การที่ FIN index เมื่อได้เคลื่อนตัวเข้ามาใน zone นี้ จนถึงบริเวณจุด C ก็ได้มีการปรับตัวลง ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับนิยามของแนวต้าน อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลงมานั้น ยังคงไม่หลุดออกมาจาก Retracement Rule สังเกตได้จากในรูป ที่มีการดีดตัวกลับขึ้นไปอีกครั้ง (หลังจากที่ FIN index อ่อนตัวลงมาทดสอบแนว RZL ที่ระดับ 7,750 จุด) และเคลื่อนตัวต่อเนื่องขึ้นไปจนถึงระดับ RZH ที่บริเวณจุด D ซึ่งโดยปกติแนวนี้จะเป็นจุดที่มีแรงขายออกมาเพราะเป็นแนวต้าน

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า FIN index ได้ทะลุแนวดังกล่าวขึ้นไป ดังนั้น ผู้ที่ขายหุ้นออกไปจะเริ่มรู้สึกว่าเป็นการเสียของหรือไม่น่าจะขายออกไปเลย แต่หากมานั่งพิจารณาดู จะพบว่า หากพิจารณาจากหลักการนี้อย่างเดียว โดยไม่ได้นำเครื่องชี้ใดๆมาประกอบ ผู้ที่ขายของออกไปนั้น คงไม่มีทางรู้ว่าที่จุด D ในขณะนั้น จริงๆแล้ว FIN index จะมีโอกาสที่จะทะลุออกไปหรือเปล่า คำถามที่ตามมาคือ เราจะรีบกลับเข้าไปซื้อของที่เราขายออกไปเลยหรือเปล่า? คำตอบคือ ผู้ที่ได้ขายของนั้นไป ควรที่จะมีตัวกรอง (filter) ซึ่งในที่นี้อย่างน้อยก็คือ เส้น S4 นั่นเอง ว่าจะควรหรือไม่ที่จะรีบกลับเข้าไปซื้อ และจากรูปจะเห็นได้ว่า ผู้ที่ขายของออกไปนั้น ไม่ต้องรีบเลย เพราะ FIN index ยังคงไม่สามารถทะลุเส้น S4 (stop loss line) แถมยังมีการอ่อนตัวลงกลับเข้ามาอยู่ใน Retracement zone ด้วยซ้ำไป ซึ่งเมื่อมาถึงตอนนี้ที่แนว 8,200 จุด ก็จะกลับมาเป็นแนวต้านอีกครั้ง ที่มีนัยสำคัญ หรือเหนียวพอที่ FIN index ไม่สามารถทะลุขึ้นไป (สังเกตได้จากบริเวณจุด F)

จริงๆแล้ว หากพิจารณาย้อนหลังกลับไป จะเห็นได้ว่า จุดที่เราทำการระบายหุ้นออกไปจะอยู่ที่ จุด C และ D ซึ่งถ้าเราได้ระบายหุ้นไปที่ระดับดังกล่าวจนหมด ดังนั้น เมื่อมาถึงตรงจุด G ซึ่งเป็น stop loss line อีกเส้น เราก็ไม่เหลือของที่ต้องขายอีก แต่ในแง่ของกลยุทธ์ (strategy) คงไม่จำเป็นที่ต้องระบายหุ้นตรงจุด C หรือ D จนหมด ซึ่งหนึ่งในหลายๆวิธีการ อาจจะได้แก่ ทยอยทำกำไรไปทีละส่วน สมมติว่าที่จุด C ขายออกไป 50% ของพอร์ท โดยไม่ได้ลงมาเก็บของกลับที่แนว RZL ดังนั้นเมื่อ FIN index เคลื่อนตัวมาที่ระดับ 8,200 จุด (จุด D) เราระบายของออกไปอีก 20% เพราะอาจจะไม่แน่ใจว่า FIN index จะอ่อนตัวลงหรือเปล่า แต่เพื่อต้องการลดความเสี่ยงลง จึงทำการระบายหุ้นออกไป

จากตัวอย่างข้างต้น จะยังคงเห็นได้ว่า FIN index ยังมีการเคลื่อนตัวต่อขึ้นไปอีก ซึ่งถ้าทะลุเส้น S4 ขึ้นไป คงต้องมีการเข้ามาเก็บของกลับกันบ้าง แต่ FIN index ก็ไม่อาจทะลุ S4 ขึ้นไป แถมยังมีการอ่อนตัวลงมาอีก ซึ่งผู้เล่นตอนนี้ยังคงมีหุ้นอยู่ในมืออีก 30% ก็คาดว่า ถ้าเมื่อไร FIN index มีการดีดตัวขึ้น ก็จะทำการขายส่วนที่เหลือออกไป แต่จะเห็นได้ว่า การดีดตัวนั้นแทบจะไม่มี จนกระทั่ง FIN index กลับเข้ามาอยู่ที่ Retracement zone อีกครั้ง และพยายามที่จะทะลุ RZH ขึ้นมาตรงจุด F ผู้เล่นตอนนั้น กลัวว่าหากขายส่วนที่เหลือ 30% ออกไป หากมันวิ่งขึ้นไปต่อ ก็จะเกิดความเสียดายจึงยังไม่อยากขาย

ผลไม่เป็นอย่างที่ผู้เล่นคาดการณ์ FIN index ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องอีก จากจุด F มาถึงจุด H ซึ่งสำหรับผู้เล่นที่ใช้หลักของ stop loss line (S5) ก็คงได้มีโอกาสฉากตัวเองออกไปได้ทันที่จุด G โดยการขายส่วนที่เหลือ 30% นี้กลับที่จุด H อีกที โดยมีการระบายหุ้น 30% ที่ซื้อมาเพื่อทำกำไรระยะสั้น ออกไปอีกทีที่ระดับ 8,200 จุด (จุด I) ตอนนี้หุ้นหมดแล้ว จริงไหมครับ?

แต่ปรากฏว่า FIN index ขยับตัวขึ้นต่อโดยสามารถทะลุแนว stop loss line (S4) ขึ้นไป ดังนั้น จึงต้องทำการซื้อกลับที่จุด J อย่างไรก็ตาม การกลับเข้ามาซื้อที่จุด J จะเป็นสัดส่วนเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับการชั่งใจของผู้เล่นแต่ละบุคคลครับ

เนื้อหาต่อไป : การผสมผสาน percentage retracements กับ Geometric Angles line

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : Gann’s 50% Retracement Rule