บทที่ 12

การผสมผสาน percentage retracements กับ Geometric Angles line

จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งในส่วนของ percentage retracement กับ Geometric Angles line ท่านผู้อ่านคงอยากจะทราบว่า ในเมื่อเราทราบหลักการในแต่ละส่วนแล้ว มันจะสามารถนำมาใช้รวมกัน ได้หรือไม่? เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คำตอบคือ มันสามารถที่จะถูกนำมาใช้รวมกับได้ครับ Gann เน้นการใช้ Geometric Angles line ที่แปลงมาจาก Geometric Angles line ที่ลากจากจุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุดที่เด่นชัด (แล้วแต่กรณี) อยู่ 3 เส้น คือ เส้น 45 องศา (1 x 1) , เส้น 63.5 องศา (1 x 2) และเส้น 26.5 องศา (2 x 1) ควบคู่กับระดับ percentage retracement ฯ ระดับ 37.5%, 50% และ 62.5% ซึ่งเหตุที่ใช้ Geometric Angles line และ percentage retracement เหล่านี้ เนื่องมาจาก มันให้จุดศูนย์ถ่วง (center of gravity) ที่ดีกว่าแนวอื่น

Gann เห็นว่า การเกิดแนวรับแนวต้าน ที่มีนัยสำคัญ จะอยู่ที่ระดับ 50% retracement ผนวกกับเส้น 45 องศา ซึ่งจากรูป 12.2 ข้างล่างนี้ จะเห็นได้ว่า หลังจากที่ราคาหุ้น TC ได้มีการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากระดับราคาประมาณ 75 บาท ลงมาถึงที่ระดับ 30 บาท ก่อนที่จะมีการดีดตัวขึ้น ซึ่งตอนนี้ เราลองมาใช้หลักการของเส้น 45 องศาและ 50% retracement ดู ว่าจะประยุกต์ใช้กับกรณีนี้ได้หรือไม่? ผลที่ได้ก็คือ การผนวกกันระหว่างเส้น 45 องศา (1 x 1) กับ 50% retracement ซึ่งก่อให้เกิดจุดศูนย์ถ่วงนั้น กลายเป็นแนวต้านที่มีนัยสำคัญในกรณีนี้ จนส่งผลให้ราคาของ TC เมื่อมาถึงตรงจุด A แล้วมีการปรับตัวลง

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นเท่านั้น หุ้นบางตัวอาจจะไม่สนใจระดับดังกล่าวก็ได้ ดังนั้น วิธีการนี้ควรที่จะต้องพิจารณาควบคู่กับกระบวนยุทธ์อื่นๆด้วย

นอกจากนี้ Geometric Angles line ที่ผสมผสานกับ percentage retracement แล้ว ยังมีการสอดแทรกกระบวนยุทธ์เพิ่มเติมเข้าไปอีก โดยมองว่าที่จุดหรือระดับอันเกิดจากการตัดกันหรือเชื่อมกัน (conjunction) ของเส้นที่ลากลงมาจากจุดยอดตามมุมเรขาคณิต กับเส้นที่ลากขึ้นมาจากจุดต่ำตามมุมเรขาคณิต จะมีผลในการเป็นแนวรับแนวต้าน รวมถึงเวลาที่แนวโน้มจะมีการเปลี่ยนแปลง ยิ่งเมื่อเวลาที่เส้นเหล่านี้ตัดทำมุม 90 องศาซึ่งกันและกัน ยิ่งเพิ่มความมีนัยสำคัญมากขึ้น และจะยิ่งทวีความมีนัยสำคัญมากขึ้น ถ้าจุดตัดหรือระดับเหล่านี้ เกิดในบริเวณที่สอดคล้องกับระดับของ percentage retracement อย่างไรก็ตาม Gann ก็ยังมีลูกเล่นอีก กล่าวคือ นอกจากจะลากเส้นจากยอด หรือจุดต่ำสุดตามมุมเรขาคณิตแล้ว เขายังอาศัยจุดศูนย์ หรือจุดกำเนิด (original) ด้วยเช่นกัน เพราะเขาเชื่อว่าเส้นที่ลากจากจุดศูนย์หรือจุดกำเนิดนี้จะมีนัยสำคัญในอนาคต

ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้ เป็นเพียงหลักการเบื้องต้น และการประยุกต์ใช้บางประการของ Gann theory อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้อ่านควรที่จะนำหลักการในเรื่องอื่นๆทั้งที่ได้กล่าวมาแล้ว และที่กำลังจะกล่าวต่อไป เข้ามาช่วยเสริมในการคาดการณ์ด้วย เพื่อปิดจุดบอดหรือลดความเสี่ยงลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เนื้อหาต่อไป : บทที่ 13 ทฤษฎีคลื่นวัฏจักร Cycles Theory

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : การสร้าง Retracement zone