บทที่ 12
Gann’s 50% Retracement Rule
มาถึงตรงจุดนี้ ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านยังคงจำได้ถึงเรื่องที่ค้างไว้อยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งก็คือ 50% Retracement ซึ่งตอนนี้ก็ได้เวลาที่จะขยายความ รวมถึงหลักปฏิบัติในหลักการของ Gann’s 50% Retracement Rule
Gann เห็นว่าการดีดตัวหรือวกตัวของราคาเมื่อเทียบกับแนวโน้มการเคลื่อนไหวเดิม มักจะเกิดที่ระดับ 50% หรือ 4/8 แต่ถ้าหากว่าหลุดแนวดังกล่าวไปอีก แนวถัดไปที่ถูกคาดหมายว่าจะมีการดีดตัวหรือวกตัวจะเป็นที่ระดับ 62.5% หรือ 5/8 ที่เคยกล่าวไว้ใน percentage retracement ข้างต้นนั้นเอง
ในทางปฏิบัติของ Gann’s 50% Retracement Rule เราจะทำกันอย่างไร? ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ผู้อ่านคงต้องมาทำความเข้าใจคำนิยาม (definitions) ของตัวอักษรที่จำเป็นในการหาระดับ Retracement ดังกล่าวก่อน
.นิยาม.
L1 คือ เส้น 63 องศาที่ลากจากจุด P2
L2 คือ เส้น 45 องศาที่ลากจากจุด P2
L3 คือ เส้น 45 องศาที่ลากจากจุด P3
P1 คือ จุดสูงสุดที่มีนัยสำคัญ (หรือจุดต่ำสุดที่มีนัยสำคัญ) ซึ่งจะเป็นจุดพื้นฐานในการสร้าง 50% Retracement zone คำถามที่ตามาก็คือ เมื่อไรใช้จุดสูงสุดเป็นจุด P1? คำตอบก็คือ ใช้ในกรณีที่แนวโน้มเปลี่ยนจากขาขึ้น (bull หรือ uptrend) เป็นขาลง (bear หรือ downtrend) และหากสังเกตจะพบว่า จุดยอด P1 เมื่อเทียบกับยอดข้างเคียงของมัน จะเป็นจุดที่โดดเด่นที่สุด มาถึงตรงจุดนี้ ผู้อ่านย่อมจะทราบได้ทันทีว่า ในกรณีที่กลับกับข้างต้น ก็จะใช้จุดต่ำสุดเป็นจุด P1 นั่นเอง
P2 คือ จุดต่ำสุดที่มีนัยสำคัญ (หรือจุดสูงสุดที่มีนัยสำคัญ) หลังจากที่ราคาได้ผ่านจุด P1 มา แล้ว แต่จุด P2 นี้ จะเกิดขึ้นก่อนที่ราคาจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ Retracement zone
P3 คือ จุดที่เกิดจากการตัดกันระหว่างเส้นแนวนอนที่ลากมาจากจุด P1 กับเส้นแนวตั้งที่ลากมาจากจุด P2
RZH คือ ขอบจำกัดขั้นสูงของการแกว่งตัว (Retracement zone high) ซึ่งในกรณีแนวโน้มขาขึ้น จะเกิดขึ้นจากการตัดกันระหว่างเส้น L1 กับเส้น L3 แต่สำหรับแนวโน้มขาลงจะเกิดจากการตัดกันระหว่างเส้น L2 กับเส้น L3
RZL คือ ขอบจำกัดขั้นต่ำของการแกว่งตัว (Retracement zone low) ซึ่งในกรณีแนวโน้มขาขึ้น จะเกิดขึ้นจากการตัดกันระหว่างเส้น L2 กับเส้น L3 แต่สำหรับแนวโน้มขาลงจะเกิดจากการตัดกันระหว่างเส้น L1 กับเส้น L3
S4 คือ เส้นจำกัดความเสี่ยง (stop loss) ซึ่งถูกใช้เมื่อราคาออกจาก Retracement zone โดยปกตินิยมใช้เส้น 26 องศา ที่ลากมาจากจุด P3 แต่สำหรับกรณีที่การเคลื่อนไหวของราคาเป็นไปอย่างรวดเร็วหรือเกิด Gaps ขึ้น เส้น S4 นี้ สามารถที่จะใช้มุม 45 องศาแทน 26 องศาได้
S5 คือ เส้นจำกัดความเสี่ยง เมื่อราคาได้เข้ามาอยู่ใน Retracement zone แล้ว ซึ่งลากจากจุด Minor low (หรือจุด Minor high แล้วแต่กรณี) โดยมีมุมองศาต่างๆกัน เช่น 45, 63, 75 และ 82 องศา
Minor high คือ จุดยอดทีเกิดขึ้น ก่อนที่ราคาจะเข้าสู่ Retracement zone ซึ่งหากเทียบจุดนี้กับจุดยอดข้างเคียงในบริเวณนั้น จะเห็นได้ว่า ตัวของมันจะสูงเป็นลำดับที่ 2 หรือพูดง่ายๆว่า ยอดก่อนหน้ำมันสูงกว่ามัน ขณะที่ยอดที่เกิดขึ้นหลังตัวมันจะต่ำกว่ามัน และ Minor high นี้ ถูกใช้ในกรณีของตลาดขาลง (bear market)
Minor low คือ ก้นบึ้งที่เกิดขึ้น ก่อนที่ราคาจะเข้าสู่ Retracement zone ซึ่งหากเทียบจุดนี้กับก้นบึ้งข้างเคียงในบริเวณนั้น จะเห็นได้ว่า ตัวของมันจะอยู่ลึกเป็นลำดับที่ 2 หรือพูดง่ายๆว่า ก้นบึ้งก่อนหน้ามันจะอยู่ต่ำกว่ามัน ขณะที่ก้นบึ้งที่เกิดหลังมันจะตื้นกว่ามัน และ Minor low นี้ ถูกใช้ในกรณีตลาดขาขึ้น (bull market)