บทที่ 10

การปรับฐานและการต่อตัวกันก่อน Fibonacci Extension

ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำนิยามของคำว่า การปรับฐาน หรือ การดีดตัว (Retracement) และ การต่อตัว (Extension) กันก่อนดีกว่าครับ เพื่อให้เข้าใจตรงกัน จะได้ไม่สับสน ตามปกติเวลาตลอดหุ้นกำลังเป็นขาขึ้น การเคลื่อนไหวของราคาก็ไม่ได้ขึ้นอย่างเดียวตะพึดตะพือ แต่จะมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา อย่างที่ภาษานักเล่นหุ้นเราเรียกว่าปรับฐานนั่นแหละครับ ก่อนที่จะวิ่งขึ้นต่อไปอีก (ดังแสดงไว้ในภาพที่ 10.3) ส่วนในกรณีที่ตลาดเป็นขาลงก็เช่นเดียวกัน ก็มีการปรับฐาน โดยราคาจะดีดตัวขึ้นมา ก่อนที่จะอ่อนตัวลงไป

ในกรณีที่เป็นขาขึ้น การปรับฐานนี่ก็เป็นจุดหนึ่งสำหรับการเข้าไปรับซื้อ เพื่อหวังว่าราคามันจะดีดตัวขึ้นต่อไป และเมื่อราคาดีดตัวขึ้นต่อไปจริงๆตามคาดแล้ว เราก็ต้องตั้งเป้าไว้เหมือนกันว่าจะไปขายที่จุดไหน เป้าขายที่ตั้งไว้เราจะคำนวณจากการต่อตัว (Extension) ซึ่งหมายถึงการที่ราคาเคลื่อนไหวต่อไปตามทิศทางของแนวโน้มหลัก

ส่วนในกรณีขาลง จะกลับกัน กล่าวคือ การปรับฐานเป็นการดีดตัวขึ้นของราคาเป็นจุดที่จะตั้งขาย ในขณะที่การต่อตัวจะเป็นจุดที่เราคิดว่าราคาจะลงต่อไปอีกตามแนวโน้มเดิม และเป้าที่ตั้งไว้ ก็จะเป็นเป้าซื้อ

ทีนี้ ปัญหาที่ตามมาก็คือ เราควรจะตั้งเป้าอย่างไรว่า จุดปรับฐานจะอยู่ที่เท่าใด และจุดต่อตัวจะต่อไปได้ถึงแค่ไหน อันนี้ เราก็จะนำเอาสัดส่วนทองคำ ตลอดจนตัวเลขสัดส่วนต่างๆ ที่ได้จากตัวเลขของฟิโบนาชี่มาใช้ในการหาเป้าหมายของราคากันล่ะครับ การหาเป้าหมายของราคาในกรณีของการปรับฐาน เราเรียกว่า Fibonacci Retracement ซึ่งเป้าหมายของราคาในกรณีของการต่อตัว เราเรียกว่า Fibonacci Extension โดยแต่ละจุดของเป้าหมายราคาที่คำนวณจากการต่อตัวนี้ เราจะเรียกว่า ราคาเป้าหมาย (Objective Price) ครับ

.การคำนวณเป้าหมายการปรับฐาน.

(Fibonacci Retracement)

Fibonacci Retracement เป็นการวัดเป้าหมายว่า ราคาจะปรับฐานลงไปลึกเท่าใด (ในกรณีที่แนวโน้มหลักเป็นขาขึ้น) หรือจะดีดตัวขึ้นสูงเพียงใด (ในกรณีที่แนวโน้มหลักเป็นขาลง) รูปที่ 10.4 แสดงการคำนวณเป้าหมายของการปรับฐานราคา ทั้งในกรณีที่แนวโน้มเดิมเป็นขาลง (รูปที่ 10.4 A) และในกรณีที่แนวโน้มเดิมเป็นขาขึ้น (รูปที่ 10.4 B)

ในกรณีที่แนวโน้มหลักเป็นขาลง การปรับฐานก็คือการดีดตัวสูงขึ้นของราคา ซึ่งเป้าหมายว่าจะดีดตัวสูงขึ้นได้มากน้อยเพียงใดนั้น วัดจากจุดยอดเดิมเมื่อครั้งที่มีการดีดตัวคราวที่แล้ว (ซึ่งก็คือจุด A ในรูปที่ 10.4 A นั่นแหละครับ) ไปยังจุดต่ำสุดก่อนที่ราคาจะดีดตัวขึ้น (จุด B ในรูป 10.4A) ตามหลักการแล้ว เชื่อว่าราคาจะดีดตัวสูงขึ้นได้ 2 ระดับ ระดับแรกคือ 0.382 เท่าของระยะทางจากไป B ไป A และระดับที่สองเท่ากับ 0.618 เท่าของระยะทางจาก B ไป A ซึ่งเราเรียกระดับแรกว่า FibNode 1 และระดับที่สองว่า FibNode 2 ในกรณีที่แนวโน้มหลักเป็นขาลงนี้ FibNode จะทำหน้าที่เป็น Resistance หรือ เป้าหมายในการขายทิ้ง สำหรับการเก็งกำไรในระยะสั้น

ในกรณีที่แนวโน้มหลักเป็นขาขึ้น ก็คำนวณเหมือนๆกัน คือเราวัดจากจุดต่ำสุดเมื่อราคาปรับฐานคราวที่แล้ว (จุด A ในรูป 10.4 B) ไปยังจุดสูงสุดก่อนที่ราคาจะปรับฐานครั้งล่าสุด (จุด B ในรูป 10.4 B) เป้าหมายแรก หรือ FibNode 1 จะเท่ากับ 0.385 ของระยะทางจาก B ไปยัง A และเป้าหมายที่สอง หรือ FibNode 2 จะเท่ากับ 0.618 เท่าของราคาจาก B ไปยัง A ในกรณีที่แนวโน้มหลักเป็นขาขึ้นเช่นนี้ FibNode จะทำหน้าที่เป็น Support ซึ่งเป็นเหมือนกับแนวรับ สำหรับซื้อของไว้เก็งกำไรระยะสั้นๆ

ลองมาดูตัวอย่างการคำนวณ FibNode 1 และ 2 กันดีกว่านะครับ จะได้เข้าใจดียิ่งขึ้น ตัวอย่างของเราแสดงอยู่ในรูปที่ 10.5 ครับ ในรูปที่ 10.5 สมมติไว้ว่าเป็นกรณีที่แนวโน้มหลักเป็นขาลง และตอนนี้ราคากำลังดีดตัวขึ้นเพื่อปรับฐาน ก่อนที่จะลงต่อไป ราคาได้ดีดตัวสูงขึ้นถึง 60 บาทในการปรับฐานคราวก่อน ก่อนที่จะตกลงมาตามแนวโน้มหลักเหลือ 30 บาท แล้วกำลังดีดตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีนี้ ราคาระหว่าง B ไปยัง A ก็เท่ากับ 60 - 30 = 30 บาท ดังนั้น เป้าหมายแรกของการดีดตัว ก็คาดว่าจะดีดตัวขึ้น 30 x 0.382 = 11.46 บาทสูงขึ้นกว่าจุด B ดังนั้น เป้าหมายแรก หรือ FibNode 1 ก็เท่ากับ 30 + 11.46 = 41.46 บาท

สำหรับเป้าหมายที่สอง หรือ FibNode 2 นั้น ก็คำนวณแบบเดียวกัน เพียงแต่ใช้ Golden Ratio คือ 0.618 แทน เราจะได้ FibNode 2 เท่ากับ 30 x 0.618 + 30 = 48.54 บาทครับ

ที่นี้ ท่านผู้อ่านคงจะสงสัยว่า ในเมื่อเป้าหมายของการปรับฐานหรือการดีดตัว (Retracement) นี้มันมี 2 อัน คือ FibNode 1 และ FibNode 2 แล้วเราจะเชื่ออันไหนดีล่ะ ก็นับว่าเป็นคำถามที่ดีทีเดียว คำตอบก็คือ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ครับ เช่น การดีดตัวหรือการปรับฐานนี้ มีปริมาณการซื้อขายหนาแน่นเพียงใด ถ้ามีปริมาณการซื้อขายที่หนาแน่นรองรับอยู่ด้วย FibNode 1 ก็อาจจะรับไม่อยู่ มีโอกาสที่จะวิ่งไปถึง FibNode 2 ได้มากพอควร หรือ เราอาจจะพิจารณาควบคู่ไปกับแนวรับแนวต้านอื่นๆ จากวิธีการวิเคราะห์ทางเทคนิคแบบต่างๆ ถ้าหาก FibNode ไหนที่มีแนวรับแนวต้านจากเครื่องมือทางเทคนิคอื่นๆเสริมด้วย FibNode นั้นก็จะมีนัยสำคัญมากขึ้น

อีกกรณีหนึ่งก็คือถ้า FibNode นั้น ได้รับแรงสนับสนุนจาก FibNode อื่น เมื่อวัดจากยอดต่างๆของการปรับฐานในอดีต ก็จะทำให้ FibNode นั้น น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ฟังแล้วอาจจะงงนะครับ ลองดูตัวอย่างในรูปที่ 10.6 ดีกว่าครับ จะเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น เราจะเห็นว่าเป้าหมายที่ระดับ K1 และ K2 มีนัยสำคัญมากกว่าเป้าหมายที่ระดับอื่นๆ เพราะทั้ง K1 และ K2 ต่างก็เป็นระดับที่มีแรงเสริมจาก Fibonacci Retracement Ratio มากกว่า 1 ครั้ง ตัวอย่างเช่น ที่ K1 นั้น Fibonacci Retracement Ratio อยู่ 2 อัน คือ 0.618 ของช่วง EF และ 0.382 ของช่วง CF

ในกรณีของ K2 ก็เป็นจุดที่มีนัยสำคัญมาก อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดที่มีนัยสำคัญมากที่สุดในรูปนี้เลยก็ได้ เพราะเป็นจุดที่ได้รับแรงหนุนจากจุดตำสุด (trough) เดิม คือ จุด E นอกจากนั้น ยังมี Retracement Ratio อีก 2 ระดับ คือ 0.618 ของระยะ CF และ 0.382 ของระยะ AF

เนื้อหาต่อไป : การวัดเป้าหมายการต่อตัว (Fibonacci Extension)

prevcontentnext

เนื้อหาก่อนหน้า : สัดส่วนทองคำกับสถาปัตยกรรมและธรรมชาติ (Golden Ratio)